Humanistic Anthropology
มานุษยวิทยาแนวมนุษยนิยม (Humanistic Anthropology) หมายถึง การศึกษาระบบคุณค่าและความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น งานวรรณกรรม งานศิลปะ งานสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างไรก็ตามแนวคิดเกี่ยวกับมนุษยนิยม (humanism) คือรากฐานของการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ เพราะแนวคิดนี้วางประสบการณ์ของมนุษย์ไว้ตรงกลางและปฏิเสธอำนาจที่มองไม่เห็น หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ humanism จึงเชื่อมั่นในการกระทำของมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความศรัทธาในตัวมนุษย์ การให้ความสำคัญกับมนุษย์นี้อาจนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา จนเกิดแนวคิดเรื่อง humanistic anthropology ขึ้น
ในวารสาร Anthropology and Humanism เป็นพื้นที่แรกของการสร้างคำว่า humanistic anthropology ซึ่งเป็นเวทีวิชาการที่ประกอบด้วยสมาชิกจากหลายสาขา ประเด็นวิชาการที่หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงได้แก่เรื่อง renaissance humanism, naturalistic humanism และ literary humanism เป็นต้น คำว่า Renaissance humanism หมายถึงการศึกษาวัฒนธรรมตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีสมัยกรีกและโรมัน การศึกษาในเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจารณ์อำนาจทางศาสนา คำว่า naturalistic humanism หมายถึงการศึกษาที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีส่วนแก้ปัญหาต่างๆให้มนุษย์ การศึกษาเรื่องนี้ได้โจมตีความคิดทางศาสนาที่ทำให้มนุษย์งมงาย คำว่า literary humanism หมายถึงการศึกษาในเชิงวิพากษ์วรรณกรรม โดยเฉพาะในกระแส poststructuralism ซึ่งพยายามปลดปล่อยเรื่องของวรรณกรรมให้สัมผัสกับชีวิตมากขึ้น แนวคิดของ poststructuralism เชื่อว่าเรื่องแต่งทั้งหลายถูกเขียนขึ้นจากเรื่องแต่งอื่นๆมากมาย แต่นักวิจารณ์ในแนวมนุษยนิยมลุกขึ้นมาโต้แย้งว่า เรื่องแต่งทั้งหลายล้วนสร้างภาพเหมือนจริงให้คนอ่านเชื่อว่าชีวิตต้องเป็นอย่างนั้นด้วย
humanism ในสังคมศาสตร์ตามความคิดของ ปีเตอร์ แอล เบอร์เกอร์ (Peter L.Berger) คือการปลดปล่อยทางปัญญาซึ่งทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากพันธนาการแห่งสถาบันทางสังคมที่เข้มงวด และย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าทำไมสถาบันต่างๆจึงสร้างความจริงขึ้นมา ในทางมานุษยวิทยา ความสนใจในมนุษย์ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว นักมานุษยวิทยาที่พูดถึงประเด็นนี้ได้แก่ รูธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict) และโรเบิร์ต เรดฟีลด์ (Robert Redfield) นักมานุษยวิทยาทั้งสองอธิบายว่าการศึกษาความเป็นมนุษย์ต้องศึกษาทั้งด้านกายภาพ ซึ่งอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และต้องเข้าใจมิติทางความคิดที่ทำให้มนุษย์เข้าใจตนเองด้วย
การศึกษาที่เน้นความเป็นมนุษย์ในช่วงที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการตั้งสถาบันอย่างเป็นทางการ ชื่อว่า Society of Humanistic Anthropology ในปี ค.ศ.1974 สมาคมนี้มีการประชุมและผลิตสิ่งพิมพ์ของตัวเอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดต่างๆในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ คุณลักษณะสำคัญของการศึกษาในแนว humanistic anthropology ได้แก่
