คำศัพท์

Myth

           ตำนาน หรือ Myth เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า mythos หมายถึง เรื่องเล่า เรื่องแต่ง คำบอกเล่า  จากยุคโบราณ ตำนานถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องเล่าที่มีมานมนานก่อนที่จะเกิดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เป็นเรื่องการกระทำต่างๆของเทพเจ้า  นอกจากนั้น ตำนานยังหมายถึงความรู้เฉพาะ ผู้ที่ได้รับฟังตำนานอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องโกหก เรื่องแต่ง หรือเป็นความจริงก็ได้  การศึกษาตำนานอย่างเป็นระบบเริ่มมาตั้งแต่สมัยเรเนอซอง ซึ่งอาศัยศาสตร์หลายสาขามาอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยา ศาสนา ปรัชญา คติชนวิทยา ประวัติศาสตร์ศิลป์ วรรณคดี จิตวิทยา และภาษาศาสตร์

          ตามความคิดของนักคติชนวิทยาชาวฟินแลนด์ ลอรี ฮอนโค  กล่าวว่าตำนานหมายถึงเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้า เป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาที่เล่าเรื่องการกำเนิดโลก และการสร้างสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องของการกระทำของเทพเจ้าที่ส่งผลต่อโลก ธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งจะถูกสร้างกฎระเบียบและการปฏิบัติสืบมา  ตำนานคือเรื่องเล่าที่พูดถึงเหตุการณ์ที่สำคัญ  ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์  ตำนานจึงอาจเป็นที่มาของสถาบันทางสังคมและระบบศีลธรรม    ตัวอย่างตำนานของชาวฮินดูได้เล่าถึงการจัดลำดับชั้นของวรรณะโดยอาศัยร่างกายของพระวิษณุเป็นเกณฑ์  กล่าวคือ พระมาจากปาก  นักรบมาจากแขน พ่อค้ามาจากต้นขา และกรรมกรที่อยู่ตำสุดมาจากเท้า    ตำนานในความหมายนี้คือการบอกเล่าด้วยเรื่องที่จับต้องได้โดยเพื่อสื่อสารความคิด   ตัวบ่งชี้เชิงสัญลักษณ์ หรือเชิงศาสนา ทำให้ตำนานเป็นเรื่องเล่าที่ต่างจากเรื่องอื่นๆ

          สิ่งที่ทำให้ตำนาน ต่างจากนิทานชาวบ้านและนิทานวีรบุรุษ ก็คือตำนานเป็นเรื่องเล่าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการบอกให้รู้กำเนิดของสิ่งต่างๆที่มีอยู่บนโลก  ส่วนนิทานวีรบุรุษหมายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์อาจจะเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ก็ได้  นอกจากนั้น ช่วงเวลาในนิทานวีรบุรุษไม่เก่าแก่เท่าตำนาน นิทานวีรบุรุษมักจะเป็นเรื่องของสงคราม การอพยพ และวีรบุรุษ ตัวอย่างเช่น นิทานเกี่ยวกับกษัตริย์อาร์เธอร์ ของชาวอังกฤษ    นิทานชาวบ้านมีหลายประเภท แต่เป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญ  สัตว์ วัตถุสิ่งของ ซึ่งถูกเล่าเป็นเรื่องราว 

          นักคิดในสมัย Enlightenment ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมกรีกโบราณ  เนื่องจากชาวกรีกเชื่อว่าตำนานคือเหตุผล และก่อให้เกิดศีลธรรม   เอ็ดเวิร์ด กิบบอนกล่าวว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของมนุษย์   ปรัชญาในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 พยายามค้นหาแนวทางของตัวเอง สิ่งสำคัญที่นักคิดในยุคคนี้ให้ความสำคัญคือเรื่องระบบเหตุผลในตำนานซึ่งตกทอดมาจากยุคกลาง  ปิแอร์ เบเยิล กล่าวว่าตำนานมีความไม่ลงรอยระหว่างตัวละครที่เป็นเทพ และวีรบุรุษ   ในยุคโบราณมีการเคารพเทพเจ้าต่างๆ เช่น เทพจูปิเตอร์ซึ่งเป็นผู้ที่ประพฤติชั่ว และมักมากทางกามารมณ์  หรือกษัตริย์เดวิด ซึ่งเป็นฆาตกร ทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม และทรยศ   เดิวด ฮูม กล่าวว่า เทพทั้งหลายในตำนานในสมัยโบราณเคยเป็นมนุษย์มาก่อน   แต่จะถูกบูชาสรรเสริญเมื่อได้ทำคุณประโยชน์  และถูกทำให้เสื่อมเสียด้วยจารีตประเพณี เรื่องเหล่านี้กลายเป็นที่มาของเทพนิยายในเวลาต่อมา

          ในทางตรงกันข้ามแนวคิดแบบโรแมนติก(Romanticism)  เชื่อว่าตำนานทำให้ความเจริญรุ่งเรืองทางปัญญาความรู้ ตำนานจะเปรียบเสมือนความจริงและอำนาจที่มีอยู่เรื่อยไป  ไจแอมแบตติสตา วิโคใช้แนวคิดโรแมนติกอธิบายว่าความเชื่อในตำนานมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์   ตำนานจึงเป็นความคิดทางปรัชญาประเภทหนึ่ง เป็นปัญญาเชิงวรรณกรรม ซึ่งเป็นขั้นแรกของโลกมนุษย์ที่ยังไม่มีศาสนา ตำนานเป็นปรัชญาที่ต่างจากระบบเหตุผลและความคิดที่เป็นศาสตร์  ตำนานมีลักษณธเป็นอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการ

          แนวคิดโรแมนติกในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19  สนใจเรื่องจิตวิญญาณ หรือปัญญาของคนบางคน  ช่วงเวลานี้จึงมีตำนานต่างๆเผยแพร่ทั่วไป เช่นเรื่อง Eddas และจารึกในคัมภีร์พระเวทของอินเดีย   โจฮันน์ ก็อตต์ไฟรด์ วอน เฮอร์เดอร์คือผู้นำในการศึกษาตำนานที่เจาะลึกในประเด็น “ปัญญา” ของปัจจเจก   ในปึ ค.ศ.1767  เฮอร์เดอร์อธิบายว่าสังคมยุคใหม่มิได้มีตำนานความเชื่อของตัวเอง แต่หันกลับไปศึกษาตำนานโบราณเพื่อที่จะสร้างตัวตน   อย่างไรก็ตาม การศึกษาตำนานในแนวโรแมนติกเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นภายใต้ความคิดชาตินิยมอย่างรุนแรง   ตัวอย่างเช่นการศึกษาของจาค็อบ กริมม์ในเรื่อง Teutonic Mythology (1835)  พยายามสืบเสาะตำนานและคติชนที่เป็นของชาวเยอรมัน เป็นการชักจูงให้นักวิชาการหันมาศึกษาตำนานของแท้ที่เป็นของชาวเยอรมัน และแยกตำนานของกรีกโรมันออกไปในฐานะเป็นสิ่งที่มีค่าน้อยกว่า

          ข้อถกเถียงในเรื่องตำนานในสมัยวิคตอเรีย  ใช้แนวคิดวิวัฒนาการและการศึกษาเปรียบเทียบ  การศึกษาที่สำคัญได้แก่งานของนักภาษาศาสตร์ ฟรีดริช แม็ก มูลเลอร์ ซึ่งสนใจศึกษาภาษาอินโดยูโรเปียน  บทความของเขาในปี ค.ศ.1856 กล่าวว่าตำนานเปรียบเสมือนโรคร้ายในระบบภาษา  มูลเลอร์กล่าวว่า ตราบเท่าที่มนุษย์ยังใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ก็เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะพูดถึงสิ่งต่างๆโดยปราศจากเงื่อนไขส่วนบุคคล เพศสภาพ การกระทำ และบุคลิกภาพส่วนตัว    ตัวอย่างเช่น  พระเจ้าไดออสของชาวอารยัน มีลักษณะเดียวกับเทพซีอุสของกรีก คือทั้งสองเป็นเทพแห่งท้องฟ้า  การใช้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอุปมาอุปไมยกับเทพทำให้เกิดตำนานในเวลาต่อมา

