Kinship
เครือญาติหมายถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่สร้างบทบาทและสถานภาพให้กับสมาชิกในครอบครัวซึ่งเกิดจากสายโลหิตหรือจากการแต่งงาน ความคิดเกี่ยวกับระบบเครือญาติ เป็นความคิดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การจัดระเบียบสังคมของมนุษย์ขั้นพื้นฐานที่สุด ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อิซิโดเร่ เขียนหนังสือเรื่อง Etymologiae อธิบายเกี่ยวกับคำเรียกชื่อญาติและแบบแผนการแต่งงานของชาวโรมัน ในปี ค.ศ.1672 จอห์น ลีเดอร์เรอร์อธิบายลักษณะของกลุ่มตระกูล การสืบตระกูลข้างแม่ และการแต่งงานออกในชนเผ่าซีอวนตะวันออก ในปี ค.ศ.1724 เจ เอฟ ลาฟิตู อธิบายระบบการจัดประเภทญาติในชนเผ่าอีโรควอยส์ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การศึกษาระบบเครือญาติเริ่มมีทฤษฎีชัดเจนขึ้น โดยนักมานุษยวิทยาแนววิวัฒนาการได้ถกเถียงเรื่องรูปแบบการแต่งงานและระบบเครือญาติ หลังจากนั้นเป็นต้นมาการศึกษาระบบเครือญาติก็เริ่มพัฒนาแนวคิดต่างๆขึ้น เช่น แนวคิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม หน้าที่นิยม ชาติพันธุ์ และโครงสร้างนิยม
ระบบเครือญาติ คือการให้สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่อสิ่งที่เป็นชีววิทยา การศึกษาเครือญาติทำโดยการตีความรูปแบบการแต่งงานและการสืบทายาท ซึ่งเป็นการให้กำเนิดและการแสดงตนเป็นพ่อแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างระบบเครือญาติและเงื่อนไขทางชีววิทยามีความซับซ้อนมาก เนื่องจากการจัดระเบียบและการสำนึกในความเป็นญาติถูกควบคุมด้วยวัฒนธรรมอย่างเข้มงวด และระบบเครือญาติยังเป็นเรื่องทางชีววิทยาที่เป็นตัวแบบให้กับการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม
รูปแบบของเครือญาติมีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดียความแตกต่างของระบบเครือญาติขึ้นอยู่กับบุคคลที่เป็นพี่น้องฝ่ายชายข้างพ่อ ในชนพื้นเมืองอเมริกา ความสัมพันธ์ของญาติเกิดจากพิธีกรรมการรับคนเข้าเป็นสมาชิกในครัวเรือน พิธีการเป็นพี่น้องร่วมสาบาน และมีพระเจ้าองค์เดียวกัน อย่างไรก็ตามแนวคิดเกี่ยวกับเครือญาติในความหมายทางชีววิทยาและวัฒนธรรมที่คาบเกี่ยวกันมีการพัฒนาไปช้า ลิวอิส เฮนรี มอร์แกน คือนักมานุษยวิทยาผู้บุกเบิกการศึกษาระบบเครือญาติ เขาอธิบายว่าการศึกษาเปรียบเทียบการจัดระบบเครือญาติในแต่ละประเภทจะทำให้เห็นวิวัฒนาการของวัฒนธรรม มอร์แกนเชื่อว่ารูปแบบเครือญาติของชนเผ่าต่างๆที่พบเห็นในปัจจุบันคือหลักฐานของสังคมระยะแรกๆของมนุษย์
มอร์แกนศึกษาระบบเครือญาติของชาวเกาะฮาวาย ซึ่งคนที่เป็นญาติกันหมายถึงคนที่มีเพศและรุ่นเดียวกัน เช่น ญาติของพ่อ คือ น้องชายหรือพี่ชายของพ่อ เป็นต้น ญาติแบบนี้คือตัวอย่างของระบบญาติที่มาพร้อมกับการแต่งงาน มอร์แกนกล่าวว่าครอบครัวที่เกิดจากการแต่งงานเป็นครอบครัวที่สมาชิกมีญาติพี่น้องรวมกันเพราะการแต่งงาน ญาติจึงมีทั้งพี่น้องร่วมสายเลือดและพี่น้องของสามีหรือภรรยา มอร์แกนสันนิษฐานว่าระบบเครือญาติคือการจัดระเบียบของกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์แบบญาติที่หลากหลาย การจัดระเบียบหรือจัดประเภทญาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางชีววิทยา แต่คำอธิบายของมอร์แกน ยังไม่ทำให้เกิดความเข้าใจลักษณะความเป็นพ่อ และวัยที่เหมาะสมกับการแต่งงานของคนพื้นเมือง
ในปี ค.ศ.1906 ความคิดของมอร์แกนในเรื่องญาติจากการแต่งงานก็ถูกโต้แย้งจากอาร์โนลด์ แวน เกนเน็บ ซึ่งแยกประเภทพ่อแม่เป็นสองประเภท คือพ่อแม่ทางชีววิทยากับพ่อแม่ทางสังคม มาลีนอฟสกี้ กล่าวว่าญาติจากการแต่งงาน มิใช่พี่น้องร่วมสายโลหิต แต่เป็นการรับรู้ทางสังคม ในช่วงเวลาเดียวกัน อัลเฟรด โครเบอร์ และ ดับบลิว เอช อาร์ ริเวอร์ส ก็มีแนวคิดในการศึกษาที่ต่างออกไป ทั้งโครเบอร์และริเวอร์สสนใจวิเคราะห์การเรียกชื่อญาติ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจวิธีคิดของชาวบ้านที่มีต่อญาติในสังคมของตัวเอง การศึกษาของโครเบอร์เป็นการค้นหาหลักเกณฑ์ หรือประเภทของความสัมพันธ์แบบต่างๆ ซึ่งซ่อนอยู่ภายในระบบเครือญาติ ประเด็นของการวิเคราะห์จึงเกี่ยวกับการเปรียบเทียบคนรุ่นต่างๆ ความต่างของอายุ และเพศ โครเบอร์เชื่อว่าระบบเครือญาติมีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยสถิติ คณิตศาสตร์