1 ให้ความสำคัญกับมนุษย์ โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง วิจารณ์อำนาจของศาสนา และสิ่งเหนือธรรมชาติ มองข้ามสถาบันทางศาสนาที่เป็นรากฐาน และพยายามกระตุ้นให้มีการศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ให้ความสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นเอกภาพและมีความคิด ความหมายของศาสนาจะแตกต่างไปจากเดิม ความหมายของศาสนาจะถูกวิจารณ์มากขึ้น และถูกสร้างนิยามใหม่ๆ มีความเชื่อว่ามนุษย์กระทำสิ่งต่างๆเพราะระบบความเชื่อ และความคิด เพราะความเชื่อคือตัวเปิดเผยให้เห็นศักยภาพต่างๆ นักมานุษยวิทยาในแนวนี้ ได้แก่ วิคเตอร์ เทอร์เนอร์ และอีริค วูล์ฟ
2 ให้ความสนใจต่อเรื่องการตีความศาสนาและพฤติกรรมของมนุษย์ สนใจประสบการณ์ร่วมของมนุษย์โดยเชื่อในความเป็นสากล เชื่อว่ามนุษย์มีลักษณะทางความคิดร่วมกันบางอย่าง และมีความหลากหลายในการดำรงชีวิตด้วย นอกจากนั้น การศึกษามนุษย์ในมิติทางภาษา ยังเชื่อว่าภาษาเป็นเครื่องมือการสื่อสารของมนุษย์ มิใช่สิ่งที่แยกจากมนุษย์เหมือนอดีต ภาษาทำให้มนุษย์รู้จักตัวเอง และทำให้ตนเองรู้ว่าจะแสดงออกอย่างไร การวิเคราะห์การใช้ภาษาของมนุษย์ต้องทำความเข้าใจกระบวนการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง เข้าใจความหมายและการตีความ และบริบททางสังคมของการสนทนา นักมานุษยวิทยาอาจนำแนวคิดนี้ไปศึกษาพิธีกรรม และอาจตั้งคำถามว่าโลกทางวัตถุเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมอย่างไร สัญลักษณ์ในพิธีกรรมสัมพันธ์กับบทสวดอย่างไร และผู้ร่วมพิธีกรรมจะเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์และบทสวดอย่างไร การศึกษาพิธีกรรมจึงต้องการตีความเช่นเดียวกับการใช้ภาษา
3 นักมานุษยวิทยาต้องการทำความเข้าใจมนุษย์ในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มนุษย์มีวิธีการเรียนรู้อย่างไร และปรับตัวอย่างไร การกระทำต่างๆของมนุษย์สามารถตีความได้เช่นเดียวกับการอ่านเรื่องแต่ง ชีวิตของมนุษย์จึงเหมือนกับหนังสือเล่มหนึ่ง (text) แต่ชีวิตมนุษย์มิได้เหมือนกับนิยายในท้องตลาด หรือเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสร้างความนิยม แต่มนุษย์แต่งเรื่องราวชีวิตของตัวเองโดยไม่มีตอนจบเหมือนนิยาย ดังนั้นการศึกษาชีวิตมนุษย์จึงหาตอนจบมิได้
4 ภาษาที่มนุษย์ใช้เพื่อแต่งเรื่องให้ตัวเองนั้นเป็นภาษาเปรียบเปรย หรือเพื่อการแสดงความหมาย นักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีที่ศึกษาอดีตของมนุษย์ พบว่ามนุษย์มีพัฒนาการในการประดิษฐ์วัตถุสิ่งขึ้น จากของง่ายๆไปถึงของที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ นักโบราณคดีอธิบายว่า สิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้นบ่งบอกให้รู้ว่ามนุษย์ต้องการจะสื่อสารกับคนอื่นๆ และทำให้คนอื่นรู้ว่าตนคือใคร มิใช่เพียงเพื่อการเอาชีวิตรอดเท่านั้น นักมานุษยวิทยาพยายามเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์มีส่วนทำให้มนุษย์สื่อสารถึงกัน มนุษย์ใช้ธรรมชาติเพื่อบ่งบอกว่าตนเองเป็นใคร ในหนังสือเรื่อง Humanistic Geography และ Space and Place อธิบายว่า ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ที่ไหน มนุษย์ต่างมีชีวิตในแบบของตัวเองที่สัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่นั้น
5 ประสบการณ์ของมนุษย์ประกอบด้วยร่างกาย ความคิด ความรู้สึกที่แยกแยะสิ่งต่างๆออกจากกันด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งนี้นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าปัจจัยทางชีววิทยามีส่วนสำคัญมากในการอธิบายความเป็นมนุษย์ Theodosius Dobzhansky นักมานุษยวิทยากายภาพมีความคิดต่างไปจากนิวตัน เขาอธิบายว่าโลกเต็มไปด้วยการผจญภัยที่ไม่จบสิ้น มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ต้องดิ้นรนเพื่อที่จะมีสำนึกของตัวเอง วิวัฒนาการของมนุษย์ทำให้มนุษย์เป็นเอกภาพขึ้นเรื่อยๆ แต่คำอธิบายนี้เป็นคำอธิบายที่เชื่อในความสมบูรณ์ นักมานุษยวิทยาเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์สัญลักษณ์ และมีการตีความสัญลักษณ์ในบริบทต่างๆ