          แอนดรูว์ แลง กล่าวว่านิทานชาวบ้านและขนบธรรมเนียมในความคิดของนักศึกษาตำนาน  เชื่อว่าเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นแบบแผนทางภาษาที่เสื่อมลง ซึ่งนักคิดแนววิวัฒนาการอธิบายว่านิทานชาวบ้านคือความเชื่อยุคแรกๆของสังคมมนุษย์ซึ่งหลงเหลือรอดมา  แลงกล่าวว่าตำนานกรีกเกี่ยวกับเทพโครนุส ที่ฆ่าลูกชายตัวเอง เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับการตีความของมูลเลอร์  เนื่องจากตำนานคือหลักฐานที่แสดงว่ามีธรรมเนียมการกินมนุษย์ในสังคมชนเผ่า   ในปี ค.ศ.1873 แลงอธิบายว่าเรื่องอภินิหารในเทพนิยาย คือหลักฐานที่ชี้ว่ามีการบูชาสัตว์  เวทมนต์ และการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ   มิใช่การบอกว่าตำนานคือภาพสะท้อนความเสื่อมทราม แลงเชื่อว่าทั้งตำนานและนิทานพื้นบ้านในวัฒนธรรมต่างๆมีลักษณะร่วมกันที่บ่งชี้วิธีคิดและจิตวิทยาของมนุษย์  เขากล่าวว่าชาวอารยันและชนชั้นล่างต่างมีสภาวะเงื่อนไขแห่งจินตนาการ สังคม และศาสนาเดียวกัน  ถึงแม้ว่าแนวคิดของแลงจะเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการ แต่ก็ยังเป็นการศึกษาที่ต่างไปจากนักมานุษยวิทยารุ่นต่อมา

          ประเด็นเกี่ยวกับตำนานเป็นประเด็นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการศึกษาทางมานุษยวิทยาสมัยใหม่  การทำความเข้าใจตำนานอาศัยทฤษฎีหลายแบบ เช่น กรอบทฤษฎีหน้าที่นิยม โครงสร้างนิยม และสัญลักษณ์   การใช้แนวทฤษฎีเหล่านี้เป็นทั้งการค้นหาความคิดซึ่งอธิบายตำนานว่าเป็นเหมือนหน้ากากที่ปกปิดความจริงทางสังคม (การศึกษาด้วยทฤษฎีหน้าที่นิยม และโครงสร้างนิยม) และเป็นการวิเคราะห์ในแบบโรแมนติก ที่อธิบายว่าตำนานคือความรู้ชนิดหนึ่ง  (การศึกษาในเชิงสัญลักษณ์)

          แนวทฤษฎีหน้าที่นิยม พยายามมองสังคมทั้งระบบ มิใช่ศึกษาเพียงตัวแบบทางวัฒนธรรมที่แยกเป็นส่วนๆ     ลักษณะทางวัฒนธรรมแต่ละอย่างล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน  และมีหน้าที่จรรโลงสังคมให้อยู่ได้ หรือตอบสนองความต้องการทางด้านความรู้สึกและร่างกาย  โบรนิสโลว์ มาลีนอฟสกี้ อธิบายว่าตำนานมิได้เป็นแค่เพียงเรื่องเล่าขาน แต่มีลักษณะเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาและความคิดเชิงศีลธรรมที่มีมาแต่โบราณ  หน้าที่ของตำนานคือการขยาย สืบทอดประเพณีโดยการพูดถึงความจริงที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีฐานะสูงส่งของต้นกำเนิด

          แนวทฤษฎีโครงสร้าง เป็นแนวคิดของนักเหตุผลนิยมที่มีข้อสมมุติฐานว่ารูปแบบทางวัฒนธรรม  คือภาพสะท้อนให้เห็นความคิดคู่ตรงข้าม  หรือระบบของสิ่งที่ตรงกันข้ามซึ่งเป็นเบ้าหลอมให้เกิดบุคลิกภาพของสังคม  ความคิดของคู่ตรงข้ามนี้คือพื้นฐานจิตใจของมนุษย์   การศึกษาในแนวทฤษฎีโครงสร้างนิยม ได้แก่การศึกษาของเลวีเสตราส์  เกี่ยวกับตำนาน Tsimshian ของชนเผ่า  Asdiwai  ตำนานนี้เป็นเรื่องราวการผจญภัยของวีรบุรุษ ผู้ซึ่งได้ของวิเศษ  และเดินทางไปยังพรมแดนสวรรค์และโลกมนุษย์  การเดินทางของวีรบุรุษจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภูเขาและมหาสมุทร มีการล่าสัตว์ การแต่งงานกับสตรีที่เป็นเทพธิดาและปีศาจร้าย  เลวีเสตราส์ กล่าวว่าตำนานของชาว Asdiwai บอกให้ทราบถึงแบบแผนชีวิตที่เป็นคู่ตรงข้าม สะท้อนภาพวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ตรงกันข้าม เช่น ทะเลกับแผ่นดิน ตะวันออกกับตะวันตก พืชกับสัตว์  ข้าวยากหมากแพงกับความอุดมสมบูรณ์ การแต่งงานกับคนนอกกับการแต่งงานกับคนใน และการสืบตระกูลข้างแม่กับการสืบตระกูลข้างพ่อ

          นักวิชาการแนวโครงสร้างนิยม ศึกษาตำนานโดยการเปรียบเทียบสำนวนการเล่าในแบบต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน    เดวิด แมนเดลบวมกล่าวว่า ถึงแม้ว่าแนวทฤษฎีโครงสร้างนิยมจะมีปัญหาหลายอย่าง แต่ความคิดของเลวีเสตราว์ก็ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งตรงกันข้าม  ของสิ่งที่ผิดสภาพ ความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลง ความคล้ายคลึงกัน และลักษณะเฉพาะของเรื่องเล่าบางเรื่องท่ามกลางสำนวนที่หลากหลาย

          แนวทฤษฎีมานุษยวิทยาสัญลักษณ์  มีแนวคิดร่วมกันการตีความวัฒนธรรม ซึ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบ ความหมายและบริบททางวัฒนธรรม     วิคเตอร์ เทอร์เนอร์ ผู้นำและมีอิทธิพลต่อการใช้ทฤษฎีสัญลักษณ์ทางมานุษยวิทยา ให้ความสนใจต่อประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างตำนานและพิธีกรรม  เทอร์เนอร์มองหาความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงถึงธรรมชาติของสัญลักษณ์ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในตำนานและพิธีกรรม  ตามความคิดของเทอร์เนอร์ตำนานมิใช่แบบแผนของการประพฤติปฏิบัติในทางโลก   แต่ตำนานและพิธีกรรมมีส่วนที่คล้ายกันคือมีคุณลักษณะของความศักดิ์สิทธิ์  และมีพลังที่เสริมสร้างระเบียบศีลธรรม   ตำนานเปรียบเสมือนความลึกลับแห่งพลังของต้นกำเนิดแห่งจักรวาล   ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์อาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูในศาสนาคริสต์ เป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และเล่าตำนานของพระเยซู  นักมานุษยวิทยาสมัยใหม่เชื่อว่าตำนาน คือเครื่องนำทางไปสู่การประกอบพิธีกรรมและจักรวาลวิทยา  เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นการปรับตัว โครงสร้างสังคม และโลกทัศน์ที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Geertz, Clifford, ed. 1974. Myth, Symbol, and Culture. New York: W. W. Norton and Company, Inc.

Geertz, Clifford. 1973 The Cerebral Savage: On the Work of Claude Levi-Strauss. In The Interpretation of Cultures. Pp. 345-359. New York: Basic Books, Inc.

Parker, Richard. 1985. From Symbolism to Interpretation: Reflections on the Work of Clifford Geertz. Anthropology and Humanism Quarterly 10(3):62-67.

Robert H.Wintrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.192-196.

Turner, Victor W. 1980.Social Dramas and Stories about Them. Critical Inquiry 7:141-168.


หัวเรื่องอิสระ: ตำนาน