Human Universals
ความเป็นสากลของมนุษย์ (Human Universals) หมายถึง ลักษณะที่มนุษย์มีร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ใด ซึ่งโดนัลด์ บราวน์ (1991) นักมานุษยวิทยาอเมริกันได้แยกประเด็นความเป็นสากลของมนุษย์เป็น 67 ประเด็น ประเด็นที่สำคัญได้แก่ การรู้จักทำอาหาร สร้างที่อยู่อาศัย สร้างชุมชน สร้างระบบการปกครอง การสื่อสารด้วยภาษา ระบบเครือญาติ คติความเชื่อ การสร้างกฎระเบียบทางสังคม การสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ และการแสดงออกทางศิลปะและดนตรี เป็นต้น
ความเป็นสากลของมนุษย์คือความสามารถที่มนุษย์รู้ว่าตนเองต่างจากสัตว์อย่างไร และเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจที่จะศึกษา ถ้ามนุษย์ไม่มีความเป็นสากล นักมานุษยวิทยาก็ไม่อาจสื่อสารหรือเข้าใจคนอื่นที่ถูกศึกษาได้ การศึกษาความเป็นสากลต้องทำความเข้าใจว่ามีกฎเกณฑ์อะไรที่ใช้จัดประเภทความเป็นสากลบ้าง ความเป็นสากลนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร และด้วยวิธีการอย่างไร ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเดินสองขาเหมือนกันหมด มีผิวหนังหุ้มร่างกาย มีระบบย่อยอาหาร และมีการขับถ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาใช้ศึกษาเกี่ยวกับสรีระของมนุษย์ ความเป็นสากลนี้ นักมานุษยวิทยาอาจแบ่งประเภทออกเป็นสากลทางด้านวัฒนธรรม ภาษา สังคม พฤติกรรม หรือจิตวิทยา
เมื่อนักมานุษยวิทยาคิดถึงความเป็นสากล พวกเขาก็จะคิดถึงความหมายที่ลงตัวที่สุด ซึ่งจะถูกนิยามจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาในปัจจุบัน แต่การนิยามความเป็นสากลนั้นมีทั้งเรื่องทฤษฎีและการปฏิบัติ ซึ่งความหมายของสากลอาจมีได้ทั้ง “เกือบ” เป็นสากล หรือ เป็นสากลอย่างไม่มีข้อสงสัย ตัวอย่างเช่น สุนัขที่มนุษย์นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านเป็นสิ่งที่มนุษย์เพิ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก่อนหน้านั้น มนุษย์ไม่รู้ว่าสุนัขได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงได้อย่างไรและแพร่หลายเป็นที่รู้จักจนเป็นสิ่งสากลได้อย่างไร
ถ้าความเป็นสากลมีเงื่อนไขที่สถิติและปริมาณ ดังนั้นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ก็ต้องเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ต่างกัน ความเป็นสากลจึงมีเงื่อนไขบางอย่าง ตัวอย่างเช่น คำที่ใช้เรียกสีจะมีคำที่เรียกต่างกัน ในแต่ละวัฒนธรรมจึงมีคำเรียกสีไม่เหมือนกันแต่ทุกวัฒนธรรมก็มีคำเรียกสี ความเป็นสากลนี้จึงมีทั้งรายละเอียดและจุดร่วม ความเป็นสากลอีกประเภทหนึ่ง คือการแบ่งแยกความแตกต่างโดยสร้างคำขึ้นมาอธิบาย เช่น ผู้ชายต่างจากผู้หญิง กระบวนการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมอาจทำให้เกิดความเป็นสากลได้เช่น การใช้ไฟในการปรุงอาหารของมนุษย์ นอกจากนั้นความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีสมองเหมือนกันทำให้สามารถทำสิ่งต่างๆเหมือนกัน การปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศคือสิ่งที่มนุษย์มีเหมือนกัน เพราะร่างกายมนุษย์มีโครงสร้างและส่วนประกอบเหมือนกัน ระบบความคิดของมนุษย์ที่แบ่งแยกคู่ตรงข้ามคือสิ่งที่มีเหมือนกัน ระบบความคิดนี้ทำให้เกิดสัญลักษณ์ มนุษย์ต้องมีพัฒนาการของการใช้ภาษาตั้งแต่วัยเด็ก และการเรียนรู้ภาษาก็ขึ้นอยู่กับเพศและวัยที่ต่างกัน
ถึงแม้ว่าหน้าที่ของนักมานุษยวิทยาจะอธิบายความเหมือนและต่างกันของมนุษย์ในที่ต่างๆของโลก ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบัน แต่นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ก็มักจะสนใจความต่างกันของมนุษย์มากกว่า อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาอาจคำนึงถึงความเป็นสากลของมนุษย์บ้างแต่อาจจะไม่พูดตรงๆ ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาของนักมานุษยวิทยาจะสนใจความเป็นสากลของมนุษย์ในรายละเอียดที่ต่างกัน ความเป็นสากลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับมีวิชามานุษยวิทยา ตัวอย่างเช่น เอ็ดเวิร์ด บี ไทเลอร์(1870) เชื่อว่ามนุษย์มีท่าทางและกิริยาเหมือนกันคือความเป็นสากลของมนุษย์ แนวคิดนี้นำไปสู่การพัฒนาวิชามานุษยวิทยาซึ่งศึกษาความแตกต่างของมนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์ โบแอสคือผู้ที่พัฒนามานุษยวิทยาวัฒนธรรมในอเมริกา เขียนหนังสือเรื่อง The Mind of Primitive Man(1911) อธิบายว่ามนุษย์มีความเหมือนกันโดยจิตสำนึกไม่ว่าจะมีสีผิวหรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต่อต้านทฤษฎีเชื้อชาตินิยม