6 ความเป็นปัจเจกบุคคลมีความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ นักมานุษยวิทยาพยายามอธิบายมนุษย์ด้วยแนวคิดวิทยาศาสตร์ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีภาษาของตัวเองต่างไปจากสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ Ernest Becker ตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์มิใช่สิ่งมีชีวิตที่ไร้ความรู้สึก แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสร้างความหมายให้ตัวเอง ความหมายที่มนุษย์สร้างจึงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ มนุษย์รู้ว่าตนเองต่างจากสัตว์อื่นอย่างไร ความหมายทำให้มนุษย์มีความเป็นเอกภาพในตัวเอง นักมานุษยวิทยาที่เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์จึงยกย่องในเอกภาพที่มนุษย์มีเหนือสัตว์อื่นๆ
สถาบัน Society for Humanistic Anthropology มีการมอบรางวัล Victor Turner Prize ให้กับงานเขียนทางมานุษยวิทยาที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นการเขียนในเชิงกวีนิพนธ์ งานเขียนทางมานุษยวิทยาจึงมีลักษณะคล้ายนิยาย หรือเขียนแบบนิยาย นิยายในเชิงมานุษยวิทยา มิใช่เขียนเพื่อความบันเทิง หากแต่เป็นการพูดถึงชีวิต อาจกล่าวได้ว่า เรื่องแต่งทางมานุษยวิทยาได้ทำให้ความจริง กับความเป็นนิยายลดความแตกต่างกัน นิยายทางมานุษยวิทยาอาจไม่ใช่การวิเคราะห์ชีวิตด้วยกรอบความคิดทฤษฎี หากแต่เป็นการบอกให้รู้ว่าชีวิตมนุษย์ดำเนินไปอย่างไร
นักมานุษยวิทยาในฐานะเป็นผู้ที่เขียนถึงชีวิตมนุษย์ อาจทำให้นักมานุษยวิทยาค้นพบความจริงบางอย่างในตัวมนุษย์ มากกว่าการสร้างทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่งมาอธิบาย ความเป็นมนุษย์ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษา ร่างกาย สัญลักษณ์ ประสบการณ์ ต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน นักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์อาจถามว่าเรารู้จักโลกภายนอก หรือว่าเรารู้จักโลกภายในความคิดของเราเอง
ดังนั้น Humanistic Anthropology อาจหมายถึงการให้ความสำคัญกับมนุษย์ แต่ขึ้นอยู่กับความรู้ที่เรามี อาจหมายถึงเรื่องที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ จับต้องได้และพิสูจน์ได้ ปฏิเสธอำนาจเหนือธรรมชาติ ความเชื่อมั่นในมนุษย์อาจหมายถึงการแสวงหาประสบการณ์ที่มนุษย์มี พร้อมกับแสวงหาคำอธิบายต่างๆที่น่าพึงพอใจ แสวงหาเรื่องเล่าที่มนุษย์ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา พฤติกรรม วัตถุสิ่งของ และสถานที่ต่างๆ เชื่อมั่นในความรู้ที่มนุษย์สร้างเพื่อที่จะปลดปล่อยตัวเอง และเตือนตัวเองว่ามีด้านมืดซ่อนอยู่ ความเชื่อมั่นอาจตอกย้ำความเป็นมนุษย์ด้วยการจารึกเป็นนิยายและบทกวีต่างๆ มานุษยวิทยาที่เชื่อในความเป็นมนุษย์ จึงมิใช่การศึกษามนุษย์ในเชิงนามธรรม แต่เป็นการยอมรับภาระหน้าที่ที่มนุษย์พึงมี
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember.(eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York, Pp.613-618.
Johnson, Norris Brock. 1989. Anthropology and the humanities: A reconsideration. Anthropology and Humanism Quarterly 14.3: 82–89.
Lee, Alfred McClung. 1977. Humanism as demystification. Anthropology and Humanism Quarterly 2.1: 5–13.
Wilk, Stan. 1991. Humanistic anthropology. Knoxville: University of Tennessee Press.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาแนวมนุษยนิยม