Judicial Process
กระบวนการทางศาลในความคิดของนักกฎหมายและนักสังคมวิทยา หมายถึงการแก้ปัญหาโดยพิสูจน์ความจริง และการนำความจริงนั้นไปใช้โดยกฎหมายและผู้พิพากษา ในสังคมที่มีระบบรวมศูนย์อำนาจทางกฎหมาย กระบวนการศาลจะเป็นกลวิธีในการดำเนินงานทางกฎหมาย กระบวนการศาลจึงเป็นรูปแบบในอุดมคติ ซึ่งเกิดขึ้นในการทำงานของผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินใจในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสองกลุ่ม การค้นหาความจริงและการพิสูจน์ความจริงจะเกิดขึ้นตามมา สังคมนอกตะวันตกที่มีการรวมศูนย์อำนาจทางกฎหมายก็มีระบบยุติธรรมเช่นกัน เช่น ในสังคมอิสลามและสังคมจีน จะมีระบบกฎหมายของตัวเอง
สิ่งที่ใช้เพื่อนิยามความเป็นศาลก็คือการตัดสินทางกฎหมาย การตัดสินทางกฎหมายอาจถูกมองว่าเป็นระบบที่มีเหตุผล หรือมีความยุติธรรม มากกว่าวิธีอื่นๆที่อาศัยการคาดเดาเอาเอง การตัดสินที่มาจากศาลจะไม่มีข้อสงสัยใดๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการทางศาลจึงเป็นวาทกรรมของการตัดสินที่บริสุทธิ์ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกฎและหลักเกณฑ์ก็คือ กฎหมายถูกใช้เป็นกฎ แต่กฎหมายมิใช่กฎที่ดีที่สุดหรือเป็นกฎสุดท้าย แต่กฎหมายเป็นเพียงคำอธิบายชุดหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ไม่มีกฎที่ดีที่สุดสำหรับการครอบครองทรัพย์สิน กลุ่มกระแสวิพากษ์กฎหมายเชื่อว่าไม่มีกฎหมายใดที่อยู่นอกพรมแดนการเมืองและอุดมคติ ความคิดนี้ตรงข้ามกับผู้ที่เชื่อว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออุดมคติ ข้อโต้แย้งนี้มีความสำคัญในการพิจารณาเรื่องกระบวนการศาล เนื่องจากมีคำถามว่าระบบกฎหมายของตะวันตกคืออะไร
คำว่า “กระบวนการศาล” เป็นคำที่นักมานุษยวิทยาใช้อย่างแพร่หลาย แต่ความหมายและการใช้คำนี้เป็นสิ่งที่ไร้ขอบเขต นักมานุษยวิทยามีการถกเถียงกันว่าอะไรคือกฎหมาย บรรทัดฐานและจารีต นักมานุษยวิทยาใช้คำว่ากระบวนการศาลเพื่ออธิบายเชิงเปรียบเทียบว่าคำนี้จะกินความมากแค่ไหน ถ้ากระบวนการศาลหมายถึงระบบกฎหมายของตะวันตก ก็จะง่ายสำหรับการนำไปเปรียบเทียบในวัฒนธรรมอื่นที่มีระบบศาลเหมือนกัน ในทางตรงกันข้าม ในสังคมที่ไม่มีระบบศาล นิยามของกระบวนการศาลอาจจะแคบเกินไป ดังนั้น การนิยามกระบวนการศาลแบบหลวมๆอาจทำให้นำไปใช้อธิบายสังคมอื่นๆ
ถ้ากระบวนการศาลดำรงอยู่ท่ามกลางรอยต่อของบรรทัดฐาน จารีต ความสัมพันธ์ทางสังคม และกระบวนการที่ใช้ตัดสินความขัดแย้ง ฉะนั้นกระบวนการศาลก็อาจจะมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้อธิบาย อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามอื่นที่ต้องพิจารณานั่นคือ กระบวนการศาลต้องการศาลหรือไม่ ต้องการกระบวนการพิพากษาหรือไม่ และต้องการอำนาจของผู้พิพากษาหรือไม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มเล็กๆจะได้รับการไกล่เกลี่ยโดยผู้มีอำนาจ และเมื่อตัดสินแล้วกลุ่มทั้งสองก็อาจแยกจากกันไป