Legal Anthropology
มานุษยวิทยากฎหมายศึกษาองค์ประกอบที่สำคัญสามส่วน คือ หนึ่ง แต่ละวัฒนธรรมจะมีวิธีแยกแยะกฎต่างๆและมีกระบวนการสร้างกฎหมาย สอง ขบวนการจัดการกับความขัดแย้งจะอาศัยรูปแบบและสถาบันที่แน่นอน สังคมจะมีระบบจัดการความขัดแย้งซึ่งเป็นระบบที่ทุกคนเห็นร่วมกัน และ สาม กฎหมายจะเกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างมาตรการควบคุมและระบบคุณค่าทางสังคม เช่น การใช้ขนบธรรมเนียม และศีลธรรม นักมานุษยวิทยาที่ศึกษากฎหมายจะมีความคิด 3 ประการ คือ หนึ่ง เชื่อว่ามนุษย์รู้จักการสร้างกฎหมายโดยสายเลือด สอง เชื่อว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะสร้างระบบขึ้นมาควบคุมและตัดสินคนอื่น และ สาม เชื่อว่ากฎหมายเกี่ยวข้องกับสังคมทั้งหมด หนทางที่จะทำความเข้าใจกฎหมายก็คือการเปรียบเทียบว่ากฎหมายคือระบบชนิดหนึ่งที่เข้าไปแทรกแซงตรงกลางระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝ่าย ระบบกฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่ล้วนอาศัยการสร้างระบบที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง อาจพิจารณาจากพื้นฐานทางชีววิทยา เช่น ศึกษาพฤติกรรมของลิงชิมแพนซีและอุรังอุตัง ลิงทั้งสองชนิดนี้มีวิธีการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเพื่อทำให้สังคมมีสันติ และทำให้ผู้เสียหายได้รับความพอใจ
กฎหมายของมนุษย์มิได้สร้างขึ้นมาเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ควบคุมจัดระเบียบสังคมเพื่อให้เกิดความยุติธรรม อาจกล่าวได้ว่าระบบกฎหมายพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์บางอย่างซึ่งอาจจะมิใช่เพียงการยุติความขัดแย้งเท่านั้น ระบบกฎหมายที่ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น กฎหมายของสหรัฐ คือตัวอย่างของกฎหมายลักษณะหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หากนำทฤษฎีหรือแนวคิดที่มาจากสังคมอเมริกัน ไปเปรียบเทียบกับแนวคิดที่มาจากสังคมอื่น จะพบว่าแต่ละสังคมมองกฎหมายต่างกัน รูปแบบกฎหมายของตะวันตกเกิดขึ้นมาจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ซึ่งบริบททางวัฒนธรรมสะท้อนให้เห็นวิธีปฏิบัติแบบตะวันตก ในการศึกษามานุษยวิทยาเชิงเปรียบเทียบไม่พบว่าสังคมใดจะเป็นแม่แบบให้กับสังคมอื่นๆได้ ดังนั้น ทฤษฎีที่นักมานุษยวิทยาใช้ศึกษากฎหมายจึงมาจากรูปแบบกฎหมายที่หลากหลาย
ทฤษฎีที่ใช้ศึกษาระบบกฎหมายจึงไม่มีทฤษฎีตายตัว ระบบกฎหมายจึงเป็นระบบที่ต้องเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาว่าคนในวัฒนธรรมมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ใช้ระบบกฎหมายอย่างไร อาศัยสถาบันอะไรรองรับ มีวิธีการสร้างกฎหมายอย่างไรและกฎหมายมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง นักมานุษยวิทยายังสนใจขนาดของสังคมที่มีผลต่อการสร้างกฎหมายด้วย แนวคิดเรื่องขนาดของสังคมอาจแยกเป็นสองแนวคิด คือ หนึ่งสนใจเรื่องขนาด และสองสนใจเรื่องความซับซ้อนของสังคม ถึงแม้ว่าประเด็นเรื่องความซับซ้อนจะเกี่ยวข้องกับเรื่องขนาด แต่ความซับซ้อนอาจเกิดขึ้นในพื้นที่เดิมก็ได้โดยขนาดยังไม่เปลี่ยน กลุ่มสังคมที่เพิ่มจำนวนขึ้นหรือมีความซับซ้อนขึ้น หรือเป็นทั้งสองอย่าง กฎระเบียบทางสังคมที่ใช้อยู่อาจมีประสิทธิภาพในขณะที่สังคมยังมีขนาดเล็ก หรือมีคนไม่มากนัก แต่เมื่อคนมากขึ้น กฎก็อาจใช้ไม่ได้ องค์กรทางสังคมที่จะเข้ามาจัดการเรื่องนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาภายหลัง เมื่อวัฒนธรรมมีความซับซ้อนมากขึ้น สังคมก็จำเป็นต้องมีระบบกฎหมายที่ชี้เฉพาะมากขึ้นด้วย
ในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทจะถูกแก้ไขโดยคนที่เป็นคู่กรณี หรือคนในครอบครัวเข้ามาไกล่เกลี่ย สังคมขนาดเล็กทั้งหลายไม่จำเป็นต้องมีสถาบันที่เป็นทางการเพื่อจัดการความขัดแย้ง แต่เมื่อเกิดสถาบันทางกฎหมายและการตัดสินความขัดแย้งเป็นทางการ ระบบการแก้ปัญหาด้วยตัวเองก็หมดไป ชุมชนที่มีขนาดใหญ่อาจเนื่องมาจากการขยายพื้นที่ทำกสิกรรม ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดกรณีพิพาท คนในชุมชนหรือตัวแทนของชุมชนจะทำหน้าที่พิเศษเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์จึงเป็นเต็มไปด้วยความแตกแยกรอยร้าว ซึ่งมนุษย์พยายามที่จะสร้างองค์กรขึ้นมาไกล่เกลี่ยรอยร้าว ทั้งนี้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรม เช่น ในยุโรปยุคกลาง องค์กรทางศาสนาจะเข้ามาจัดการความขัดแย้งโดยอาศัยพิธีพิสูจน์ความจริงโดยการลุยไฟ หรือทำสงคราม
เมื่อสถาบันทางกฎหมายเกิดขึ้นมาแล้ว สถาบันนี้อาจมีชื่อว่าศาลยุติธรรม ตัวอย่างศาลในระยะแรกๆ เช่น ศาลของชาวนูเออร์ที่มีหัวหน้าเผ่าสวมชุดหนังเสือ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชนโดยความช่วยเหลือของกลุ่มผู้อาวุโส การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งอีกแบบหนึ่งคือการใช้ผู้มีอำนาจสูงสุดตัดสิน ในสังคมอเมริกันใช้วิธีการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทั้งการศาลและผู้มีอำนาจสูงสุด ศาลทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐ และร่วมมือกับองค์กรทางศาสนาในการสร้างกฎระเบียบและมาตรฐานของพฤติกรรมเพื่อให้คนปฏิบัติตาม ระบบที่ใช้ในยุโรป คือระบบของศาสนจักรจะแยกจากรัฐ ในสังคมอิสลาม กฎศาสนาจะใช้เป็นทั้งการควบคุมศีลธรรมและความประพฤติทางสังคมพร้อมๆกัน
การศึกษากฎหมายทางมานุษยวิทยาเกิดขึ้นมานานแล้ว ตัวอย่างการศึกษาของเซอร์เฮนรี ซัมเมอร์ เมน เรื่อง Ancient Law (1861) และการศึกษาของจอร์จ ลอว์เรนซ์ เรื่อง Primitive Folk Moots (1880) คือการศึกษากฎหมายในมิติมานุษยวิทยาในระยะแรกๆ ซึ่งพยายามที่จะแยกประเภทของกฎหมายในลักษณะต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ แต่เป็นการศึกษาด้วยแนวคิดกฎหมายของตะวันตก ตัวอย่างการศึกษาของ รอย เอฟ บรูโน่ ในชนเผ่า Ifugao (1919) ในประเทศฟิลิปปินส์ การศึกษาของบรูโน่ กัตแมนน์และ อาร์ เอส แรตเทรย์(1929) ในแอฟริกา การศึกษาของมาลีนอฟสกี้ในปี ค.ศ.1926 ในช่วงเวลานี้นิยามเกี่ยวกับกฎหมายถูกขยายออกไปมากขึ้น โดยกล่าวถึงกฎทางสังคมและข้อบังคับอื่นๆที่วางอยู่บนผลประโยชน์ของการแลกเปลี่ยน
