Leisure
เวลาว่าง คือ เวลาอิสระที่มนุษย์สามารถทำสิ่งต่างๆได้นอกเหนือไปจากงานในอาชีพและภาระหน้าที่ประจำ แต่อย่างไรก็ตาม การนิยามความหมายของ “เวลาว่าง” ก็ยังเป็นเรื่องยากเพราะการทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์อาจไม่ได้แบ่งเวลาแยกขาดจากกันเด็ดขาด นักมานุษยวิทยา อัลเฟร็ด แอล โครเบอร์(1948) และ ฟีลิค คีซิ่ง(1960) อธิบายเกี่ยวกับเรื่องเวลาว่างในฐานะเป็นเวลาของการสร้างสรรค์และคิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆ โบแอซ (1940) และ วี กอร์ดอน ไชลด์(1951) อธิบายว่าเวลาว่างคือสิ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาเหล่านี้เชื่อว่าการทำกสิกรรมแบบอาศัยปัจจัยธรรมชาติทำให้มนุษย์มีเวลาว่างในการทำงานอื่นๆ เช่น งานที่อาศัยความชำนาญ งานช่าง งานหัตถกรรมต่างๆ กสิกรรมทำให้มีอาหารมากขึ้น ประชากรของมนุษย์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มนุษย์คิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆขึ้นมา เวลาว่างจึงเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกว่าวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ทฤษฎีเกี่ยวกับผลผลิตส่วนเกิน เป็นทฤษฎีที่ได้รับความสนใจในมานุษยวิทยาเนื่องจากทำให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 จนถึงกลางทศวรรษที่ 1950 อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น การศึกษาวิจัยได้พบว่ามนุษย์ในสังคมเกษตรไม่ค่อยมีเวลาว่าง เพราะการเกษตรต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ในหลายขั้นตอน และเวลาว่างก็อาจถูกใช้ไปกับการคิดและสร้างสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องการการผลิตในภาคเกษตร ความสัมพันธ์ของเวลาว่างกับวิวัฒนาการและความก้าวหน้าของวัฒนธรรมคือประเด็นหลักที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจ นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยายังสนใจเรื่องรูปแบบของเวลาว่างด้วย อย่างไรก็ตาม เวลาว่างก็ยังเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยายังสนใจน้อย ถึงแม้จะมีการพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมที่ผ่านการแสดงออก เช่น ศิลปะ ดนตรี ละคร เกมส์ เทศกาล วรรณกรรม การเต้นรำ การแสดง และระบบสัญลักษณ์อื่นๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องของเวลาว่างโดยตรง
เวลาว่างจะถูกมองว่าเป็นเวลาที่อิสระ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอิสระนี้ได้เป็นการพักผ่อน เช่น การเล่นเกมส์ กีฬา การอ่านหนังสือ การพักแรม หรือดูโทรทัศน์ ถึงแม้ว่าการพักผ่อนและเวลาว่างจะมีลักษณะคล้ายกัน และมักจะถูกเรียกรวมกันว่า “กิจกรรมในยามว่าง” ในสังคมจารีตประเพณี เวลาว่างของสตรีคือการทำงานบ้าน งานในไร่นา หรือไปจ่ายตลาด สิ่งเหล่านี้คือเวลาว่างทางสังคมของผู้หญิง เพราะการทำสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงได้พบปะเพื่อนๆ จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าทั้งเวลาอิสระและเวลาทำงานต่างไม่ใช่ความหมายของเวลาว่าง แต่บริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาอิสระและเวลาทำงานคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเวลาว่างคืออะไร
