คำศัพท์

Animal Domestication

       การเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์มีประวัติมายาวนาน โดยเชื่อว่าปรากฎขึ้นในยุคหินกลาง เมื่อประมาณ 9,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยมนุษย์นำสัตว์ป่าที่ล่ามาเลี้ยงไว้ในครัวเรือน สัตว์ชนิดแรกๆที่มนุษย์นำมาเลี้ยง เช่น สุนัข แกะ แพะ ฯลฯ จนกระทั่งถึงยุคหินใหม่ที่มนุษย์เริ่มทำกสิกรรมอย่างจริงจัง แบบแผนการเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือนก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

        นักโบราณคดีชาวฮังการี ชื่อ แซนเดอร์ โบคอนยี  อธิบายว่า สัตว์เลี้ยงหมายถึงสัตว์ที่ถูกมนุษย์จับมาขังและทำให้เชื่อง และทำให้เกิดคุณลักษณะหรือพฤติกรรมบางอย่างต่างไปจากเดิม สัญชาตญาณตามธรรมชาติจะหายไป และลูกหลานของสัตว์ที่นำมาเลี้ยงโดยมนุษย์ก็จะถูกควบคุม    คำนิยามของโบคอนยียังคงมีข้อโต้แย้งว่าการคุมขังสัตว์และทำให้เชื่องจะเป็นวิธีการทำให้เกิดสัตว์เลี้ยงได้หรือไม่ เพราะ การทำเชื่อง การตกลูก และการเลี้ยงมีลักษณะที่ต่างกัน  การทำให้เชื่องหมายถึงการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะระหว่างคนกับสัตว์ สัตว์จะถูกเปรียบเหมือนคนๆหนึ่งที่เป็นสมาชิกในบ้าน   ส่วนการเลี้ยงเป็นความสัมพันธ์เชิงนิเวศน์ระหว่างคนกับสัตว์ ทั้งคนและสัตว์ต่างใช้ประโยชน์ในสภาพแวดล้อมเพื่อการทำมาหากินและการสืบเผ่าพันธุ์   สุดท้ายคือการตกลูกหมายถึงความสัมพันธ์เชิงวิธีการ เช่น การเพาะพันธุ์สัตว์ตามแบบที่เหมาะสม

          มนุษย์เกี่ยวข้องกับสัตว์ในหลายลักษณะ สัตว์ที่เชื่องมักจะถูกเลี้ยงไว้ในครัวเรือน มิใช่สมบัติของชุมชน  ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงเป็นฝูงใหญ่ๆอาจไม่จำเป็นต้องเชื่องนัก  ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เป็นฝูง หรือเจ้าของปศุสัตว์จะรู้ว่าขนาดของฝูงสัตว์เป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะมีสัตว์อื่นๆปะปนมาบ้าง เช่น สัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยงของคนอื่น ทั้งสัตว์เลี้ยงตามบ้านและสัตว์ในฝูงปศุสัตว์ต่างก็ต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อสร้างลูกหลานที่เหมาะสม  เช่นกวางเรนเดียร์ที่เลี้ยงไว้ในบ้านทางตอนเหนือของยูเรเซีย ยังคงมีสภาพเช่นเดียวกับกวางเรนเดียร์ที่อยู่ในป่าธรรมชาติ  เมื่อมีการคัดเลือกสายพันธุ์ ลูกที่เกิดใหม่ก็อาจต่างไปจากพ่อแม่

       ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สัตว์เลี้ยงในฟาร์มทุ่งหญ้าของอเมริกาภาคตะวันตก ล้วนเป็นสัตว์ในธรรมชาติ แต่ต่อมาก็กลายเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์  การเปลี่ยนแปลงสภาพสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงจึงมีวิธีการหลายแบบ  วิธีแรก ได้แก่ การทำให้เชื่อง สัตว์ที่ทำให้เชื่องอาจเป็นสมบัติส่วนตัว เป็นของเล่น และเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน สัตว์บางชนิดอาจถูกฝึกให้ทำหน้าที่บางอย่าง เช่น ล่าสัตว์ ช่วยเหลือมนุษย์ ช่วยจับหนู ช่วยส่งข่าว เล่นการแสดง ให้ความบันเทิง ช่วยขนส่ง เป็นยานพาหนะ หรือช่วยในสนามรบ  ดังนั้นการทำให้สัตวืแต่ละชนิดเชื่องจึงขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของสัตว์ประเภทนั้นๆ  

       สัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดจะมีความผูกพันธ์กับมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต ชาวพื้นเมืองในออสเตรเลียที่มีชีวิตแบบเร่ร่อนจับสุนัขป่ามาเลี้ยงไว้ตั้งแต่อายุน้อยๆเพื่อใช้งาน  ชนเผ่าในปาปัวนิวกินีเลี้ยงหมูไว้เป็นสัตว์เลี้ยง แต่มันก็สามารถไปหาคู่ตามธรรมชาติกับหมูป่าและกลับมาอยู่กับคนได้อย่างอิสระ 

        วิธีที่สองคือการเลี้ยงสัตว์แบบฝูง  สัตว์เลี้ยงประเภทนี้จะเลี้ยงไว้เป็นอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร เช่น น้ำนม น้ำมัน ขน กระดูก เอ็น เป็นต้น  สิ่งตอบแทนที่สัตว์เลี้ยงจะได้จากมนุษย์คือการปกป้องคุ้มครองจากศัตรู  ชนเผ่าเซมีในแลปแลนด์ยังชีพด้วยการเลี้ยงกวางเรนเดียร์  กวางเรนเดียร์จะช่วยเป็นพาหนะในการขนสัมภาระต่างๆ

