Infanticide
การฆ่าทารก (Infanticide) เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักในสังคมมนุษย์ อาจพบเห็นได้ในสงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนกรณีอื่น ๆ ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ การฆ่าทารกมักจะถูกโจมตีว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม เช่นกรณีที่มารดาไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดของตนได้ เธออาจทำแท้ง หรือฆ่าทารกตั้งแต่แรกคลอด นอกจากนั้นการตายของทารกอาจเกิดจากการถูกทิ้งให้อดตาย ขาดอาหาร ซึ่งเป็นการฆาตกรรมทางอ้อม ชาวยุโรปมักจะประณามการฆ่าทารกว่าเป็นความโหดเหี้ยม และเป็นความป่าเถื่อน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 อัตราการตายของทารกในทวีปยุโรปเกิดจากสาเหตุที่พ่อแม่ส่งทารกไปเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือบ้านสงเคราะห์เด็กกำพร้า
ในสังคมที่ไม่มีการคุมกำเนิด การฆ่าทารกอาจเป็นวิธีที่จะช่วยให้มารดามีชีวิตรอด และเลี้ยงดูลูกที่เกิดมาก่อนหน้านั้นได้ ในสังคมญี่ปุ่นการฆ่าทารกรู้จักในนาม “mabiki” ในสังคมชาวเผ่า !Kung San มารดาคือผู้ที่ฆ่าทารก ในยุคPleistocene การฆ่าทารกเกิดขึ้นมากในสังคมเร่ร่อน ผู้หญิงคือแรงงาน และเป็นผู้ควบคุมประชากรที่เกิดขึ้นมาใหม่ เธอจะรู้ว่าทารกควรจะมีจำนวนเท่าใดที่เธอสามารถเลี้ยงดูได้ การฆ่าทารก หรือทิ้งทารกให้อดตายมักจะเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้หญิงต้องการควบคุมระบบเศรษฐกิจในการเลี้ยงดูเด็ก เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ การมีชีวิตรอดของลูกที่เกิดใหม่ขึ้นอยู่กับการให้นมของสัตว์เพศเมีย
ในปารากวัย มีชาวเผ่าเร่ร่อนชื่อ Ache มักจะฆ่าเด็ก ๆ มีรายงานว่าเด็กชาย 9 เปอร์เซ็น และเด็กหญิง 16 เปอร์เซ็นต์จะถูกฆ่าก่อนอายุ 5 ขวบ สาเหตุเพราะต้องการควบคุมอาหารให้เพียงพอกับประชากรในเผ่า เด็ก ๆ ที่พ่อตายมักจะตกเป็นเหยื่อของการฆ่า ในเผ่า Ayoreo ในประเทศโบลิเวีย ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรจำเป็นต้องฆ่าทารกที่เกิดมา จนกระทั่งถึงเวลาที่เหมาะสมจึงจะสามารถเลี้ยงดูทารกได้ ทารกของมนุษย์มักจะต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่เพื่อเอาชีวิตรอดจนกว่าจะเติบโตถึงวัยแต่งงาน ดังนั้นมนุษย์จึงใช้เวลาเลี้ยงดูทารกนานกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ การเลี้ยงดูจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยทางทรัพยากร และเศรษฐกิจ พ่อแม่จึงเป็นผู้ควบคุมและกำหนดว่าสมาชิกในครอบครัวควรจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร การฆ่าทารกอาจเป็นการแก้ปัญหาของการเอาชีวิตรอดทางหนึ่ง
ในสังคมที่มีการจัดระเบียบสังคมที่ซับซ้อน บุคคลจะมีฐานะสูงต่ำต่างกันมาก และการควบคุมสมาชิกในตระกูลชั้นสูงอาจเป็นเรื่องจำเป็น ตัวอย่างเช่นตระกูล Rajput ในดินแดนตอนเหนือของอินเดีย ลูกสาวที่เกิดมามักจะถูกฆ่าเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องการควบคุมทรัพยากรในตระกูลให้คงที่ หากมีลูกสาวหลายคนก็ต้องใช้ของหมันมากขึ้นในการแต่งงานกับคนนอกตระกูล ทรัพย์สินจะกระจัดกระจายไป ตระกูลชั้นสูงที่ไม่มีลูกสาว มีแต่ลูกชาย ลูกสะใภ้จึงมาจากคนตระกูลอื่น ซึ่งหมายถึงจะได้รับสินสอดจากการแต่งงาน การศึกษาของดิกแมนน์ ชี้ว่าผู้ชายที่ร่ำรวยจะมีภรรยาได้หลายคน ส่วนผู้ชายในตระกูลที่ยากจนจำเป็นต้องมีลูกสาวไว้หลาย ๆ คนเพื่อให้เป็นลูกสะใภ้แก่ครอบครัวที่ร่ำรวย ลูกสาวในครอบครัวที่ยากจนจึงเป็นแหล่งสร้างฐานะให้พ่อแม่