คนหนุ่มและคนสูงอายุ คนทุพพลภาพ หรือนักโทษในเรือนจำ อาจมีเวลาอิสระของตัวเอง แต่เวลาของคนเหล่านี้จะไม่ถูกมองว่าเป็นเวลาว่าง ในทำนองเดียวกัน มีรายงานจากมิชชันนารี เจ้าหน้าที่อาณานิคม และนักเดินทาง เกี่ยวกับชนพื้นเมืองที่มีเวลาว่างหรือมีลักษณะที่อยู่ว่างๆไม่ทำอะไรเลย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวตะวันตกมองดูชนพื้นเมืองแบบดูถูกดูแคลน และเป็นความเข้าใจผิดๆของชาวตะวันตกที่ว่าคนพื้นเมืองเป็นคนขี้เกียจเพราะอยู่ในวัฒนธรรมที่ล้าหลัง ตัวอย่างเช่น ไม่มีความจำเป็นที่มนุษย์ในสังคมที่ยังไม่รู้จักการเก็บกักตุนอาหาร ต้องแสวงหาอาหารมาเกินความต้องการของตัวเอง การศึกษาของมาร์แชล ซาลินส์(1972) กล่าวถึงชาวเซนว่าเป็นสังคมที่มั่งคั่ง แต่ปีเตอร์ จัสต์(1980) อธิบายว่าชาวเซนเป็นพวกที่ขี้เกียจ
นิยามทางสังคมวิทยาอธิบายว่า เวลาว่างเป็นเรื่องของอิสระของทางเลือก เป็นความสนุกสนาน และปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก นิยามดังกล่าวนี้ถึงแม้ว่าจะน่าประทับใจแต่ก็ทำให้เกิดความคลางแคลง โดยเฉพาะนักมานุษยวิทยาไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องยากที่จะนิยามว่าอะไรคือ “เวลาว่าง” โดยเฉพาะในวัฒนธรรมที่ต่างกัน ในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเวลาเป็นเรื่องมีค่า เวลากลายเป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ และต้องใช้เวลาอย่างระมัดระวัง จัสต์(1980) ตั้งข้อสังเกตว่าในสังคมอุตวาหกรรม การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดการมีเวลาอิสระน้อยลง รูธ มูนโร(1983) ศึกษาสังคมชางคุง ซาน ชนเผ่ามาชิเกนกา ชนเผ่าคันชิโน ชนเผ่าคิคูยู ชนเผ่าโลโกลี และผู้หญิงชาวอเมริกัน การศึกษาพบว่าชาวคุง ซาน และชาวมาชิเกนกาเป็นพวกที่เร่ร่อนหาอาหาร ส่วนชนเผ่าอื่นๆเป็นพวกทำกสิกรรม มูนโรพบว่าในสังคมกสิกรรม มนุษย์จะสูญเสียเวลาในการทำงานต่างๆมากกว่ามนุษย์ที่เร่ร่อน เช่น ต้องขุดดิน เลี้ยงสัตว์ จัดเตรียมอาหาร เตรียมแรงงาน และทำงานอื่นๆ ถ้าเวลาว่างเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับเวลาทำงาน อาจจะกล่าวได้ว่าสมาชิกในสังคมที่มีความซับซ้อน จะมีเวลาว่างมากกว่าสมาชิกในสังคมที่เรียบง่าย
โจชัว รูบิ้น (1986) เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เวลาของชนพื้นเมือง 4 กลุ่มในเขตอะเมซอน เพื่อพิจารณาว่าคนเหล่านั้นมีประสบการณ์อย่างไรต่อการใช้เวลาว่าง ชนทั้ง 4 กลุ่มมีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายกัน อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายกันคือในตอนกลางของประเทศบราซิล แต่ละกลุ่มยังชีพด้วยการปลูกพืชแบบไร่หมุนเวียน และบางกลุ่มอาจเก็บของป่าล่าสัตว์ อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่มมีความต่างกันในแง่การติดต่อกับชาวบราซิล กล่าวคือ ชนเผ่าคาเนล่า และชนเผ่าโบโร่โร่ อาศัยอยู่ในเขตสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลาย ในขณะที่ชนเผ่าซาวังเต และชนเผ่าเมกราโนตี อาศัยอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่า รูบิ้นอธิบายว่าการใช้เวลาว่างของชนเผ่าทั้ง 4 กลุ่มนี้ แสดงให้เห็นการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมของถิ่นอาศัยและการยังชีพ นอกจากนั้นยังบ่งบอกว่าชนทั้ง 4 เผ่ามีวิธีการหาอาหารและบริโภคที่ต่างกัน เวลาว่างของชนทั้ง 4 เผ่าคือเวลาของการทำกิจกรรมที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการหาอาหารหรือผลิตอาหาร และบางครั้งเวลาว่างอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารอย่างใกล้ชิด กิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากได้แก่การเต้นรำ ดังนั้นการทำกิจกรรมประเภทนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของอาหาร ข้อสมมุติฐานก็คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในยามว่างอาจใช้เวลามากขึ้น เมื่อกิจกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตและหาอาหารมีน้อยลง
การวิเคราะห์การใช้เวลาดังกทำให้เห็นลักษณะที่ต่างกัน 2 แบบของการใช้เวลาว่าง ในชนเผ่าซาวังเตและเมกราโนตีมีการใช้พลังงานมากเพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ ส่วนชนเผ่าคาเนล่าและโบโรโร่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมกว่า ชนสองกลุ่มหลังนี้ใช้เวลาในการหาอาหารน้อยกว่า ซึ่งทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น ชนเผ่าซาวังเตและเมกราโนตีจะใช้เวลาว่างที่ใช้พลังงานมาก เด็กในสังคมคาเนล่าจะใช้เวลาน้อยและพักผ่อนมากกว่า เด็กชาวโบโรโร่จะใช้เวลาทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้พลังงานมาก แตกต่างจากชนเผ่าซาวังเตและเมกราโนตี ซึ่งเด็กๆจะใช้เวลาเล่นมากกว่านอน รูบิ้นพบว่าลักษณะของสภาพแวดล้อมกับการใช้พลังงานในเวลาว่างมีความสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะกิจกรรมของเด็กๆที่ใช้ในเวลาว่างสามารถบ่งชี้ได้ว่าพลังงานที่ใช้ไปมากน้อยแค่ไหนในสภาพแวดล้อมต่างๆ สมาชิกของกลุ่มไม่จำเป็นต้องรู้ว่าควรจะแบ่งสรรเวลาอย่างไรหรือจะได้ประโยชน์จากอะไร การเลือกที่จะทำงานมิได้เป็นสิ่งที่สำคัญ กล่าวคือมนุษย์ที่อยู่อาศัยในเขตสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมไม่ต้องการสิ่งของเครื่องใช้มากนัก ลักษณะเดียวกันนี้พบในสัตว์ตระกูลไพรเมทที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กันดาร สัตว์พวกนี้จะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการแสวงหาอาหารมากกว่าที่จะวิ่งเล่น
ตัวอย่างกลุ่มคนยากจนและกลุ่มคนชั้นกลางในวัฒนธรรมอเมริกัน-ยุโรป กลุ่มคนทั้งสองนี้มีความต่างกันในเรื่องการใช้เวลาว่าง เวลาว่างในความหมายที่เป็นเวลาอิสระอาจพบได้ในแต่ละวัฒนธรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการยังชีพและความซับซ้อนทางวัฒนธรรม แต่การใช้เวลาว่างอิสระเพื่อการทำงานหรือการพักผ่อนอาจต่างกัน
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Borsay, Peter. 2006. A History of Leisure: The British Experience since 1500, Palgrave Macmillan
David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.701-704.
Garry Chick. 1998. Leisure and culture: Issues for an anthropology of leisure. Leisure Sciences: An Interdisciplinary Journal, Volume 20, Issue 2, 111-133.
Rojek, Chris, Susan M. Shaw, and A.J. Veal (Eds.) 2006. A Handbook of Leisure Studies. Houndmills, UK: Palgrave Macmillan.
หัวเรื่องอิสระ: เวลาว่าง