การศึกษาของริเวอร์สให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสืบทอดตระกูลจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อที่จะสร้างแผนภูมิของการนับญาติที่จำเป็นต่อการศึกษาทางชาติพันธุ์ ในส่วนทฤษฎี ริเวอร์สกล่าวว่าการเรียกชื่อญาติ และแบบแผนความสัมพันธ์ของญาติคือสิ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจสถาบันทางสังคม เช่น การจัดระเบียบกลุ่มคนที่ทำหน้าที่สืบตระกูล การรับมรดก และการประกอบพิธีกรรม แนวคิดดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชามานุษยวิทยาของอังกฤษในเวลาต่อมา
ความแตกต่างของสถาบันขั้นพื้นฐาน ระหว่าง สถาบันเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และเครือญาติ กลายเป็นหน่วยสำหรับการศึกษาทางชาติพันธุ์ และนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมาการวิเคราะห์สถาบันเหล่านี้ก็มีความสำคัญ เมื่อนำมาศึกษาสังคมแบบกลุ่ม (band) และชนเผ่า ด้วยกรอบทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ จะทำให้เข้าใจว่าระบบเครือญาติคือกฎระเบียบของโครงสร้างทางสังคม ความเข้าใจนี้ถูกตอกย้ำด้วยการศึกษาของเรดคลิฟฟ์ บราวน์ เขากล่าวว่าสังคมชนเผ่าจะมีระบบเครือญาติเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้จัดระเบียบคนในสังคม กฎนี้จะเป็นตัวกำหนดแบบแผนการปฏิบัติ และการแสดงความสัมพันธ์กับคนในกลุ่ม
แนวคิดโครงสร้างหน้าที่ทำให้เข้าใจว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นตัวกำหนดขนาดของครัวเรือน ลำดับชั้นของญาติ ความหมายของความเป็นกลุ่มญาติ แบบแผนการแต่งงาน การเป็นพันธมิตรจากการแต่งงานระหว่างกลุ่ม การสืบตระกูล การสืบมรดก การควบคุมทรัพยากร และควบคุมอำนาจทางการเมือง
เมเยอร์ ฟอร์เตส ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาบทบาทของเครือญาติว่า เกิดจากการสังเกตจากโครงสร้างสังคมเฉพาะกรณี ซึ่งถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบและมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ฟอร์เตสเชื่อว่ากฎพื้นฐานของระบบเครือญาติคือการสร้างพันธมิตร กล่าวคือความเป็นญาติเกิดจากการสร้างความไว้วางใจกัน มีความเป็นปึกแผ่น มีการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหน้าที่นิยม เนื่องจากมองข้ามปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ โครเบอร์โต้แย้งว่า การทำความเข้าใจลักษณะกลุ่มคนที่รวมตัวกันแบบญาติ หรือกลุ่มตระกูลซึ่งถือเป็นการจัดระเบียบขั้นพื้นฐานทางสังคม ควรจะมองที่ความไม่คงที่ของกฎระเบียบซึ่งผันแปรไปตาม ทรัพยากร สภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัย เอ็ดมันด์ ลีช อธิบายว่าระบบเครือญาติมิใช่มีอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น การควบคุมทรัพยากร การแต่งงาน การสืบมรดก และการรักษาทรัพย์สินในครัวเรือน
นักมานุษยวิทยาสันนิษฐานว่าแนวคิดเรื่องระบบเครือญาติ และแบบแผนทางสังคมที่เกี่ยวข้องสามารถพบได้ในทุกสังคม เนื่องจากระบบเครือญาติเป็นระบบสากลของการตีความเกี่ยวกับพฤติกรรมกลุ่มที่ถูกจัดระเบียบแบบแผน แนวคิดมานุษยวิทยาเชิงสัญลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าระบบเครือญาติมิใช่สิ่งสากล เดวิด ชไนเดอร์ กล่าวว่ากฎการสืบตระกูลในแต่ละวัฒนธรรมแตกต่างกัน การศึกษาระบบเครือญาติจึงต้องตั้งคำถามว่าความเป็นสากลนั้นมีหรือไม่ การแต่งงานที่นำไปสู่การสืบตระกูลที่พบเห็นได้ทั่วไปจะมีความหมายและคุณค่าซึ่งถูกแสดงผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ต่างกัน
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Boon, James A.; Schneider, David M. (October 1974). "Kinship vis-a-vis Myth Contrasts in Levi-Strauss' Approaches to Cross-Cultural Comparison". American Anthropologist 76 (4): 799–817.
Fox, Robin 1977. Kinship and Marriage: An Anthropological Perspective. Harmondsworth: Penguin.
Read, Dwight W. 2001. Anthropological Theory "Formal analysis of kinship terminologies and its relationship to what constitutes kinship". Anthropological Theory 1 (2): 239–267.
Robert H.Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York, pp.151-155.
หัวเรื่องอิสระ: เครือญาติ