ความสนใจของนักมานุษยวิทยาในระยะแรกๆต่อเรื่องความเป็นสากล อาจดูได้จากบทความเรื่อง The Universals Pattern ในหนังสือเรื่อง Man and Culture (1923) ของคล้าก วิสเลอร์ เขากล่าวว่าความเป็ฯสากลของมนุษย์ประกอบด้วย การพูดเป็นภาษา การทำงานศิลปะ ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ การประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ และอื่นๆอีกหลายประการ วีสเลอร์เชื่อว่าความเป็นสากลมีอยู่ในสายเลือดของมนุษย์เป็นคำอธิบายแบบจารีตนิยม นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในอเมริกาจะสนใจความหมายของวัฒนธรรมโดยศึกษาในรายละเอียดส่วนย่อย มีการโต้เถียงระหว่างแนวคิดเรื่องธรรมชาติกับการเลี้ยงดู ว่าปัจจัยอะไรที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ แต่นักมานุษยวิทยาเชื่อในปัจจัยของการเลี้ยงดู และเคลือบแคลงสงสัยกับแนวคิดที่เชื่อว่าธรรมชาติมีผลต่อมนุษย์ ซึ่งอธิบายด้วยทฤษฎีของดาร์วิน และทฤษฎีเผ่าพันธุ์
ในช่วงทศวรรษที่ 1930 แนวคิดวัฒนธรรมในทางมานุษยวิทยามีความเข้มข้นมากในอเมริกา แนวคิดวัฒนธรรมคือพื้นฐานที่ก่อให้เกิดทฤษฎีสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม หรือ relativism และ particularism แนวคิดนี้ปฏิเสธทฤษฎีวิวัฒนาการ และแยกความแตกต่างระหว่างธรรมชาติกับการเลี้ยงดู สัญชาติญาณกับการเรียนรู้ และวัฒนธรรมกับชีววิทยาออกจากกันอย่างชัดเจน แนวคิดสัมพัทธ์นิยมวัฒนธรรมเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกภาวะธรรมชาติ เป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์จะรู้จักคิดเป็นได้ก็ต่อเมื่อมีวัฒนธรรม
แนวคิดนี้ยังมีอิทธิพลในการศึกษาทางสังคมศาสตร์อื่นๆในอเมริกา โดยเชื่อว่าความจริงทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาในทางวัฒนธรรมด้วย ในทางจิตวิทยานำแนวคิดนี้ไปอธิบายว่าจิตใจของมนุษย์ต้องได้รับการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมจึงจะคิดได้ แต่แนวคิดนี้ไม่สนับสนุนความเป็นสากล เพราะมีความเชื่อว่าวัฒนธรรมในแต่ละแห่งเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขที่ต่างกัน
การศึกษาทางภาษาศาสตร์ ให้ความสำคัญกับความเป็นสากลมาก ในบทความวิจารณ์หนังสือของชอมสกี้(1959) อธิบายว่ากระบวนการเรียนรู้ทางภาษานั้นซับซ้อน มนุษย์ทุกคนต่างมีความสามารถทางภาษามาตั้งแต่เกิดและเป็นสากล แนวคิดของชอมสกี้นำไปสู่การศึกษาโครงสร้างทางภาษา ที่เรียกว่าโครงสร้างภายใน หรือ deep structure เช่นการศึกษาทักษะทางภาษาของเด็กซึ่งพัฒนาในช่วงอายุน้อยๆ แนวคิดของชอมสกี้ล้มล้างความเชื่อที่ว่าจิตใจของมนุษย์ว่างเปล่า
ในปี ค.ศ.1966 โจเซฟ เอช กรีนเบิร์ก เขียนหนังสือเรื่อง Language Universals ซึ่งเป็นการต่อยอดและสนับสนุนแนวคิดความเป็นสากลให้กว้างออกไป กรีนเบิร์กให้ความสำคัญกับเรื่องไวยกรณ์ และการออกเสียง เช่น คำว่าผู้ชายหมายถึงมนุษย์เพศชาย ผู้ชายอาจเป็นความหมายตายตัว แต่คำว่ามนุษย์ หรือคน มีความหมายไม่ตายตัวเพราะอาจเป็นได้ทั้งเพศชายและหญิง ทฤษฎีของกรีนเบิร์กเชื่อว่าภาษามีทั้งความหมายตายตัวและความหมายทั่วไป แต่นักมานุษยวิทยายังสงสัยกับทฤษฎีนี้ แต่ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ที่มีผลต่อนักมานุษยวิทยาเป็นเรื่องการวิเคราะห์องค์ประกอบทางภาษา นักมานุษยวิทยาที่นำแนวคิดนี้มาใช้คือมอริซ บล็อก(1977) เขาเชื่อว่ามนุษย์มีการกระทำที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดความเป็นสากล เช่น การสร้างความรู้ และโครงสร้างสังคม
