คำศัพท์

Multiculturalism

         Multiculturalism หมายถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพรมแดนประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งความหลากหลายที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่รับรู้กันทั่วไปและเป็นเรื่องปกติ  สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะแตกต่างจากสังคมที่มีการหลอมรวมทางวัฒนธรรม กล่าวคือ สังคมที่มีการหลอมรวมวัฒนธรรมจะมีวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่ถูกครอบงำหรือถูกบดบังจากวัฒนธรรมที่มีอำนาจเหนือกว่า และส่งผลทำให้วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเลือนหายไป หรือสูญเสียความเป็นตัวเอง   ส่วนสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม คือสังคมที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆซึ่งยังมีพลังในตัวเอง ไม่ถูกทำลาย หรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมอื่น  สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงมีวัฒนธรรมย่อยๆมากมาย  คนแต่ละกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันจึงอาจมีวัฒนธรรมบางอย่างร่วมกัน แต่คนเหล่านั้นก็ยังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเอง เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยกลุ่มคนหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์  มีภาษาพูดหลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน ภาษาจีน ฯลฯ แต่ชาวอเมริกันก็มีวัฒนธรรมร่วมกันบางอย่าง เช่น กินสเต็ก ในขณะที่อาหารประจำเชื้อชาติก็ยังคงมีอยู่ในครอบครัว เช่น ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน  สังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มชนหลายวัฒนธรรมจะเป็นสังคมที่ยอมให้มีการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างเสรี

          ตัวอย่างประเทศอเมริกาและแคนาดา ประกอบด้วยคนหลายวัฒนธรรม ทั้งนี้เนื่องมาจากมีคนต่างแดนอพยพเข้าไปอยู่ในอเมริกาและแคนาดาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวเอเชีย ชาวยุโรป ชาวแอฟริกัน และลาตินอเมริกัน  ความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้กลุ่มคนแต่ละกลุ่มพยายามสร้างรื้อฟื้นเอกลักษณ์ประจำตัว เพื่อให้วัฒนธรรมของตนเองแตกต่างจากกลุ่มอื่น เช่น ชาวอิตาเลียนพยายามสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างไปจากชาวอัลบาเนียน อาจมีการตั้งสมาคมและชมรมของตัวเอง  กลุ่มคนต่างๆที่อาศัยอยู่ในอเมริกาอาจเกิดขึ้นมาใหม่ หรืออยู่มานานแล้ว ผลที่ตามมาจากการมีกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย คือการมองหานิยามใหม่ๆของการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ความหมายของการเป็น “คนผิวขาว” เป็นต้น

          สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะทำให้คนในสังคมนั้นตระหนักว่าอะไรคือเอกลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรมต่างๆ กลุ่มคนแต่ละกลุ่มจะมองหาเอกลักษณ์ของตัวเอง   ในขณะเดียวกันคนกลุ่มต่างๆก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจวัฒนธรรมอื่นและอยู่ร่วมกับคนอื่น   ในชีวิตประจำวันเราอาจพบเห็นคนที่มีวัฒนธรรมต่างจากเรา เช่น ในห้องเรียน มีนักเรียนที่มีพ่อแม่อพยพมาจากประเทศอื่น นักเรียนอาจนับถือศาสนาไม่เหมือนกันแต่ทำกิจกรรมร่วมกัน เราอาจไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนาของเพื่อนซึ่งไม่เหมือนกับเรา  เราอาจชมรายการโทรทัศน์ที่มีการแสดงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หรือไปร่วมเทศกาลของกลุ่มชาติพันธุ์ กินอาหารของวัฒนธรรมอื่น เป็นต้น

          โดยปกติ มนุษย์จะแสดงอัตลักษณ์หรือตัวตนทางวัฒนธรรมเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่การศึกษาของ มิเชล ลาเกอร์รี(1984) พบว่าผู้อพยพชาวเฮติ ที่เดินทางมานิวยอร์คต้องพบกับการดูถูกจากคนขาวที่เกลียดคนผิวดำ ดังนั้นชาวเฮติจึงต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาเพื่อทำให้แตกต่างจากคนผิวดำกลุ่มอื่นๆ   ดังนั้นในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลุ่มคนต่างๆจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเอง  การศึกษาสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่าในพรมแดนรัฐชาติหรือประเทศประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักมานุษยวิทยาพิจารณาว่า “วัฒนธรรม” มิใช่สิ่งที่คงที่ หากแต่เป็นพลวัตของเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีไว้เพื่อสร้างความหมาย ดังนั้น การศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงมิใช่การแสวงหารากเหง้าแก่นแท้ของวัฒนธรรมที่ตายตัว หากแต่ต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆมีการแลกเปลี่ยนไปมาและถูกสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่าใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรม การออกมาเรียกร้องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆในสังคมจึงเป็นวิธีการเชิงการเมืองในสังคมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์สิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมของวัฒนธรรมที่มีแก่นแท้ขึ้นมาอีกครั้ง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Avery Gordon; Christopher Newfield 1996. Mapping Multiculturalism. University of Minnesota Press.

Bhikhu C. Parekh 2002. Rethinking Multiculturalism: Cultural Diversity and Political Theory. Harvard University Press.

Brian Barry. 2002. Culture and Equality: An Egalitarian Critique of Multiculturalism. Harvard University Press.

Conrad Phillip Kottak. 2000. Anthropology the Exploration of Human Diversity. McGrawhill, New York.  pp.300-302.

David Theo Goldberg 1994. Multiculturalism: A Critical Reader. Blackwell Publishers.

Michele Filippo Fontefrancesco. 2012. Thirty years of multiculturalism and

Anthropology. Anthropological Notebooks 18 (3): 59–62.

Slavoj Žižek 1997. "Multiculturalism, or, the cultural logic of multicultural capital" New Left Review (225): 28-51.


หัวเรื่องอิสระ: ความหลากหลายทางวัฒนธรรม