คำศัพท์

Mana

       มานา หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือการกระทำของวิญญาณที่มีผลต่อการกระทำของมนุษย์ เป็นความเชื่อในวัฒนธรรมโพลินีเซียนและเมลานีเซียน    คำว่า “มานา” ปรากฎครั้งแรกในพจนานุกรมศัพท์ฮาวายของลอร์ริน แอนดรูว์ โดยแปลว่า อำนาจ  อำนาจเหนือธรรมชาติ  หรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ประวัติของคำนี้มีความซับซ้อน  ความคิดเกี่ยวกับมานา  เป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจเนื่องจากเหตุผล 3 ประการ   คือ หนึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับพลังของธรรมชาติที่มองไม่เห็น หรือพลังส่วนตัวของบุคคล สอง การศึกษาเรื่องมานา  เกิดขึ้นโดยนักคิดแนววิวัฒนาการที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางศาสนาและเวทมนต์ และสาม ความเชื่อมานา เป็นความเชื่อที่ใกล้เคียงกับความเชื่อของชนพื้นเมืองในอเมริกา

         อาร์ เอช คอดริงตัน เขียนหนังสือเรื่อง The Melanesians: Studies in their Anthropology and Folk-Lore (1891) อธิบายว่าชาวเมลานีเซียนมีความเชื่อเรื่องอำนาจและการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ อำนาจนี้เรียกว่า “มานา”  ความหมายของคำนี้จึงหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอำนาจนอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ หรือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติควบคุมไม่ได้ คอดริงตันอธิบายว่ามานาคืออำนาจเหนือธรรมชาติ แต่สำแดงอิทธิฤทธิ์เชิงรูปธรรม โดยอาศัยธรรมชาติหรือเข้าสิงร่างของมนุษย์   มานาจึงล่องลอย ไม่มีที่อยู่ถาวร สามารถเข้าสิงอะไรก็ได้    ศาสนาของชาวเมลานีเซียนจึงมีความเชื่อเรื่องมานาเป็นส่วนประกอบสำคัญ  และมานาจะถูกใช้เพื่อประโยชน์บางอย่าง

        การศึกษาของจอห์น คิง เรื่อง The Supernatural : Its Origin, Nature and Evolution (1892) อธิบายว่าความเชื่อมานาเป็นความเชื่อสาธารณะ  อีแวน พริตเชิร์ด กล่าวว่าความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณเป็นความคิดที่ซับซ้อนเกินไปสำหรับชาวบ้าน ความเชื่อวิญญาณจึงไม่ใช่สิ่งที่มีมาดั้งเดิม  ความเชื่อเรื่องมานา อาจเป็นความคิดเรื่องโชคชะตาราศี คำเตือน หรือคำทำนาย ซึ่งชาวบ้านน่าจะคิดถึงได้ก่อน   การศึกษาของ อาร์ อาร์ มาเร็ตต์ เรื่อง The Threshold of Religion(1909)  อธิบายความเชื่อเรื่องมานา ควบคู่ไปกับเรื่องข้อห้ามซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาระยะแรก    มาเร็ตต์มิได้แยกความเชื่อมานาออกจากเรื่องเวทมนต์คาถา   เขากล่าวว่า ข้อห้ามเป็นเรื่องของอันตราย ส่วนมานาเป็นเรื่องอำนาจที่ช่วยส่งเสริมมนุษย์

         ถ้ามานาเป็นความเชื่อศาสนาระยะแรกของวิวัฒนาการ ก็อาจเข้าใจว่าพื้นที่ทางวัฒนธรรมอื่นๆก็มีความเชื่อในทำนองเดียวกันนี้ปรากฏขึ้น   มาร์เร็ตต์กล่าวว่าชาวอะบอริจินส์ในออสเตรเลียมีความเชื่อเรื่อง  manngur ซึ่งคล้ายกับความเชื่อมานา  เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่อง “บารากา” ในเขตแอฟริกเหนือ  ความเชื่อเรื่อง “ฮาซิน่า” ในเขตมาดากัสการ์ และอเมริกาเหนือ ความเชื่อเรื่อง “โอเรนดา” ของชนเผ่า Iroquoain  ความเชื่อเรื่อง “วากัน” ของชนเผ่าSiouan  ความเชื่อ”มานิตู” ของชนเผ่าอัลกอนเควียน

     การวิจัยในเวลาต่อมา มีการทบทวนแนวคิดเรื่องมานา เป็น 3 ประเด็น คือ

1. ทฤษฎีวิวัฒนาการยังเป็นที่น่าสงสัย ต่อการอธิบายว่าความเชื่อมานาเป็นความเชื่อศาสนาขั้นแรกและจัดอยู่ในประเภทความเชื่อเดียวกับเวทมนต์   มาลีนอฟสกี้อธิบายว่า ความหมายของเวทมนต์ เช่นในสังคมเมลานีเซียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับคาถาและพิธีกรรมเท่านั้น  มิใช่เรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติทุกอย่าง

2.  การตีความว่ามานาคืออำนาจเชิงนามธรรมไม่ใช่สิ่งที่น่าเชื่อถือ  มานามิใช่อำนาจที่มองไม่เห็น  ตัวอย่างการศึกษาของเรย์มอนด์ เฟิร์ธ(Raymond Firth) พบว่าความเชื่อมานาของชาวทิโกเปีย บนเกาะโซโลมอน เป็นความเชื่อที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม   ชาวทิโกเปียเชื่อว่ามานา หรือ มานู เป็นส่วนประกอบของความสำเร็จในการทำงานต่างๆ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ เป็นความสามารถของมนุษย์ และอาศัยอำนาจของวิญญาณในการช่วยเหลือ

3. ความเชื่อเรื่องมานาในเขตหมู่เกาะต่างๆในแปซิฟิก  ถูกนำไปเปรียบกับความเชื่ออื่นในวัฒนธรรมที่ต่างไป   ชาวโพลินีเซียนเชื่อว่ามานาเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการทำงานที่ประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องของการห้าม และเป็นความเท่าเทียมทางสังคม  ส่วนความเชื่อในทำนองเดียวกันซึ่งพบในเขตอื่น มีเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมต่างไปจากโพลินีเซียน  จึงทำให้มานามีความหมายต่างไปจากความเชื่ออื่นๆ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Keesing, Roger. 1984. Rethinking mana. Journal of Anthropological Research 40:137-156.

Mondragón, Carlos 2004. "Of Winds, Worms and Mana: The Traditional Calendar of the Torres Islands, Vanuatu". Oceania 74 (4): 289–308.

Robert H. Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.171-172.


หัวเรื่องอิสระ: อำนาจเหนือธรรมชาติ