Magic
เวทมนต์ เป็นศิลปะที่อาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติเข้าไปควบคุมเหตุการณ์ต่างๆให้เกิดผลบางอย่าง โดยผู้มีเวทมนต์ต้องมีวิชาความรู้และสามารถติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติได้ การกระทำดังกล่าวนี้อาจดูเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเชื่อถือไม่ได้ในความคิดของชาวตะวันตก ทำให้การศึกษาเรื่องเวทมนต์ถูกตีความและอธิบายด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการทางศาสนา ซึ่งชาวตะวันตกมองว่าสังคมที่เชื่อเรื่องเวทมนต์ยังเป็นสังคมล้าหลังป่าเถื่อน เช่น ชนเผ่าที่อยู่ในเขตแอฟริกา ลาตินอเมริกา เอเชีย และหมู่เกาะต่างๆ ส่วนสังคมที่เจริญแล้วอย่างตะวันตกจะไม่เชื่อเรื่องเวทมนต์ แต่จะนับถือศาสนา
ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 คือช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของวิทยาศาสตร์ และระบบเหตุผล นักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อว่าโลกประกอบขึ้นด้วยวัตุสสารที่สามารถพิสูจน์ได้ และกล่าวโจมตีเรื่องราวของเวทมนต์คาถาว่าเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะเยาะ เรื่องเวทมนต์จึงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องลับๆ (เรื่องใต้ดิน) และพัฒนาต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งยุโรปกำลังนิยมความคิดแบบโรแมนติก และวิทยาศาสตร์กำลังสนใจเรื่องทางวัตถุ การศึกษาเรื่องราวทางเวทมนต์ในช่วงเวลานี้ได้แก่การศึกษาของนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษชื่อเอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์ เขาเขียนหนังสือเรื่อง Primitive Culture(1871) โดยอธิบายว่าสาเหตุที่มนุษย์มีความเชื่อเรื่องเวทมนต์เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต การสร้างกฎข้อบังคับ อำนาจการปกครอง และการทหาร
แนวความคิดของไทเลอร์ถูกพัฒนาต่อมาโดยเจมส์ เฟรเซอร์ ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง The Golden Bough(1890) เฟรเซอร์เชื่อว่าเวทมนต์เป็นวิทยาศาสตร์ประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในระดับวิวัฒนาการระยะแรกๆของมนุษย์ ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ระบบศาสนาที่ยึดถืออำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ และเทพเจ้า และขั้นสุดท้ายก็คือวิทยาศาสตร์ซึ่งจะพิสูจน์ความจริงต่างๆในทางโลก เฟรเซอร์เชื่อว่าเวทมนต์มีระบบเหตุผล 2 แบบประกอบกัน แบบที่หนึ่งคือการรักษาเยียวยา หรือ Homeopathic magic เช่นชาวนาบอลค่านเชื่อว่าการกินทองคำจะทำให้ลดความอิจฉาริษยาลงไปได้ แบบที่สองคือการทำให้ผู้อื่นได้รับผลจากการกระทำ หรือ contagious magic เช่น การนำเส้นผม หรือเล็บของคนๆหนึ่งมาลงคาถาเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคนๆนั้น
การศึกษาของเดอร์ไคม์ ชี้ให้เห็นว่าเวทมนต์มีความลับ และเป็นเรื่องส่วนตัว แตกต่างจากเรื่องทางศาสนาที่เปิดเผย ในหนังสือเรื่อง A General Theory of Magic (1902)ของมาร์เซล มอสส์กล่าวว่าในอดีตการเล่นเวทมนต์มักจะถูกประณามว่าเป็นการกระทำของปีศาจ มอสส์ได้นำความคิดของไทเลอร์และเฟรเซอร์มาพัฒนาต่อ โดยทำให้เรื่องเวทมนต์เป็นทฤษฎีมากขึ้น เขาตั้งข้อสังเกตว่าเวทมนต์มักจะเนเรื่องทางวัตถุที่ถูกทำให้เป็นสื่อสำหรับเวทมนต์คาถา เป็นการแสดงความเอ็นดูรักใคร่ และความจงเกลียดจงชังของคนในสังคม
โรเบิร์ต โลวี่ แสดงความคิดที่โต้แย้งกับเฟรเซอร์ และไทเลอร์ ซึ่งใช้แนวคิดเรื่องวิวัฒนาการ และการแบ่งแยกว่าอะไรคือธรรมชาติกับเหนือธรรมชาติ แต่โครเบอร์พยายามยืนยันแนวคิดวิวัฒนาการว่าเวทมนต์เป็นเรื่องของสังคมที่ล้าหลัง ในขณะที่สังคมที่เจริญแล้ว การเชื่อเวทมนต์มักจะพบได้ในกลุ่มของผู้คนที่มีปัญหาทางจิต ผิดปกติ หรือ มีปัญหาทางสังคม ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับเวทมนต์ถูกอธิบายโดยทฤษฎีจิตวิทยาของฟรอยด์ ในหนังสือเรื่อง Totem and Taboo(1918) ได้อธิบายว่าความคิดของชาวพื้นเมืองต่อเรื่องเวทมนต์เป็นความผิดทางจิต และเป็นความเข้าใจผิดในวัยเยาว์ที่ทำให้สร้างภาพหลอนขึ้นมา