การศึกษาระบบการทำงานของสมองของมนุษย์ทำให้เข้าใจว่ามนุษย์รู้จักคิด นักมานุษยวิทยาชื่อไลโอเนล ไทเกอร์ และ โรบิน ฟ็อกซ์ พยายามศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นสากล กับชีววิทยาของมนุษย์ ในช่วงศตวรรษที่ 1920 มีการถกเถียงว่าการห้ามมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัวและเครือญาติคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ และเป็นการรู้จักสร้างวัฒนธรรม การศึกษาของเอ็ดเวิร์ด เวสเตอร์มาร์ค(1922) พบว่าถึงแม้คนที่มิใช่สายเลือดเดียวกันแต่ถูกเลี้ยงดูในครอบครัวเดียวกัน ก็อาจหลีกเลี่ยงที่จะแต่งงานด้วยกัน แต่ในบางวัฒนธรรม เช่นสังคมจีน และมุสลิมจะมีการเลี้ยงลุกบุญธรรมและให้มีการแต่งงานกับลูกตัวเอง ประเด็นเกี่ยวกับการห้ามมีเพศสัมพันธ์ในคนสายเลือดเดียวกันยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นสิ่งสากลหรือไม่
การศึกษาของนักมานุษยวิทยาและนักภาษาศาสตร์เรื่องการแยกแยะประเภทสี ได้แก่การศึกษาของเบร็นท์ เบอร์ลิน และพอล เคย์(1969) พบว่าในแต่ละวัฒนธรรมจะมีคำเรียกสีขั้นพื้นฐานเสมอ เช่น สีขาว สีดำ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาเรื่องการแยกประเภทของพืชและสัตว์เพื่อหาความเป็นสากล นักจิตวิทยาชื่อพอล เอคแมน และคาร์รอล อิซาร์ด(1971) ศึกษาการแสดงอารมณ์ทางสีหน้าว่าเป็นพฤติกรรมสากลของมนุษย์ เช่น สีหน้ามีความสุข เศร้า สงสัย กลัว โกรธ และประหลาดใจ การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องการแสดงสีหน้าในประชากรสองกลุ่ม คือ ชาวอเมริกันและชาวนิวกินี พบว่าทั้งสองกลุ่มแสดงสีหน้าไม่เหมือนกัน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการแสดงสีหน้าของมนุษย์คือการแสดงท่าทางประเภทหนึ่งและเป็นเรื่องที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว
การศึกษาของมาร์กาเร็ต มี้ด เรื่อง Coming of Age in Samoa(1928) และ Sex and Temperament in Three Primitive Societies(1935) พบว่าความเครียดของวัยรุ่น และอำนาจของเพศชายมิใช่สิ่งสากล ซึ่งก่อให้เกิดการทบทวนเกี่ยวกับความเป็นสากลอีกครั้งหนึ่ง แต่การศึกษาของเดบอราห์ กีเวิร์ธซ(1981) ศึกษาเรื่องบทบาททางเพศในสังคมที่มี้ดเคยศึกษา พบว่ามี้ดไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจของผู้ชาย การศึกษาของดีเร็ค ฟรีแมน(1983) ศึกษาสังคมของชาวซามัว พบว่าการศึกษาของมี้ดแตกต่างไปจากที่เธอศึกษา และการศึกษาของเมลฟอร์ด สปีโร(1982) พบว่าปมอะดีปุสมิใช่สิ่งสากล เหมือนกับที่มาลีนอฟสกี้เคยกล่าวไว้
ในปัจจุบัน ประเด็นเรื่องความเป็นสากลไม่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการมากนัก เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันแล้วว่ามนุษย์มีสมองที่คิดสิ่งต่างๆได้ รู้จักการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆได้ การรู้จักคิดของมนุษย์ทำให้มนุษย์รู้จักเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์มีความเป็นสากลตรงที่มีอวัยวะเพื่อการคิดเหมือนกัน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มนุษย์รู้จักแสดงอารมณ์ความรู้สึก มีการกระทำ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ความเป็นสากลของมนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจจากการศึกษาเปรียบเทียบทางวัฒนธรรม และมานุษยวิทยาก็ต้องอาศัยศาสตร์อื่นๆเข้ามาช่วยอธิบายสิ่งเหล่านี้
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. pp.607-612.
Donald E. Brown 1991. Human Universals. New York: McGraw-Hill.
Neil Roughley.(ed.) 2000 Being Humans: Anthropological Universality and Particularity in Transdisciplinary Perspectives. Berlin: Walter de Gruyter. Pp. 156-174.
Ralph Linton.1945. The Science of Man in the World Crisis. The Journal of Politics
Vol. 7, No. 2 (May, 1945), pp. 188-190.
หัวเรื่องอิสระ: ความเป็นสากลของมนุษย์