Love
นักประวัติศาสตร์อธิบายว่า “ความรักแบบเสน่หาอาวรณ์” เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่พบเห็นได้ในสังคมตะวันตก ลอว์เรนส์ สโตนกล่าวว่า ถ้าความรักโรแมนติกเกิดนอกทวีปยุโรป มันก็เป็นเพียงความรักของชนชั้นสูงที่มีเวลาสำหรับการหาความสุนทรีย์ ความคิดเรื่องรักของชาวยุโรปนั้นวางอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าทุกๆอย่างมีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปตามคติสมัยใหม่และปัจเจกนิยม ซึ่งทำให้ความรักก่อตัวเป็นรูปร่างอย่างชัดเจน นักประวัติศาสตร์โต้แย้งว่าการพลอดรัก การเกี้ยวพาราสีของชาวยุโรปสมัยโบราณ ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวความปรารถนาและเสน่หา การแต่งงานของชาวยุโรปวางอยู่บนพื้นฐานของความรัก ในขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าความรักประเภทอื่นๆอาจเกิดขึ้นได้นอกเหนือจากการแต่งงาน และมาตรฐานความรักของตะวันตกก็ได้กลายเป็นวัฒนธรรมสากลในเวลาต่อมา นักจิตวิทยาชื่อพอล โรเซนบลัตต์ กล่าวว่าสังคมได้สร้างความหมายของความรักขึ้นมาจนกลายเป็นความจริงที่รับรู้กันทั่วไป
แนวคิดของโรเซนบลัตต์เชื่อว่าความรักเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่พยายามสร้างจินตนาการเกี่ยวกับคนรักและความรัก ความใคร่ เงื่อนไขทางสังคมของความรักเป็นตัวหล่อหลอมปัจเจกบุคคลให้เชื่อว่าความรักควรจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา การศึกษาของนักมานุษยวิทยา และนักจิตวิทยาแนววิวัฒนาการอธิบายว่าความรักเป็นเรื่องสากล โดยกล่าวว่ารักโรแมนติกเป็นเรื่องทางจิตใจ ซึ่งต้องการแสวงหาการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ปรารถนา แนวคิดวิวัฒนาการเชื่อว่ามนุษย์ได้พัฒนาความรักมาเป็นลำดับ ความรักแบบเสน่หาจึงเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขทางชีววิทยา ความรักจะถูกแสดงออกมา และปรากฏขึ้นทางสังคมในบริบทของการเกี้ยวพาราสี
ไมเคิล ลีโบวิตซ์ ใช้กรอบคิดเชิงชีววิทยาอธิบายความรักว่าเป็นประสบการณ์ทางร่างกาย สารเคมีในร่างกายบางอย่างจะถูกหลั่งออกมา ทำให้บุคคลเกิดอารมณ์ ความรักจึงเกิดจากพลังในร่างกาย ในสมองซึ่งอยู่นอกพรมแดนทางสังคม ความรักแบบเสน่หาอาจประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ 1) การสร้างจินตนาการเกี่ยวกับคนรัก 2) การสร้างอารมณ์ปรารถนา และ 3)การคาดหวังในความรักที่ยืนยาวในอนาคต ความเสน่หาในเงื่อนไขทางจิตวิทยาเป็นตัวกำหนดวิธีการเกี้ยวพาราสี หรือการหาคู่ ความรักโรแมนติกเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความรักที่ยืนยง ซึ่งต้องการความสงบ ความผ่อนคลาย