ความคิดของตะวันตกต่อคนพื้นเมืองเป็นเรื่องอคติทางเชื้อชาติ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในหมู่นักมานุษยวิทยารุ่นหลัง การศึกษาภาคสนามในพื้นที่หลายแห่งของนักมานุษยวิทยาพบว่า ความเชื่อและการปฏิบัติทางเวทมนต์คาถาในสังคมชนเผ่าเป็นเรื่องปกติ การศึกษาชนเผ่าเมลานีเซียนของมาลีนอฟสกี้ในหมู่เกาะทรอเบรียนด์ พบว่าชาวบ้านมีการใช้เวทมนต์ในการเพาะปลูก และการเดินทางในทะเลเพื่อนำของกำนัลไปแลกกับเพื่อนบ้าน มาลีนอฟสกี้สังเกตว่าการใช้เวทมนต์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ต้องทำภาระกิจที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร เช่นการออกไปหาปลาในทะเลที่มีคลื่นแรงจัด ชาวบ้านจะใช้เวทมนต์เพื่อช่วยคุ้มครอง การใช้เวทมนต์จึงมี 3 ลักษณะคือ 1) การท่องคาถา 2) การทำพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ และ 3) การทำพิธีส่วนบุคคล พิธีการร่ายเวทมนต์มักจะเป็นเรื่องทางสังคม และการรวมกลุ่ม เช่นการสร้างเรือที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก
อีแวนส์ พริทชาร์ด ลูกศิษย์ของมาลีนอฟสกี้ เขียนหนังสือเรื่อง Witchcraft ,Oracles and Magic among the Azande(1937) อธิบายให้เห็นความเชื่อและการปฏิบัติเกี่ยวกับเวทมนต์ และการพยากรณ์ของเทพเจ้าในสังคมแอฟริกา ความเชื่อดังกล่าวมีผลต่อการจัดระเบียบทางสังคมของชาว Azande โดยเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วยและความตาย พริทชาร์ดชี้ให้เห็นว่าความคิดเรื่องเวทมนต์ของชาว Azande นั้นมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน การศึกษาดังกล่าวนี้ทำให้คนพื้นเมืองไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกงมงาย ไร้เหตุผล หากแต่มีความคิดในเชิงสัญลักษณ์ กำกับในการกระทำต่างๆ
จอห์น บีทตี้อธิบายว่าเวทมนต์คือการจินตนาการในเชิงสัญลักษณ์ การอธิบายในทำนองนี้เป็นกรอบความคิดในยุคของเหตุผล ซึ่งถูกตั้งคำถามในระยะเวลาต่อมา โดยเฉพาะจากกลุ่มโพสต์โมเดิร์นในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 การศึกษาของ คาร์ลอส คาสตาเนด้า ในชนเผ่า Yaqui บริเวณที่ราบสูงเม็กซิโก พบว่า ความจริงเป็นสิ่งที่ถูกไว้ต่างหาก เขากล่าวว่านักมานุษยวิทยามักจะอธิบายว่าเวทมนต์เป็นเรื่องของวัตถุที่มีตัวตนจริง เช่นการศึกษาของไมเคิล ฮาร์เนอร์ อีดิธ เทอร์เนอร์ เป็นต้น
การศึกษาของเจนนี ฟาว์เรท์ ซาดา ในปี ค.ศ.1977 อธิบายว่าเวทมนต์ในชนบทของประเทศฝรั่งเศสมีพลังมาก การศึกษาของลูห์แมนน์อธิบายว่าความเชื่อเรื่องเวทมนต์ของชาวบ้านในอังกฤษถูกทำให้เป็นเรื่องเล่าที่มีเหตุผล เพื่อทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าตนไม่งมงาย การอธิบายดังกล่าวเชื่อว่าความจริงเป็นเรื่องแต่ง แต่นักมานุษยวิทยาบางคนเชื่อว่า การค้นหาความจริงนั้นทำได้หลายวิธี และความรู้สึกต่อเหตุการณ์มีความสำคัญมากกว่าเรื่องทางวัตถุที่เห็น แนวคิดและการศึกษาทางมานุษยวิทยาเริ่มเปลี่ยนไป เช่นการศึกษาของวิงเคิลแมนกล่าวว่าข้อสมมุติฐานในอดีตเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเวทมนต์เป็นสิ่งที่ไม่อาจเชื่อได้ เพราะเวทมนต์มิใช่เรื่องของการหาเหตุและผลเพื่อจะอธิบายว่าความเชื่อแบบนี้ไม่งมงาย
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Alan Barnard and Jonathan Spencer (ed.). Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Routledge : London. P.340-342.
Bennett, Clinton. 1996. In search of the sacred: Anthropology and the study of religions. London: Cassell.
Brown, Michael F. 1997. Thinking about magic. In Stephen D. Glazier (ed.) Anthropology of religion: A handbook. Westport, CT: Greenwood.
Cunningham, Graham. 1999. Religion and magic: Approaches and theories. New York: New York Univ. Press.
Jarvie, I. C., and Joseph Agassi. 1970. The problem of the rationality of magic. In Bryan R. Wilson (ed.) Rationality. Oxford: Blackwell.
Styers, Randall. 2004. Making magic: Religion, magic, and science in the modern world. New York: Oxford Univ. Press.
Wax, Murray, and Rosalie Wax. 1963. The notion of magic. Current Anthropology 4.5: 495–518.
Winkelman, Michael. 1982. Magic: A theoretical reassessment. Current Anthropology 23.1: 37–66.
หัวเรื่องอิสระ: เวทมนต์