คำถามก็คือกระบวนการศาลจำเป็นต้องมีศาลหรือไม่ กระบวนการการตัดสินความขัดแย้งที่ไม่ต้องมีศาลอาจจะใช้ระเบียบทางสังคมจัดการมากกว่าการใช้กฎบังคับ เช่นการใช้อำนาจเหนือธรรมชาติ โครงสร้างของกระบวนการศาลในสังคมขนาดเล็กกับสังคมที่ซับซ้อนมีความคล้ายคลึงกันหรือไม่ ในกลุ่มชนที่ปกครองตัวเองอาจพูดถึงกระบวนการศาลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมทั้งหมด กระบวนการศาลในที่นี้จึงกินความที่กว้างมาก
การศึกษาของนักมานุษยวิทยามีการอธิบายถึงลักษณะของกระบวนการศาล เช่นการศึกษาของแม็กซ์ กลักแมน(1955) เกี่ยวกับกฎหมายของชาวบารอตซีในแอฟริกา กลักแมนอธิบายว่ากระบวนการศาลของชาวบารอตซีคล้ายกับระบบของตะวันตก กลักแมนนิยามความหมายของกระบวนการศาลว่าหมายถึงแนวคิดที่แฝงด้วยระบบศีลธรรมเพื่อที่จะใช้กับสถานการณ์เฉพาะ และเพื่อที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง นิยามของกลักแมนเป็นประโยชน์ในการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ แต่ในทางมานุษยวิทยาแนวคิดนี้ยังมีข้อโต้แย้งมาก ทั้งนี้เนื่องจากมีการใช้คำนี้ในความหมายกว้างเกินไปและแคบเกินไป ตัวอย่างเช่นทฤษฎีของกลักแมนเรื่อง “มนุษย์ที่คิดแบบเหตุผล” ซึ่งหมายถึงการตัดสินที่อาศัยกฎและระบบศีลธรรม ความคิดดังกล่าวนี้เป็นความคิดแบบตะวันตก ซึ่งนักมานุษยวิทยาหลายคนยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจริงหรือไม่
นักมานุษยวิทยาแนวตีความมีข้อโต้แย้งว่าการทำความเข้าใจกระบวนการศาลของวัฒนธรรมต้องอาศัยความเข้าใจในวัฒนธรรมนั้นในทุกๆด้าน ความคิดเรื่องมนุษย์ที่มีเหตุผลต้องมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้อง การใช้เหตุผลทางศาลเป็นผลผลิตมาจากวัฒนธรรม กระบวนการศาลและวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กัน การจะทำความเข้าใจกระบวนการศาลต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมด้วย คลิฟฟอร์ด เกิร์ตซ์(1983) อธิบายว่าการศึกษากระบวนการศาลต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน
อีกประเด็นหนึ่งก็คือการใช้จิตสำนึกในกระบวนการศาลในยุคอาณานิคมและพ้นอาณานิคม ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีจิตสำนึกต่อจารีตของตัวเองแตกต่างกัน และสำนึกนี้ก็ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คำถามที่ว่ามีสิ่งสากลเกี่ยวกับกระบวนการศาลหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ท้าทายนักมานุษยวิทยา กระบวนการศาลแบบตะวันตกจะใช้ได้กับวัฒนธรรมอื่นหรือไม่ นิยามและการอธิบายด้วยแนวคิดนี้ยังคงไม่ชัดเจนในวิชามานุษยวิทยา
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Compnay, New York. 1996.Pp.669-670.
Malinowski, Bronislaw 1985[1926] Crime and Custom in Savage Society. Totowa, New Jersey: Rowman & Allanheld.
Moore, Sally Falk. 2004. Law and Anthropology: A Reader, Blackwell
หัวเรื่องอิสระ: กระบวนการศาล