การศึกษาของนักมานุษยวิทยา อธิบายว่าความรักโรแมนติกเป็นเรื่องของการแสดงออกเกี่ยวกับอุดมคติของความรัก การศึกษาของวิลเลียม แจนโคเวียค และเอ็ดเวิร์ด ฟิชเชอร์ ศึกษาพบว่ามีความรักโรแมนติกเกิดขึ้นในวัฒนธรรมต่างๆ ประมาณ 88.5 เปอร์เซ็นต์จากตัวอย่าง 166 แห่ง การศึกษาสรุปว่าความรักโรแมนติกเป็นเรื่องสากล หรืออย่างน้อยเกือบเป็นเรื่องสากล กล่าวคือความรักในทำนองนี้เป็นอารมณ์ที่มีพลังอำนาจระหว่างคนสองคน นั่นคือชายกับหญิง ทางเลือกในการหาคู่มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมตะวันตก แต่พบได้ในหลายวัฒนธรรม ในสังคมชนเผ่าหลายแห่งจะอนุญาตให้บุคคลเลือกคู่ครองตามต้องการ ในสังคมที่บุคคลสามารถมีภรรยาหรือสามีได้หลายคน ภรรยาหรือสามีคนแรกอาจถูกพ่อแม่เลือกไว้ให้ แต่ภรรยาหรือสามีคนต่อไป บุคคลสามารถเลือกได้เอง วัฒนธรรมจึงอาจถูกท้าทายด้วยอารมณ์ปรารถนาของบุคคล ในบางสังคม ความรักโรแมนติกจะถูกปฏิเสธเพราะเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ในบางสังคมยกย่องความรักโรแมนติกว่าเป็นอุดมคติสูงส่ง อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจังเท่าที่ควร
การศึกษาส่วนใหญ่จะอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและอุดมคติเกี่ยวกับความรักซึ่งเป็นพื้นฐานการแต่งงาน วิลเลียม กู้ดอธิบายว่าวัฒนธรรมของความรักที่พบเห็นเกิดขึ้นบนเงื่อนไขของเศรษฐกิจในครอบครัว สิ่งนี้ต่างจากบริบทที่ทำให้ความรักดำรงอยู่ในสังคม เศรษฐกิจของครัวเรือนที่เปลี่ยนจากหน่วยผลิตไปเป็นหน่วยของการบริโภค การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้หนุ่มสาวเป็นอิสระจากครัวเรือนมากขึ้น การแต่งงานจึงเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของครัวเรือนทำให้นิยามความรักเปลี่ยนไปจากเดิม ความรักโรแมนติกจึงปรากฏขึ้น คู่รักต่างเป็นคนที่เลือกซึ่งกันและกัน ความรักโรแมนติกจึงเป็นการนิยามครอบครัวและเป้าหมายชีวิตแบบใหม่
อาจกล่าวได้ว่าความรักโรแมนติกเป็นเรื่องของแต่ละวัฒนธรรม ประสบการณ์ของความรักโรแมนติกอาจมิใช่สิ่งเดียวกับเรื่องความใคร่ หรือความต้องการทางเพศเสมอไป บุคคลในแต่ละวัฒนธรรมจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรักแตกต่างกันไป ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์ของบุคคลที่มีความรักหรือสูญเสียความรักไป ดังนั้นความรักโรแมนติกจึงยังเป็นสิ่งที่คลุมเคลือมาก ในหนังสือของเจนนิเฟอร์ เฮิร์ช และฮอลลี วอร์ดโลว์ (2006) เรื่อง Modern Love อธิบายว่าความรักโรมแนติกเกี่ยวข้องกับความคิดแบบสมัยใหม่ที่บุคคลต้องการแสวงหาตัวตนและการได้รับการยอมรับ วาทกรรมความรักในยุคเสรีนิยมใหม่ทำให้บุคคลโหยหาและค้นหาตัวตนผ่านอารมณ์ความปรารถนา ทำให้นิยามความรักกลายเป็นเรื่องคุณค่าของปัจเจกชนนิยม
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Anthony Giddens 1992. The Transformation of Intimacy: Sexuality, Love and Eroticism in Modern Societies, Oxford: Polity Press
Charles Lindholm. 2006. Romantic Love and Anthropology. Etnofoor, Vol. 19, No. 1, 5-21.
Jennifer S. Hirsch and Holly Wardlow. (eds.) 2006. Modern Loves: The Anthropology of Romantic Courtship and Companionate Marriage. University of Michigan Press.
Wiilaim Jankowiak “Love” ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.718-719.
William Jankowiak (ed.) 2008 Intimacies, Sex, and Love Across Cultures, New York: Columbia University Press
หัวเรื่องอิสระ: ความรัก