Materialism
แนวคิดเรื่องวัตถุนิยม หรือ Materialism คือปรัชญาที่เชื่อเรื่องเอกนิยมหรือความมีมาตรฐานเดียวของสรรพสิ่ง กล่าวคือ เชื่อว่าวัตถุต่างๆในธรรมชาติล้วนถูกสร้างขึ้นจากองค์ประกอบทางวัตถุที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต แนวคิดวัตถุนิยมจะมองสรรพสิ่งในเชิงกายภาพ วัตถุต้องดำรงอยู่ได้ด้วยกายภาพ ซึ่งฐานคิดนี้คือตรรกะสำคัญของความรู้วิทยาศาสตร์นักวิชาการบางคนอาจคิดว่า Materialism เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติของจักรวาลและตัวตนของมนุษย์ หรือเป็นการศึกษาหลักเหตุผลเพื่ออธิบายพฤติกรรมและเหตุการณ์ต่างๆที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา การศึกษา Materialism เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมาพร้อมกับข้อถกเถียงระหว่างสิ่งที่เป็นแนวคิดทางศาสนากับวัตถุภาวะ ซึ่งอยู่ภายใต้ทฤษฎีวิวัฒนาการ ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ข้อถกเถียงได้เปลี่ยนไปสู่เรื่องระเบียบวิธีวิจัย กล่าวคือปัจจัยทางวัตถุสร้างคำอธิบายทางสังคมต่างไปจากมิติทางความคิด
การศึกษาในแนววัตถุภาวะมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ช่วง 500 ปีก่อนคริสต์กาล นักปราชญ์ชาวกรีกชื่อเดโมเครตุส อธิบายว่าวัตถุต่างๆเกิดมาจากอะตอมและที่ว่างซึ่งมีการเคลื่อนไหวและรวมตัวกัน ปรัชญากรีกสกุลอีพิเคอเรียนและ สโตอิคต่างเชื่อมั่นในเรื่องวัตถุภาวะ โดยอธิบายว่าสภาวะอารมณ์ความรู้สึกคือตัวทำลายเสถียรภาพของวัตถุ ในยุคเรเนอซองเริ่มมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเป็นช่วงที่แนวคิดวัตถุภาวะกลับมารุ่งเรืองในยุโรปอีกครั้ง นักปรัชญาโธมัส ฮอบส์(Thomas Hobbs) เป็นนักคิดแนววัตถุภาวะนิยมคนสำคัญ กล่าวว่าชีวิตประกอบด้วยการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แนวคิดวัตถุภาวะนิยมมีอิทธิพลต่อนักคิดในสมัย Enlightenment เช่น เดนิส ดิเดรอต และบารอน เดอ ฮัลแบค ในยุคนี้ ปรัชญาแนววัตถุภาวะนิยมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีความเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ มีการอธิบายว่าความแตกต่างทางสังคม การเมืองและชีววิทยาเป็นผลมาจากธรรมชาติที่สร้างมา และถ้ามนุษย์ต้องการความสมบูรณ์เจริญก้าวหน้า มนุษย์ก็ต้องควบคุมธรรมชาติให้ได้ คำอธิบายนี้มีอิทธิพลในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะความคิดของคาร์ล มาร์ก(Karl Marx)
ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งวิทยาศาสตร์และชีวิตพลเมือง มีคำอธิบายในเชิงศาสนาและธรรมชาติวิทยา เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโบราณคดี ภูมิศาสตร์และชีววิทยา ทฤษฎีวิวัฒนาการทำให้เกิดการอธิบายว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สำคัญที่สุดในธรรมชาติ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง ในปี ค.ศ.1845 นักภูมิศาสตร์อดัม เซดจ์วิค โจมตีความคิดของโรเบิร์ต แชมเบอร์ส โดยกล่าวว่าปรากฏการณ์ต่างๆในจักรวาลเคลื่อนไปด้วยความก้าวหน้า ต่อมาในปี ค.ศ.1859 หนังสือเรื่อง The Origin of Species ของชาร์ล ดาร์วิน ทำให้ข้อถกเถียงเข้มข้นมากขึ้น และเป็นครั้งแรกที่ทำให้ทฤษฎีวิวัฒนาการเข้ามาอธิบายด้วยกรอบวัตถุภาวะนิยม
แนวคิดของดาร์วินมีอิทธิพลต่อนักมานุษยวิทยาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์ และจอห์น ลับบ็อค แต่มานุษยวิทยาสมัยวิคตอเรียใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เพื่อค้นหาที่มาของสติปัญญาและการใช้เหตุผลของมนุษย์ มิใช่การมองหาเรื่องกายภาพ ทั้งไทเลอร์และลับบ็อคต่างอธิบายลักษณะของมนุษย์ที่ค่อยๆฉลาดขึ้นและมีการพัฒนาระบบเหตุผล ซึ่งทำให้มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ สังคมมนุษย์จะพัฒนาซับซ้อนขึ้น และมีความเชื่อทางศาสนาที่เป็นระบบมากขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีข้อยกเว้น นักสังคมวิทยาและนักปรัชญาชาวอังกฤษ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ ผู้ซึ่งมีความรู้ในทฤษฎีวิวัฒนาการ ทั้งในเรื่องกายภาพ ชีวภาพ และวัฒนธรรม ความคิดของสเปนเซอร์คือตัวอย่างของนักคิดแนววัตถุภาวะนิยม ในเรื่องวิวัฒนาการทางสังคม สเปนเซอร์อธิบายว่า มนุษย์คือผู้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การติดต่อระหว่างคนกลุ่มต่างๆ และการสะสมความรู้และเทคโนโลยี ลิวอิส เฮนรี มอร์แกน เขียนหนังสือเรื่อง Ancient Society (1877) เป็นการอธิบายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ใช้แนวคิดแบบวัตถุภาวะนิยม
คาร์ล มาร์ก มีความคิดเช่นเดียวกับดาร์วินและสเปนเซอร์ และเป็นนักคิดแนววัตถุภาวะนิยมที่สำคัญในยุควิคตอเรีย มาร์กและเพื่อนของเขา เฟรดริค เองเกลส์พยายามอธิบายประวัติศาสตร์จากการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ยุคฟิวดัลเปลี่ยนไปสู่ยุคทุนนิยมสมัยใหม่ในยุโรป มาร์กได้เสนอวิธีวิทยาสำหรับการศึกษาทางสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะการใช้แนวคิดวัตถุภาวะนิยมอธิบายพฤติกรรมและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ในปี ค.ศ.1859 เขาอธิบายว่าวิถีการผลิตของมนุษย์มีส่วนกำหนดสภาพสังคม การเมือง และความรู้ต่างๆ มาร์กเชื่อว่าสถานะทางสังคมของมนุษย์ทำให้มนุษย์รู้ว่าตนเองเป็นใคร อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นวัตถุภาวะคือสิ่งที่กำหนดแบบทางสังคม การเมือง กฎหมายและวิถีคิดของมนุษย์
จุดอ่อนของแนวคิดวัตถุภาวะนิยม ก็คือการอธิบายเรื่อง “เขตวัฒนธรรม” (culture area) ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับการแสดงออกทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทฤษฎีวัตถุภาวะนิยมได้รับความสนใจจากมานุษยวิทยาอเมริกาและอังกฤษเรื่อยมาจนถึงทศวรรษที่ 1950 เมื่อเริ่มทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวคิดของโบแอสเรื่องประวัติศาสตร์ ทำให้มีการศึกษาเรื่องข้อมูลมากกว่าความสนใจในทฤษฎี วัฒนธรรมจะถูกอธิบายใหม่ด้วยแนวคิดประวัติศาสตร์เฉพาะท้องถิ่น โบแอสไม่เชื่อความคิดเชิงวัตถุภาวะ แต่มีความรู้ภูมิศาสตร์ โบแอสไม่ได้นำความรู้นั้นมาอธิบายวัฒนธรรม ในขณะที่ทฤษฎีหน้าที่นิยมของอังกฤษได้เสนอแนวคิดวัตถุภาวะต่อการศึกษาของนักมานุษยวิทยา ซึ่งอธิบายโครงสร้างสังคมที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ
ในส่วนของมานุษยวิทยาอเมริกัน เลสลี่ ไวท์และจูเลียน สจ๊วตเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการพัฒนาแนวคิดวัตถุภาวะนิยมในการสร้างทฤษฎีทางวัฒนธรรม ไวท์เสนอแนวคิดที่ต่างไปจากโบแอส โดยกล่าวว่าวัฒนธรรมมีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ มนุษย์จะสร้างเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น และใช้พลังงานที่คุ้มค่ามากขึ้น ไวท์เชื่อว่าสังคมคือระบบของการใช้เทคโนโลยี เขากล่าวว่าวัฒนธรรมแต่ละอย่างมีหนึ่งเดียวส่วนสจ๊วตเชื่อว่าวัฒนธรรมคือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์ สจ๊วตได้ศึกษากลุ่มสังคมแบบล่าสัตว์เร่ร่อน และพบชนพื้นเมืองมีการปรับโครงสร้างสังคมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา แนวคิดวัตถุภาวะนิยมในมานุษยวิทยาก็ค่อยๆแตกแขนงออกไปเป็นทฤษฎีย่อยๆ เช่น การศึกษาแบบสจ๊วต เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อม ซึ่งรู้จักในนามระบบนิเวศน์วัฒนธรรม การศึกษาอีกแนวหนึ่ง คือแนววัตถุภาวะนิยมทางวัฒนธรรม (cultural materialism) ซึ่งได้ใช้วิธีวิทยาแบบ positivism กับแนวคิดวัตถุภาวะไปอธิบายวัฒนธรรม ส่วนแนวที่สาม คือการนำทฤษฎีมาร์กซิสไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาเก็บข้อมูล
แนวคิดวัตถุภาวะนิยมทางวัฒนธรรม ได้แก่การศึกษาของมาร์วิน แฮร์ริส ซึ่งเน้นวิธีวิทยาของการสังเกตปรากฏการณ์ เขาอธิบายว่าการศึกษาทางชาติพันธุ์ต้องแยกว่าอะไรคือพฤติกรรม และอะไรคือความรู้สึกนึกคิด นักมานุษยวิทยาควรจะแยกแยะความแตกต่างระหว่างการตีความทางวัฒนธรรมของผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษาออกจากกัน แนวคิดวัตถุภาวะนิยมทางวัฒนธรรมพยายามแยกสิ่งที่เป็นพฤติกรรมของชาวบ้าน กับการใช้ทฤษฎีเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมของนักมานุษยวิทยา ข้อสมมุติฐานจากการศึกษาแนวนี้เชื่อว่าวัฒนธรรมทางวัตถุมีผลต่อความคิดความเชื่อของมนุษย์
นักคิดในแนววัตถุภาวะนิยมทางวัฒนธรรม เชื่อในแนวคิดของมาร์กซ์ ตัวอย่างเช่น เรื่องโครงสร้างกับรากฐาน ประเด็นที่มาร์กอธิบายเกี่ยวกับการจัดระเบียบการผลิต และรูปแบบทางการเมืองและความคิดที่ควบคุมการจัดระเบียบ กลายมาเป็นรากฐานสำหรับการวิเคราะห์ทางวัฒนธรรมในแนววัตถุภาวะ ซึ่งแยกแยะส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ โครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างปฏิบัติ และโครงสร้างอุดมคติ แฮร์ริสอธิบายว่าโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วยวิธีการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและการออกแรงเพื่อสร้างปัจจัยการดำรงชีพเบื้องต้น และวิธีการจัดสรรทรัพยากร คือการควบคุมประชากรให้เหมาะสม โครงสร้างพื้นฐานนำไปสู่โครงสร้างปฏิบัติทางสังคม ประกอบด้วยหน่วยครัวเรือนที่ทำการผลิต มีการแบ่งงานกันทำในครัวเรือน หน่วยอำนาจทางการเมือง มีการจัดลำดับชั้นทางสังคมและสร้างกฎระเบียบต่างๆ โครงสร้างปฏิบัติจะนำไปสู่โครงสร้างอุดมคติ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ทางความคิด เช่น ตำนาน ศาสนา ปรัชญาและข้อห้ามต่างๆ
