คำศัพท์

Monarchy

        การปกครองโดยพระมหากษัตริย์หรือราชาธิปไตย (Monarchy) หมายถึง รูปแบบการเมืองที่ให้อำนาจแก่คนๆเดียว ซึ่งทำหน้าที่เป็นประมุขและออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมสังคม ผู้มีอำนาจดังกล่าวนี้จะสืบทอดอำนาจของตนโดยทางสายเลือด เช่น มอบอำนาจให้บุตรชายหรือบุตรสาว เมื่อกษัตริย์หรือพระราชาสละราชสมบัติหรือสิ้นพระชนม์ พระโอรสหรือพระธิดาก็จะสืบทอดอำนาจต่อไป การปกครองโดยกษัตริย์จะมีรูปแบบและรายละเอียดต่างกันในแต่ละสังคม ในสังคมที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่กษัตริย์จะเรียกว่าการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ส่วนสังคมที่ให้อำนาจกษัตริย์ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญจะเรียกว่าการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งจะมีคณะรัฐบาลเข้ามาบริหารการปกครอง ปัจจุบันนี้รูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เปลี่ยนไปเป็นการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมากขึ้น กษัตริย์จะใช้อำนาจภายใต้ที่กฎหมายกำหนด และหน้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นเชิงสัญลักษณ์และสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง

          ในหลายวัฒนธรรม การปกครองแบบกษัตริย์มักจะเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อว่าผู้ที่เป็นกษัตริย์คือผู้มีบุญบารมีและมีฐานะเทียบเท่ากับผู้วิเศษ ทำให้กษัตริย์มิได้เป็นเพียงผู้นำทางการเมืองเท่านั้นแต่ยังเป็นผู้นำทางศาสนาและคติความเชื่อด้วย เช่น สามารถติดต่อกับวิญญาณ เทวดา เทพเจ้า และอำนาจเหนือธรรมชาติ กษัตริย์ที่มีอำนาจวิเศษจะทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข พลเมืองมีการกินดีอยู่ดีและปราศจากอันตราย ทำให้การเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์

        เจอร์แรม บราวน์ (1978,1987) และสตีพ เอ็มเลน (1991) และซานดร้า วีเรนแคมป์(1983) อธิบายว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อความใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในกลุ่ม  ถ้าสภาพแวดล้อมธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย เช่นแห้งแล้งกันดาร หรือมีสงคราม สมาชิกจะช่วยดูแลตัวอ่อนหรือทารกอย่างใกล้ชิด  สังคมลักษณะนี้จะมีผู้มีอำนาจเพียงหนึ่งเดียว และอำนาจก็จะตกทอดไปสู่ลูกหลาน  เช่น นกบางชนิดจะมีการเลี้ยงลูกแบบช่วยกัน สมาชิกในฝูงจะช่วยกันเลี้ยงลูกนก การช่วยเหลือกันต้องมีผู้ปกครองที่ดูแล การอยู่รวมกันเป็นฝูงเพื่อช่วยเหลือกันเลี้ยงดูลูกหลาน  ช่วยกันหาอาหาร และต่อสู้กับศัตรู   รูปแบบการช่วยเหลือกันเป็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของกลุ่ม โดยเฉพาะการอยู่ในพื้นที่ที่มีอันตรายและทรัพยากรมีจำกัด  

          ในสังคมมนุษย์ การปกครองแบบสืบทอดอำนาจตามสายตระกูล เป็นการทำสัญญาทางสังคม  หัวหน้าผู้ปกครองจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ทำหน้าที่บังคับบัญชา ควบคุมการใช้ทรัพยากร คุ้มครองความปลอดภัยให้กับสมาชิก และทำให้สมาชิกแต่ละคนได้รับความเสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากร การมีผู้ปกครองที่มีอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในสังคมมนุษย์ ส่งผลอย่างไรต่อสมาชิก สมาชิกแต่ละคนได้รับความเท่าเทียมกันหรือไม่ ได้รับประโยชน์เท่ากันหรือไม่  สังคมที่มีผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ประโยชน์ทั้งหลายจะตกแก่ผู้ปกครอง 

          ตัวอย่างเช่น สังคมของชาวบุชแมนในเขตทะเลทรายคาราฮารี  ผู้ที่มีอำนาจในกลุ่มจะเป็นผู้ที่มีน้ำกินน้ำใช้ตอลดปี  รวมทั้งมีอาหารพอเพียงและสมบัติมากมาย  และยังมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน  ในชนเผ่าคุง ซึ่งเร่ร่อนเก็บของป่าล่าสัตว์ เป็นสังคมที่สมาชิกทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอำนาจมากที่สุด  แต่ในสังคมที่เริ่มตั้งหลักแหล่งถาวร  สมาชิกเริ่มมีฐานะแตกต่างกัน  ในชนเผ่ายาโนมาโม ในเขตลุ่มน้ำอะเมซอน  หัวหน้าเผ่าจะอาศัยในเขตที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ หัวหน้าจะมีอำนาจมากที่สุด และมีภรรยาหลายคน    การศึกษาของโรเบิร์ต คาร์ไนโร  อธิบายว่าการเกิดขึ้นของรัฐยุคแรกๆเกิดขึ้นในเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น ชาวสุเมเรียนแห่งดินแดนเมโซโปเตเมีย อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์   กษัตริย์ของชาวสุเมเรียนสามารถเรียกใช้ทาสจำนวนมากได้ รวมทั้งเอาทาสหญิงมาเป็นนางบำเรอ เช่นเดียวกับกษัตริย์ของอินคาที่นำผู้หญิงมาเป็นภรรยาหลายคน


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.803-804.

Declan Quigley.1995. The Paradoxes of Monarchy. Anthropology Today

Vol. 11, No. 5 (Oct., 1995), pp. 1-3.

Jeroen Deploige and Gita Deneckere. (eds.) 2006. Mystifying the Monarch. Amsterdam University Press.

Kent Flannery and Joyce Marcus. 2012. The Creation of Inequality: How Our Prehistoric Ancestors Set the Stage for Monarchy, Slavery, and Empire. Harvard University Press.

Sean McGlynn, Elena Woodacre. (eds.) 2014. The Image and Perception of Monarchy in Medieval and Early Modern Europe. Cambridge Scholars Publishing.


หัวเรื่องอิสระ: ราชาธิปไตย