       วิธีที่สามคือการเพาะพันธุ์   เป็นวิธีการเปลี่ยนคุณลักษณะของสัตว์จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งโดยอาศัยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม ลูกที่เกิดจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีก็จะเป็นสายพันธุ์ที่ดีต่อไป  ในเขตเอเชียตะวันตกเฉียงใต้  จะมีการเพาะพันธุ์แกะที่มีขนยาวเพื่อนำไปทำเสื้อขนสัตว์กันหนาว ในเขตประเทศเปรู มีการเพาะพันธุ์อัลปาคาเพื่อให้ได้ลูกหลานที่มีขนยาวสำหรับนำไปเป็นเส้นใยทอผ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูง  ในเขตยุโรปมีการเพาะพันธุ์วัวที่ให้ไขมันดีเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสบู่และเทียนไข

         การเพาะพันธุ์สัตว์ในมุมมองทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาคือการการคัดเลือกสายพันธุ์สัตว์ที่ดีเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์  สัตว์เลี้ยงในครัวเรือนเป็นสมบัติของบุคคล แต่สัตว์ป่าไม่ใช่สมบัติของคนใดคนหนึ่ง   ตัวอย่างเช่น ในเขตแล็ปแลนด์ การเป็นเจ้าของกวางเรนเดียร์จะมีสัญลักษณ์ที่หูของกวาง เจ้าของกวางจะเป็นผู้ทำสัญลักษณ์ขึ้นมาเพื่อแสดงว่ากวางตัวนนั้นมีเจ้าของแล้ว หรือเป็นทรัพย์สินส่วนตัว  เจ้าของกวางจะทำสัญลักษณ์ต่อๆไปยังลูกวางที่เกิดใหม่  ส่วนกวางที่ไม่มีสัญลักษณ์ที่หูจะเป็นกวางตามธรรมชาติไม่มีเจ้าของ  สัญลักษณ์บนสัตว์เลี้ยงจึงเป็นวิธีการบ่งบอกว่าสัตว์ตัวนั้นใครคือผู้ครอบครอง

        ในปี ค.ศ.1975 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อ ปิแอร์ ดูโคส  สร้างนิยามของสัตว์เลี้ยงว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่กับมนุษย์และเป็นสมบัติที่มนุษย์นำไปใช้ประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ใช้แลกเปลี่ยน ค้าขาย เป็นมรดก เช่นเดียวกับวัตถุสิ่งของอื่นๆที่มนุษย์มี     นิยามของดูโคสช่วยให้เข้าใจความแตกต่างที่มนุษย์สัมพันธ์กับสัตว์ คำถามสำคัญสองอย่างคือ หนึ่ง ทำไมในบางสังคมสัตว์บางประเภทจึงถูกเลือกให้มีความสำคัญ แต่สัตว์บางชนิดกับไม่มีความหมาย  สอง  อะไรคือความเกี่ยวข้องกันระหว่างสายสัมพันธ์ทางสังคมที่มนุษย์มีต่อสัตว์ และสายสัมพันธ์ที่มนุษย์ทำให้สัตว์เชื่อง

          สัตว์อาจเป็นของกำนัล ของใช้ เป็นสมบัติ หรือสินสอดในการแต่งงาน  สัตว์ที่ถูกใช้ในมิตินี้จะให้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและแรงงานให้มนุษย์  สัตว์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในครัวเรือนจนกระทั่งมันตายไป   ในเขตตะวันออกของแอฟริกา ชนเผ่ามาไซ   แซมบูรู และเรนดิลล์ เป็นพวกเลี้ยงสัตว์เป็นฝูงจำนวนมาก เช่น วัวควาย แพะ แกะ อูฐ เป็นต้น  ชาวมาไซจะเลี้ยงวัวไว้เพื่อเอานมมาเป็นอาหาร นอกจากนั้นยังมีไว้เป็นพาหนะในการขนส่ง  การมีสัตว์เลี้ยงในครอบครองยังหมายถึงการมีสิทธิในตัวสัตว์นั้นของผู้เป็นเจ้าของ  การเลี้ยงแกะและแพะในเขตเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และการเลี้ยงกวางในเขตแล็ปแลนด์และภาคเหนือของไซบีเรีย สัตว์จะถูกเลี้ยงเป็นฝูงใหญ่ แต่สัตว์แต่ละตัวจะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับมนุษย์ ครัวเรือนจะทำหน้าที่เป็นเจ้าของดูแลฝูงสัตว์ร่วมกัน

        การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์มีสองแนวทาง คือ หนึ่ง วิธีการที่มนุษย์เข้าไปจัดการกับสัตว์ในธรรมชาติ และสอง มนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์กับสัตว์  ในตะวันตกเชื่อว่าสัตว์ที่ถูกทำให้เชื่องมีสภาพเหมือนเป็นบุคคล สัตว์เลี้ยงในบ้านของตะวันตกจึงเหมือนสมาชิกคนหนึ่ง  แต่ในสังคมอื่นๆ สัตว์เลี้ยงจะดูมองว่ามีค่าเทียบเท่ากับคนๆหนึ่ง สัตว์จะได้รับเคารพยกย่อง  แต่ในสังคมสมัยใหม่ สัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มจะมีค่าเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง   ความแตกต่างระหว่างมนุษย์ในฐานะเป็นบุคคล กับสัตว์ในฐานะเป็นวัตถุในธรรมชาติเป็นประเด็นที่ไดัรับความสนใจมากขึ้นในยุคอุตสาหกรรม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.60-63.

Ryden, Hope. 1995. Out of the Wild: The Story of Domesticated Animals. Dutton Juvenile.


หัวเรื่องอิสระ: การเลี้ยงสัตว์