คำศัพท์

Animism

       Animism หมายถึง ความเชื่อและโลกทัศน์เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น ผีสางเทวดาวิญญาณที่สิงสถิตย์อยู่ในวัตถุและธรรมชาติ โดยมนุษย์จะแสดงความเคารพและบูชาสิ่งเหล่านี้  ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติจะสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาและการแสดงออกทางพิธีกรรมต่างๆ สามารถพบเห็นได้ในสังคมชนเผ่าในภูมิภาคต่างๆของโลก  คำว่า Animism มีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมัน คือ animismus ซึ่งจอร์จ เอิร์นสต์ สตัลห์ เคยกล่าวไว้ในปี 1720 โดยอธิบายถึงชีวิตของสัตว์ที่มีวิญญาณสิงอยู่ภายใน

        ในปี 1871 เอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์ เขียนหนังสือเรื่อง Primitive Culture โดยได้กล่าวถึงคำว่า Animism ซึ่งไทเลอร์เชื่อว่าเป็นรูปแบบวัฒนธรรมที่เชื่อเรื่องวิญญาณ วิญญาณลักษณะนี้มีรูปแบบแตกต่างกัน อาจมีอยู่ในต้นไม้ ลำธาร ก้อนหิน หรือ ไฟ วิญญาณจะคอยทำหน้าที่ป้องกันรักษาบุคคลหรือบ้านเรือน หรือสิงอยู่ในร่างของสัตว์ต่างๆ ไทเลอร์วิจารณ์ด้วยทัศนะแบบตะวันตกว่าความเชื่อเหล่านี้พบในสังคมที่ยังไม่เจริญและขาดการศึกษา เช่น สังคมเก็บของป่าล่าสัตว์

          ไทเลอร์อธิบายว่า มนุษย์ที่ยังไม่เจริญจะมีปัญหาทางกายภาพ 2 อย่าง คือ ประการแรก การแยกความแตกต่างระหว่างคนเป็นกับคนตาย และการหาสาเหตุของการตาย การเป็นโรค การตื่น การนอน และการเปลี่ยนสภาพ   ประการที่สอง คือ การอธิบายความฝันและจินตนาการของมนุษย์  สิ่งที่แก้ปัญหาดังกล่าวคือความเชื่อเรื่องวิญญาณ    ความหมายของ animism ในความคิดของไทเลอร์ คือความเชื่อในวิญญาณ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของศาสนา  แนวคิดเกี่ยวกับ animism ปรากฏในทฤษฎีทางศาสนา และข้อถกเถียงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางศาสนา   ไทเลอร์ให้ความสนใจต่อชีวิตชนพื้นเมืองซึ่งยังไม่มีศาสนา และโต้เถียงว่าระบบความเชื่อที่บูชาพระเจ้าซึ่งมีสถาบันชัดเจน เป็นระเบียบและอยู่ขั้นสูงสุด ในสายตาของนักวิชาการจำนวนมากนั้นไม่ถูกต้อง

          ไทเลอร์อธิบายว่าความเชื่อวิญญาณเป็นสิ่งสากล เป็นการตอกย้ำแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการให้เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากไทเลอร์ต้องการชี้ให้เห็นความต่อเนื่องของพัฒนาการเกี่ยวกับสถาบันสังคมจากระดับพื้นบ้านไปจนถึงความก้าวหน้าทางอารยธรรม   ถึงแม้ว่า แนวคิดเรื่อง animism จะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในยุควิคตอเรีย แต่แนวคิดนี้ก็ยังมีข้อโต้แย้ง  แอนดรูว์ แลง (Andrew Lang) และวิลเฮล์ม ชมิดต์  โต้แย้งว่า  ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าไม่ได้พัฒนามาจากการเชื่อเรื่องวิญญาณ เพราะความเชื่อในพระเจ้าสูงสุดเกิดขึ้นได้ในสังคมชนเผ่าหลายแห่ง   อาร์ อาร์ มาเร็ตต์  อธิบายว่าบ่อเกิดทางศาสนาน่าจะมาจากประสบการณ์ทางอารมณ์มากกว่าจะเป็นการคิดเชิงตรรกะ  ในหนังสือของมาเร็ตต์ เรื่อง The Threshold of Religion อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎี animism โดยยกข้อสนับสนุนของการเชื่อในวิญญาณ เขาอธิบายว่าพื้นฐานของความเชื่อวิญญาณเกิดจากประสบการณ์แบบ animatism  ซึ่งประกอบด้วยประสบการณ์เกี่ยวกับพลังอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ 

 

          ในทางทฤษฎี  animism คือทฤษฎีที่สะท้อนความคิดเกี่ยวกับศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก เป็นการถกเถียงเรื่องกำเนิดทางศาสนา  ลักษณะที่สองคือ การอธิบายด้วยทฤษฎีทางวิชาการ  ปัญหาของนักมานุษยวิทยาสมัยวิคตอเรีย ซึ่งไม่คุ้นเคยกับประเพณีทางศาสนา ก็คือ การอธิบายศาสนาด้วยแนวคิด animism

          อีมิล เดอร์ไคม์ อธิบายลักษณะทางสังคมของศาสนา และปฏิเสธว่าความเชื่อวิญญาณไม่ใช่บ่อเกิดทางศาสนา  แต่ศาสนามาจากพิธีกรรมที่หลอมสังคมให้รวมกันโดยผ่านตัวตนของพืชหรือสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรียกว่า Totemism    แนวคิดเรื่อง animism ถูกนิยามด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการและทำให้เกิดลำดับขั้นที่ต่างกันสองลำดับ แต่นักชาติพันธุ์สมัยใหม่ไม่เห็นด้วย  เนื่องจากสังคมชนเผ่า ความเชื่อวิญญาณถูกผนวกเข้ากับการแสดงออกทางศาสนาอื่นๆ เช่น  shasta ชนพื้นเมืองในแคลิฟอร์เนีย เชื่อเรื่องวิญญาณหลายลักษณะ วิญญาณจะเรียกว่า axeki  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธีกรรมหมอผี การศึกษาของเมลฟอร์ด สปิโร เรื่องลัทธิความเชื่อวิญญาณในเขตชนบทของพม่า ดำรงอยู่ร่วมกับความเชื่อในพุทธศาสนา คือตัวอย่างที่ดีสำหรับการศึกษาที่ชี้ให้เห็นความซับซ้อนทางวัฒนธรรม

          แนวคิดเรื่อง animism ยังมีประโยชน์ในการทำงานด้านชาติพันธุ์ โดยใช้อธิบายรูปแบบทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องวิญญาณ เช่น ศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม  ความเชื่อ animism ในลักษณะนี้คือการแสดงออกของวัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งดำรงอยู่ร่วมกับสังคมที่มีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยกฎระเบียบ  นักมานุษยวิทยารุ่นหลังตั้งข้อสังเกตว่าการแยกระหว่างความเชื่อเรื่องวิญญาณกับความเชื่อวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมของตะวันตก ซึ่งพยายามแบ่งแยกคู่ตรงข้ามของสรรพสิ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในการแบ่งแยกนี้ทำให้สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับระบบเหตุผลวิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่ต่ำต้อยและถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม

          บรูโน่ ลาทัวร์ วิจารณ์ว่าความเชื่อเรื่องวิญญาณมิใช่สิ่งที่ไร้เหตุผล แต่เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกกลุ่มไม่ว่าจะอยู่ในสังคมชนเผ่าหรือสังคมที่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กล่าวคือ ความเชื่อเรื่องวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือการให้ความหมายต่อโลกทางวัตถุที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตและตัวตนของมนุษย์ การมองสรรพสิ่งและวัตถุธรรมชาติว่ามีอำนาจและจิตวิญญาณ มิใช่การไร้เหตุผลหากแต่เป็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือกล่าวได้ว่าธรรมชาติกับมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่าเท่ากัน ซึ่งสวนทางกับวิธีคิดวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่พยายามจัดช่วงชั้นให้มนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติและเป็นผู้ตักตวงหาประโยชน์จากธรรมชาติ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Bird-David, Nurit. 1999. ""Animism" Revisited: Personhood, Environment, and Relational Epistemology". Current Anthropology 40 (S1): S67.

Harvey, Graham. 2005. Animism: Respecting the Living World. London: Hurst and co.

Harvey, Graham. 2013. The Handbook of Contemporary Animism. London: Routledge.

Hornborg, Alf. 2006. "Animism, fetishism, and objectivism as strategies for knowing (or not knowing) the world". Ethnos: Journal of Anthropology 71 (1): 21–32.

Ingold, Tim. 2000. "Totemism, Animism and the Depiction of Animals" in The Perception of the Environment: Essays on Livelihood, Dwelling and Skill. London: Routledge, pp. 112–113.

Stringer, Martin D. 1999. "Rethinking Animism: Thoughts from the Infancy of our Discipline". Journal of the Royal Anthropological Institute 5 (4): 541–56.

Winthrop, Robert H. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.10-12.


หัวเรื่องอิสระ: ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