ในสังคมที่ไม่ซับซ้อน ความต้องการลูกชายอาจมีมากกว่าลูกสาว โดยเฉพาะสังคมที่ต้องสู้รบ และทำสงคราม ลูกชายจะเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองคนในครอบครัวได้ ลูกสาวที่เกิดใหม่จึงอาจถูกฆ่าตาย การศึกษาของ Divale และ Harris ชี้ว่าการฆ่าเด็กผู้หญิงเพื่อต้องการลดประชากร และควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้พอเพียงกับสมาชิก การฆ่าทารกจึงเป็นดั่งการบูชายัญเพื่อทำให้กลุ่มอยู่รอด และเพื่อบวงสรวงให้ได้ลูกชายมาทดแทน ตัวอย่างเช่น ในสังคมของชาว Eipo ในเขตที่ราบสูงตอนกลางในประเทศนิวกินี มักจะมีการฆ่าทารกผู้หญิงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ในวัฒนธรรมจีน ลูกชายมักเป็นที่นิยมมากกว่าลูกสาว ลูกสาวที่เกิดใหม่อาจถูกฆ่าตั้งแต่แรกคลอด ในประเทศอินเดีย การฆ่าลูกสาวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่อาจมีเด็กผู้หญิงที่ถูกปล่อยให้กำพร้ามากขึ้น
การศึกษาของเรดคลิฟฟ์-บราวน์ ชี้ว่าการฆ่าทารกเป็นการทำให้กลุ่มอยู่รอดได้ จากแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการทำให้นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการฆ่าทารกเป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับการกระทำของสัตว์หลายชนิด อย่างไรก็ตามการฆ่าทารกมิใช่การกระทำที่เหมือนกันในทุกแห่ง การฆ่าลูกอ่อนของสัตว์บางชนิดอาจเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติ แต่การฆ่าทารกของมนุษย์อาจเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
- การฆ่าทารกเพื่อเป็นอาหาร เนื้อทารกอาจเป็นอาหารอย่างดีให้กับสมาชิกในกรณีที่เกิดสภาวะขาดแคลนอาหารประเภทอื่น
- การฆ่าทารกเพื่อควบคุมประชากร เมื่อประชากรมากขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการหาอาหารให้เพียงพอกับทุกคน การฆ่าทารกแรกเกิดจะทำให้ส่วนแบ่งอาหารมีมากขึ้น
- การฆ่าทารก ในเพศที่ไม่ต้องการ เช่นฆ่าทารกเพศชายเพื่อมิให้เป็นคู่แข่งเมื่อเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามกรณีเช่นนี้อาจไม่พบมากนัก ยกเว้นสัตว์บางชนิดเช่น กอริลล่า มักจะฆ่าลูกเพศผู้ที่เกิดใหม่
- การฆ่าทารกเพื่อการสืบพันธุ์ แม่ที่ตั้งครรภ์อาจฆ่าทารกที่เกิดใหม่เพื่อเลือกผู้ที่สืบทายาทที่เหมาะสม ลูกที่ถูกฆ่าอาจมีร่างกายพิการไม่สมประกอบ หรืออ่อนแอ ไม่เหมาะสมที่จะเลี้ยงดูต่อไปได้
- การฆ่าทารกเพราะความเกลียดชัง เป็นกรณีที่พบในสังคมเมือง เด็กทารกอาจถูกทอดทิ้งให้ตาย
กล่าวโดยสรุป การฆ่าทารกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มาช้านาน ในสัตว์ประเภทไพรเมทมีการฆ่าทารกในเพื่อที่ไม่ต้องการ อย่างไรก็ตามในสังคมมนุษย์สมัยใหม่ การฆ่าทารกจะมุ่งประเด็นไปที่ผู้เป็นพ่อแม่ มากกว่าผู้อื่นที่อาจฆ่าเด็กได้เช่นเดียวกัน ในสังคมที่ไม่มีการคุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ การฆ่าทารกยังทำตามจารีตประเพณี ซึ่งอาจถือเป็นวิธีการวางแผนครอบครัวประเภทหนึ่ง
Sarah Blaffer Hrdy เรื่อง Infanticide ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.644-648.
Sargent, Carolyn 1988. "Born to die: witchcraft and infanticide in Bariba culture". Ethnology 27 (1): 81.
Schrire, Carmel; William Lee Steiger 1974. "A matter of life and death: an investigation into the practice of female infanticide in the Arctic". Man: the Journal of the Royal Anthropological Society 9: 162
Williamson, Laila 1978. "Infanticide: an anthropological analysis". In Kohl, Marvin. Infanticide and the Value of Life. NY: Prometheus Books. pp. 61–75.