การศึกษากฎหมายในทางมานุษยวิทยา เริ่มมีแนวคิดใหม่ๆโดยการริเริ่มของคาร์ล เลเวลลีน และ อี อดัมสัน โฮเบล ในเรื่อง The Cheyenne Way (1941) การศึกษานี้ได้สร้างแนวคิดใหม่และคำอธิบายใหม่ในการเปรียบเทียบกฎหมายต่างวัฒนธรรม โฮเบลทำการวิจัยภาคสนามอย่างละเอียดในสังคมของชาวไชแอนน์ เขาพูดคุยกับผู้สูงอายุเกี่ยวกับข้อพิพาทที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต และวิธีการที่พวกเขาใช้จัดการกับความขัดแย้งต่างๆ (การศึกษาแนวนี้ เรียกว่าการศึกษาวัฒนธรรมจากความทรงจำ ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมในช่วงนั้น) งานศึกษาหลายชิ้นของโฮเบลและเลเวลลีน ทำให้เห็นวิธีการที่จะศึกษากฎหมายในสังคมอื่นๆนอกตะวันตก ในปี ค.ศ.1954 เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษากฎหมายทางมานุษยวิทยาอย่างเป็นมาตรฐาน แม็กซ์ กลักแมน พิมพ์หนังสือเรื่อง The Judical Process Among the Barotse หนังสือเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพ ในเวลาเดียวกัน โฮเบลก็พิมพ์หนังสือเรื่อง The Law of Primitive Man นอกจากนั้นยังมีหนังสือของวัตสัน สมิธและ จอห์น เอ็ม โรเบิร์ต เรื่อง Zuni Law หนังสือของพอล โฮเวลล์ เรื่อง A Manual of Nuer Law หนังสือทั้งสองนี้พิมพ์ในปีเดียวกัน การศึกษาในช่วงนี้ ต่างให้ความสนใจในเรื่องกระบวนการที่กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบัน
ข้อโต้แย้งสองกระแส คือ กระแสแรกถกเถียงเรื่องมุมมองระหว่างคนนอกและคนใน กระแสที่สองถกเถียงเรื่องนิยามของกฎหมาย ข้อโต้แย้งนี้นำไปสู่การตั้งคำถามใหม่ วิธีการศึกษาใหม่ และกลวิธีที่นำไปเปรียบเทียบใหม่ ในทศวรรษที่ 1950 กลักแมนและพอล โบแฮนเน็น(1957) ต่างสนใจในข้อถกเถียงเกี่ยวกับความมีเหตุผลของมนุษย์ กลักแมนใช้นิยามกฎหมายของตะวันตกไปอธิบายระบบเหตุผลในกฎหมายของชนเผ่าโลซี กลักแมนอธิบายว่าแนวคิดตะวันตกสามารถนำไปอธิบายกฎหมายในสังคมอื่นๆได้ แต่โบเฮนเน็นโต้แย้งว่าการใช้แนวคิดตะวันตกเป็นความลำเอียงและมองดูกฎหมายของวัฒนธรรมอื่นผิดไปจากความจริง ข้อโต้แย้งนี้ยังเป็นทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างพวกที่เชื่อโบเฮนเน็นกับพวกที่เชื่อกลักแมน พวกที่เชื่อโบเฮนเน็นคือคนที่ใช้ข้อมูลภาคสนาม ส่วนคนที่เชื่อกลักแมนคือนักกฎหมาย
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของกฎหมาย ลีโอโพล พอสพิซิล(1967) และนักวิชาการคนอื่นๆต่างค้นหานิยามที่ถูกต้องของกฎหมายเพื่อนำไปใช้อธิบายกฎสากลของกฎหมาย ในทศวรรษที่ 1980 การค้นหาความจริงเกี่ยวกับกฎสากลของกฎหมายค่อยๆเสื่อมถอยลงไป การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งในสหรัฐอเมริกาและวัฒนธรรมอื่นๆเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจ นักมานุษยวิทยาบางคนพยายามจัดประเภทของกฎหมายในวัฒนธรรมต่างๆ บางคนศึกษาวิวัฒนาการของกฎหมายในแต่ละวัฒนธรรม ศึกษารูปแบบของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น การศึกษาของแครอบ กรีนเฮาส์(1986) ศึกษากลุ่มศาสนานิกายแบบติสต์ในภาคใต้ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่เชื่อระบบศาล แต่ให้ความเคารพต่อกฎศาสนาและพระเจ้าเท่านั้น การศึกษาของลอรา เนเดอร์(1990) ศึกษาชนเผ่าซาโพเท็ค เกี่ยวกับเรื่องความสามัคคีที่เกิดจากการความขัดแย้งที่มีแบบแผนตายตัว
ในทศวรรษที่ 1980 ความสนใจเกี่ยวกับวาทกรรมและสำนวนภาษาในกฎหมายเกิดขึ้นชัดเจน รวมทั้งมิติประวัติศาสตร์ของกฎหมาย ช่วงชั้นและการขัดขืนต่อต้าน และวิธีการศึกษาใหม่ๆในการทำความเข้าใจความคิดในการสร้างกฎหมายพื้นบ้าน ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นนักมานุษยวิทยาจะเก็บข้อมูลภาคสนามในหลายวัฒนธรรม แต่การศึกษาที่มีคุณภาพมาจากนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาความขัดแย้งและระบบศาลของสหรัฐ การศึกษาวาทกรรมของกฎหมายและการใช้ภาษาในศาล ทำให้เห็นว่าภาษาได้สร้างอัตลักษณ์และการจัดประเภทได้อย่างไร และภาษาทำให้เกิดผลตามมาอย่างไร ภาษาทางกฎหมายคือประเด็นข้อวิจัยสำหรับการศึกษาในแนวนี้
การศึกษาเรื่อง History and Power in the Study of Law New Direction in Legal Anthropology(1989) และ Ethnography and the Historical Imagination(1992) ต่างให้ข้อมูลในมิติประวัติศาสตร์ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถาบันทางกฎหมาย ความคิดและกระบวนการทางกฎหมาย และหนทางที่กฎหมายเข้าไปจัดลำดับช่วงชั้นและการกดขี่ข่มเหง กฎหมายจึงถูกมองว่าเป็นความลำเอียง และเป็นความสัมพันธืเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม การศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นความขัดขืนที่มีต่อระบบกฎหมาย การคำนึงถึงบริบททางชาติพันธุ์ในเรื่องเกี่ยวกับช่วงชั้น การกีดกัน และการสร้างสรรค์ นำไปสู่การพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในศาล มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความเป็นเจ้าของ” ช่วงชั้นและการแบ่งแยกพรมแดนคือประเด็นที่ใช้พิจารณากฎหมายที่มีในระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และระดับชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยากำลังให้ความสนใจมากขึ้น
การตีความด้วยมุมมองมนุษยนิยม ทำให้กฎหมายเป็นรูปแบบของจินตนาการเพื่อสร้างความจริงแบบหนึ่ง กฎหมายมิใช่สิ่งมั่นคงถาวรที่ตัดขาดจากบริบทอื่นๆ การตีความในลักษณะนี้จะสนใจวาทกรรมและการตีความกฎหมาย เช่นเดียวกับการอธิบายว่ากฎหมายทำให้มองเห็นวัฒนธรรมโดยเฉพาะความคิดของคนสองกลุ่ม คือนักฎหมายกับคนธรรมดา ในประเทศโมร็อคโค การตัดสินของศาลมิได้ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับกฎศาสนาและความสัมพันธ์ทางสังคม บทบาทของกฎหมายในทางขนบธรรมเนียมประเพณี และวิธีการที่กฎหมายถูกสร้างขึ้นมา วิธีการที่กฎหมายถูกใช้ และถูกตีความ นำไปสู่การศึกษาในแนวใหม่