กล่าวได้ว่านักคิดในแนววัตถุภาวะนิยมทางวัฒนธรรม ได้อธิบายวัฒนธรรมโดยอิงกับสภาพแวดล้อม การบริโภค ประชากร และเทคโนโลยี แฮร์ริสกล่าวว่าข้อห้ามการฆ่าวัวของชาวฮินดูเป็นการปรับตัวเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นฐาน เพื่อทำให้ประชากรมีการสะสมทรัพยากรได้ กรณีดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นความจำเป็นของชาวฮินดูในการใช้วัวลากสิ่งของ วัวจึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ในทำนองเดียวกันการบูชายัญของชาวเอสเต็กคือการหาอาหารโปรตีนสำหรับบริโภค การอธิบายตามแนวคิดนี้จึงมีลักษณะเป็นการคาดเดา และเป็นความพยายามที่จะใช้ตรรกะแบบวิทยาศาสตร์มาอธิบายวัฒนธรรมมากเกินไป
ถึงแม้ว่าทฤษฎีมาร์กซิสจะมีบทบาทสำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ความคิดของมาร์กกลับมีอิทธิพลต่อนักมานุษยวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจทางการเมือง ซึ่งวางแนวทางให้เกิดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มาร์กซ์อธิบายว่านักปรัชญานอกจากจะอธิบายโลกแล้วต้องเปลี่ยนแปลงโลกด้วย จากแนวคิดดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 20
มานุษยวิทยามาร์กซิสต์ มีข้อสมมุติฐาน 4 ประการ คือ หนึ่ง กระบวนการผลิต ซึ่งอาศัยแรงงานมนุษย์เพื่อสร้างประโยชน์ เป็นกระบวนการที่จะทำให้เข้าใจสังคม สอง ถึงแม้ว่าปัจจัยทางวัตถุจะเป็นตัวชี้วัด แต่ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับความคิดก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จึงเป็นปฏิสัมพันธ์ของการกระทำและความคิด เศรษฐกิจกับจิตวิญญาณ และพื้นฐานกับโครงสร้าง สาม การวิเคราะห์แนวมาร์กซิสเป็นการอธิบายสังคม ที่สนใจพฤติกรรมของบุคคล รวมทั้งความสัมพันธ์ทางสังคมที่หล่อหลอมให้เกิดแบบแผนการผลิต การครอบครองสมบัติ และความไม่เท่าเทียม สี่ ทฤษฎีมาร์กซิสม์เป็นการศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ โดยเชื่อว่าสังคมมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน และพยายามอธิบายการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการระยะยาวของสังคม มีการใช้แนวคิดมาร์กซิสต์มาอธิบายปรากฎการณ์ทางมานุษยวิทยาหลายลักษณะ โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องช่วงชั้นทางสังคม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคม ผลกระทบของอุตสาหกรรมต่อระบบเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมในโลกที่สาม และกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคนพื้นเมือง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Harris, Marvin 1968 The Rise of Anthropological Theory. New York, Crowell.
Lange, Friedrich A.,1925. The History of Materialism. New York, Harcourt, Brace, & Co.
Moore, Jerry D 2004, "Marvin Harris: Cultural Materialism", Visions of Culture: An Introduction to Anthropological Theories and Theorists. Walnut Creek, CA: AltaMira Press,
Novack, George 1979. The Origins of Materialism, New York: Pathfinder Press,
Robert H.Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.181-186.
Vitzthum, Richard C. 1995. Materialism: An Affirmative History and Definition. Amherst, New York, Prometheus Books.
หัวเรื่องอิสระ: วัตถุนิยม