Martial Arts
ศิลปะการต่อสู้และการสู้รบ หมายถึงเทคนิควิธีการต่อสู้ที่ใช้อาวุธและไม่ใช้อาวุธ หรือเป็นยุทธวิธีเพื่อให้ได้ชัยชนะในสงคราม ศิลปะการต่อสู้ต้องอาศัยการฝึกฝนและการฝึกร่างกาย เพื่อให้มีทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกาย มีทักษะในการใช้อาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ มนุษย์ทุกกลุ่มล้วนมีวิธีการต่อสู้ของตัวเอง บันทึกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะการต่อสู้จะกล่าวถึงระบบการป้องกันตัวเองและการพัฒนาฝึกฝนกำลัง ศิลปะการต่อสู้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมนุษย์ เนื่องจากมีผลกระทบต่อศาสนา ปรัชญา การแบ่งช่วงชั้นทางสังคม และโลกทัศน์ต่างๆ ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ปืน ศิลปะการต่อสู้มีบทบาทสำคัญในการสงคราม และการป้องกันตัว ศิลปะการต่อสู้เป็นเป็นเรื่องราวที่สำคัญที่นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาวิจัย เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นวีรบุรุษของนักต่อสู้ ความสัมพันธ์ระหว่างการต่อสู้กับสัญลักษณ์ในพิธีกรรม การต่อสู้ที่ใช้เป็นเครื่องแสดงถึงอัตลักษณ์ทางสังคม การสอนปรัชญาและจริยธรรมต่างๆ และทำความเข้าใจบ่อเกิดความก้าวร้าวของมนุษย์ที่แสดงออกทางชีววิทยาและวัฒนธรรม
ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า “บูโด” “บูไก” และ “บูจัตสุ” มีความหมายถึงศิลปะการต่อสู้ แต่คำว่า “การต่อสู้” หรือ martial มาจากภาษาลาตินว่า martialis หมายถึง สิ่งที่เชื่อมโยงถึงเทพแห่งดาวอังคาร ซึ่งมีความหมายต่างไปจากคำในภาษาญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น คำว่าบูโด อาจหมายถึงวิธีการหยุดยั้งหอก หรือการยุติความขัดแย้งและสร้างสันติ อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะการต่อสู้เป็นการฝึกฝนปฏิบัติเพื่อสุขภาพ มิใช่เพื่อความรุนแรงดังที่พบเห็นในภาพยนตร์ ศิลปะการต่อสู้เป็นเรื่องของการป้องกันตัว การฝึกร่างกาย และควบคุมสมาธิ ศิลปะการต่อสู้โดยเฉพาะในสังคมจีนจะเน้นเรื่องการเยียวยารักษาตนเองโดยการฝึกการใช้พลัง (กี) การใช้สมุนไพรบำบัดและการนวดร่างกาย
เทคนิคและวิธีของศิลปะการต่อสู้ตามธรรมเนียมโบราณจะได้รับการถ่ายทอดในห้องเรียน (โดโจ) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ส่วนต่างๆที่ใช้ฝึกฝนหลายด้าน เช่น กีฬา ฝึกสมาธิ เรียนวิชาประวัติศาสตร์ และการฝึกระเบียบวินัย โดโจเป็นพื้นที่ที่คลุมเคลือ เปรียบเสมือนเป็นแหล่งบ่มเพาะทางจิตและร่างกาย ห้องเรียนโดโจตามจารีตเดิมจะมีกฎควบคุม โดยต้องมีระเบียบ สะอาด มีพิธีกรรม และรักษากิริยามารยาท ห้องเรียนแบบนี้พบในลัทธิขงจื้อและชินโต ผู้ฝึกตนจะต้องมีหน้าที่และข้อปฏิบัติแตกต่างกันซึ่งแบ่งตามลำดับชั้นของการฝึก ทุกๆคนจะรู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในลำดับขั้นไหนของการฝึกผน ห้องเรียนโดโจจะถูกรักษาให้สะอาดและปราศจากสิ่งสกปรกทั้งร่างกายและจิตใจ
ครูใหญ่ หรือเซนไซ จะมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ฝึกจิตวิญญาณ เป็นจุดศูนย์รวมของลูกศิษย์ และเป็นต้นแบบของการฝึกฝนทั้งในด้านร่างกายและศีลธรรม การสอนศิลปะการต่อสู้ตามธรรมเนียมโบราณจะพิจารณาจากทักษะและพัฒนาการของลูกศิษย์ในการเรียนรู้การต่อสู้ และฝึกฝนตนเอง เซนไซยังทำหน้าที่เป็นครูสอนการป้องกันตัว ลูกศิษย์จะต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติของครู ในสมัยโตกุกาว่า ( ค.ศ.1600-1876) ซึ่งเป็นยุคสงบสุขของญี่ปุ่น ศิลปะการต่อสู้ได้รับความนิยมแพร่หลาย และมีรูปแบบมากกว่า 18 ชนิด เช่น การต่อสู้บนหลังม้า การว่ายน้ำในขณะสวมเกราะ การใช้หอก ใช้ดาบ ใช้ขวาน ใช้โซ่ การยิงธนู และการต่อสู้โดยไม่ใช้อาวุธ การต่อสู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักรบต้องฝึกฝน ในช่วงสมัยโตกุกาว่า เกิดโรงเรียนที่เรียกว่า ริว ซึ่งเป็นสถานที่สอนศิลปะการต่อสู้ที่ใช้อาวุธหนึ่งชนิด และการต่อสู้มือเปล่า ตลอดเวลาที่ผู้เรียนฝึกฝนวิชาเหล่านี้ผู้เรียนจะสามารถผสมผสานเทคนิคการต่อสู้เข้ากับการฝึนฝนตัวเอง หรือ โด แต่เมื่อภาวะสงครามลดน้อยลง ศิลปะการต่อสู้ก็ค่อยๆเปลี่ยนไปกลายเป็นเรื่องของการมีชีวิตและความตาย หรือ ชิงเคน โชบู ความคิดดังกล่าวนี้ได้รับความนิยมในโรงเรียนที่สอนการฟันดาบ ดาบคืออาวุธยอดนิยมของนักรบ นอกจากนั้น ดาบยังเป็นความหมายทางสังคมที่บ่งบอกสถานะของบุคคล ในญี่ปุ่น ดาบจะได้รับฉายาว่าเป็น “วิญญาณของซามูไร”
คาราเต้ของชาวญี่ปุ่น และเทควันโดของชาวเกาหลีเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ต้องฝึกการเตะและการผลัก ศิลปะการต่อสู้ของเกาหลีมักจะเน้นเรื่องการเตะ เนื่องจากชาวเกาหลีเชื่อว่าขาเป็นอวัยวะที่มีพลังและความแข็งแรงมากกว่าแขน ส่วนคาราเต้จะอาศัยทักษะการเตะและการผลักพร้อมๆกัน ศิลปะการต่อสู้หลายอย่างของชาวจีน เช่น กังฟู จะเน้นเรื่องการเตะและการชกต่อย แต่การเคลื่อนไหวร่างกายของกังฟูจะเคลื่อนไหวแบบวงกลม ต้องใช้กำลังภายในมากกว่าคาราเต้และเทควันโด การต่อสู้แบบเคนโด ไอโด และ ริวกิว โคบุโด เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เน้นเรื่องการใช้อาวุธ ศิลปะการต่อสู้ส่วนใหญ่มีการใช้อาวุธประกอบ โดยเฉพาะเมื่อฝึกไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น การพัฒนากลวิธีเพื่อใช้ดาบ เป็นกลวิธีที่เกิดขึ้นในกองทหารเพื่อการนำทัพ
เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ที่ยังต้องมีการศึกษาต่อไป คือ การฝึกฝนทางคาถาอาคมและเวทมนต์ การฝึกฝนเชิงไสยศาสตร์นี้มีรากเหง้ามาจากลัทธิชินโต ศาสนาพุทธ และลัทธิเต๋า ศิลปะการต่อสู้สมัยใหม่ได้รับอิทธิพลความคิดมาจากศาสนาพุทธนิกายเซนค่อนข้างมาก นอกจากนั้น อิทธิพลของลัทธิเต๋า ชินโต พุทธศาสนานิกายมิกเกียว และนิกายชูเจนโด ก็มีอิทธิพลต่อการฝึกฝนการต่อสู้ ศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมมากคือ เทนชิน โชเดน คาโตริ ชินโต-ริว (ประมาณ ค.ศ.1447) และ โรงเรียนนิงโปบูไก การต่อสู้แบบนิงโปคือการต่อสู้ที่เน้นเรื่องความมานะอดทนและการปิดบังซ่อนเร้น วิชานินจาในญี่ปุ่นเป็นการต่อสู้แบบการจู่โจมและใช้กลอุบายที่แยบยลแบบลับๆ ทั้งการต่อสู้แบบนิงโปและคาโตริ ชินโต-ริว ต้องอาศัยวิชาไสยศาสตร์ และวิชาในลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธนิกายวารายนะ
ตั้งแต่ประเทศจีนจนถึงเกาะชวา เชื่อว่าศิลปะการต่อสู้มีพลังอำนาจเชิงไสยศาสตร์ที่แฝงอยู่ในตัวคนและสัตว์ เช่น ความเชื่อเรื่อง กี เป็นพลังงานที่สร้างจักรวาลและทำให้สิ่งมีชีวิตหายใจได้ ทำให้สิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวร่างกาย และทำให้วิญญาณมีชีวิต ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นที่เรียกว่าไอคิโด และศิลปะการต่อสู้ของจีนที่ชื่อว่า ทาจิควอน ก็มีความเชื่อเรื่องพลังของกี ถึงแม้ว่ากีจะเป็นแนวคิดที่คลุมเคลือ แต่ศิลปะการต่อสู้ตามจารีตประเพณีก็อธิบายถึงวิธีการได้มาและการควบคุมพลังงานนี้อย่างชัดเจน วิธีการกำหนดลมหายใจ การผ่อนคลาย การเพ่งมองวัตถุ และการเคลื่อนไหวร่างกายคือกลวิธีสำหรับการควบคุมและใช้ประโยชน์จากพลังกี
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David E. Jones. 2002. Combat, Ritual, and Performance: Anthropology of the Martial Arts. Praeger.
David Levinson and Melvin Ember (ed.) 1996 Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.736-738.
Reid, Howard and Croucher, Michael. 1983. The Way of the Warrior-The Paradox of the Martial Arts" New York. Overlook Press.
Wojciech Cynarski and Kazimierz Obodynski. 2011 Corporeality in Martial Arts Anthropology. Human Movement. Volume 12, Issue 3, Pages 291–297
Zarrilli, Phillip B. 1998. When the Body Becomes All Eyes: Paradigms, Discourses and Practices of Power in Kalarippayattu, a South Indian Martial Art. Oxford: Oxford University Press.
หัวเรื่องอิสระ: ศิลปะการต่อสู้