การศึกษาของกฎหมายของชาวเยเมนและชาวทิเบต มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะทางสังคมของกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายที่เป็นคำบอกเล่ากับกฎหมายที่ถูกบันทึก บทบาทของกฎหมายในการบังคับใช้ และลักษณะทางวัฒนธรรมของกฎหมาย นอกจากนั้นยังตั้งคำถามเรื่องผู้ที่ทำงานด้านกฎหมาย การปฏิบัติและการใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่คงที่
อาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีทางมานุษวิทยาที่ใช้ศึกษากฎหมายนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของระบบกฎหมาย ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนจะตรงข้ามกับความสัมพันธ์เชิงเดี่ยว ในสังคมขนาดเล็กจะมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนที่เชื่อมโยงมิติสังคมวัมฒนธรรมต่างๆเข้าด้วยกัน ส่วนสังคมเมือง ระบบกฎหมายจะพบในความสัมพันธ์เชิงเดี่ยวที่เกิดขึ้นในสถาบันเฉพาะด้าน ความแตกต่างนี้จะถูกตีความใหม่หลายครั้ง ตัวอย่างเช่น การอธิบายคำว่า “ความซับซ้อน” หมายถึงการไกล่เกลี่ย ส่วนคำว่า “ผลประโยชน์เชิงเดี่ยว” หมายถึงความขัดแย้งที่มีด้านตรงข้าม อาจมีข้อสงสัยว่าความขัดแย้งในสถานการณ์ที่ซับซ้อนจะหมายถึงความสัมพันธ์ทางสังคมหรือไม่ ความแตกต่างนี้มีเรื่องให้คิดหลายประการ กล่าวคือ กฎหมายอาจใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ถ้าเป็นกฎหมายในสังคมที่ยังคงใช้วัฒนธรรมประเพณีมาเกี่ยวข้อง
พอสพิซิล(1967) ได้สร้างตัวแบบความซับซ้อนของกฎหมาย ซึ่งจะมีกลุ่มคนต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทฤษีของพอสพิซิล อธิบายว่าบุคคลในสังคมต่างเกี่ยวข้องกับกฎหมายในลักษณะต่างๆ เช่น ครอบครัว วัด ชุมชน ที่ทำงาน และรัฐ แต่ละหน่วยจะมีกฎของตัวเอง โบเฮนเน็นอธิบายว่ากฎประเพณีกลายเป็นกฎหมายเมื่อกฎนั้นกลายเป็นสถาบันที่ถาวรภายใต้ระบบกฎหมาย ซึ่งทำให้กฎแบบนี้รองรับได้ทั้งที่เป็นเรื่องประเพณีและเรื่องทางกฎหมาย แซลลี เมอร์รี(1990) จอห์น คอนลีย์ และวิลเลียมส์ โอ บาร์(1990) ศึกษาความแตกต่างกันระหว่างกฎหมายที่เป็นจริง กับกฎหมายที่ขัดกับความจริงในสังคมอเมริกา กฎหมายที่เป็นจริงจะเกี่ยวกับเรื่องสถานะที่มั่นคงและสูงส่งของผู้ชาย ส่วนกฎหมายที่ไม่ตรงกับความจริงจะเกี่ยวข้องกับผู้หญิง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.697-700.
Gluckman, Max. 1967. The Judicial Process Among the Barotse of Northern Rhodesia. Manchester University Press.
Malinowski, Bronislaw 1985[1926] Crime and Custom in Savage Society. Totowa, New Jersey: Rowman & Allanheld.
Pospisil, Leopold 1974. The Anthropology of Laws: A Comparative Theory. HRAF Press.
Sally Falk, 2004. Law and Anthropology: A Reader. Blackwell
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยากฎหมาย