Naming
การตั้งชื่อให้กับสมาชิกในครัวเรือน แต่ละสังคมจะมีวิธีคิดและการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ทุกๆสังคมล้วนมีการตั้งชื่อให้กับสมาชิกของตัวเอง ชื่อของบุคคลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวัฒนธรรม การตั้งชื่อมักจะมีกฎระเบียบเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย เช่น เด็กที่เกิดใหม่จะได้รับการตั้งชื่อ แต่วิธีการตั้งชื่อเด็กในแต่ละวัฒนธรรมจะแตกต่างกัน วิธีการแที่แตกต่างกันอาจพิจารณาจากช่วงเวลาของการตั้งชื่อ ระบบการคัดเลือกชื่อที่เหมาะสม สถานะของผู้ที่ตั้งชื่อ องค์ประกอบของคำ ควาหมายของคำ และชื่อของบุคคลอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา หรือมีชื่อเดียวก็ได้ เมื่อเด็กๆเกิดมาในสังคม สังคมจะมีวิธีการที่ต่างกันที่จะนำเด็กเข้ามาเป็นสมาชิก และอาจมีการตั้งชื่อหรือให้สถานะ เด็กคนหนึ่งอาจเป็นสมาชิกโดยการตัดผม การแต่งกาย การสักร่างกาย หรือการตั้งชื่อให้กับเด็ก ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของสังคมประเพณี นักมานุษยวิทยาพบว่าการรับเด็กเป็นสมาชิกในกลุ่มจะมีการตั้งชื่อเด็ก ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำหน้าที่ตั้งชื่อคือพ่อแม่ของเด็ก สังคมประเพณีส่วนใหญ่การตั้งชื่อเด็กแรกคลอดจะมีพิธีกรรมและมีคนเข้ามาร่วมจำนวนมาก
การศึกษาของคล็อกเกอร์ (1984) ในลุ่มน้ำอะเมซอนพบว่าชนพื้นเมืองในดินแดนแถบนี้มักจะตั้งชื่อสมาชิกจากคำที่มีอยู่เดิม การศึกษาของกูแอมเปิลก็พบว่าชาวอินเดียนเผ่าอรนูอิตจะตั้งชื่อเด็กคล้ายกับชื่อของสัตว์และต้นไม้ในธรรมชาติ ในบางสังคมการตั้งชื่อจะเกี่ยวข้องกับฐานะทางสังคมของคนหรือสัมพันธ์กับเพศสรีระ การศึกษาของชินเว นโวเย (2014) พบว่าชนเผ่าอิกโบในประเทศไนจีเรีย การตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่จะจัดเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีขั้นตอน 6 ขั้น เพื่อทำให้เด็กมีตัวตนทางสังคม
ในสังคมอุตสาหกรรมปัจจุบัน การตั้งชื่อเด็กจะเกิดขึ้นหลังคลอดไม่นานนัก แตกต่างจากสังคมประเพณีที่การตั้งชื่อเด็กแรกเกิดอาจเกิดขึ้นช้า สังคมประเพณีประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์อาจตั้งชื่อเด็กหลังจากนั้น 10 วัน หรืออาจนานถึง 30 วัน สังคมประเพณีประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ มีการตั้งชื่อเด็กหลังคลอดนานถึง 1 เดือน หรือ 4 ปี การตั้งชื่อเด็กช้า อาจเนื่องมาจากต้องการดูว่าเด็กคนนั้นมีการเติบโตอย่างไร ในบางสังคม เชื่อว่าการตั้งชื่อเด็กเร็วเกินไปอาจทำให้ปีศาจหรือวิญญาณชั่วร้ายมาจับเด็กไป บางสังคมเชื่อว่าการตั้งชื่อเด็กจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตถึงวัยอันควร เช่น เริ่มมีฟันงอกขึ้นมา เริ่มคลานได้ หย่านมได้ หรือตัดผมไฟ ในบางสังคมจะรอคอยให้เด็กเติบโตรู้ความ เช่น ในชนเผ่าคูน่า ในประเทศปานามา จะตั้งชื่อเด็กเมื่ออายุ 10-14 ขวบ
สังคมส่วนใหญ่ สิทธิในการตั้งชื่อเด็กเป็นสิทธิพิเศษสำหรับบางคนเท่านั้น เพราะว่าการตั้งชื่อจะทำให้เด็กคนนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในสังคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง พ่อแม่เด็กจะมีสิทธิตั้งชื่อลูกที่เกิดใหม่ แต่ในสังคมประเพณีบางแห่ง พ่อแม่อาจมิใช่ผู้ที่ตั้งชื่อลูกของตัวเอง แต่ผู้ตั้งชื่ออาจเป็นปู่ย่าตายาย หรือนักบวชในศาสนา บางครั้งอาจมีคนหลายคนอาจมาช่วยกันตั้งชื่อเด็กก็ได้
ในบางสังคมอาจตั้งชื่อมาจากความฝัน บางสังคมอาจใช้วิธีเข้าทรงเพื่อเลือกชื่อที่เหมาะสม ในหลายๆสังคมจะมีระบบของการตั้งชื่อ เช่นมีชื่อไว้ให้เลือก แต่อาจเลือกชื่อใหม่นอกเหนือจากของเดิมก็ได้ เช่น เรียกชื่อตามบรรพบุรุษ หลายสังคมมีการตั้งชื่อโดยการติดต่อกับวิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชื่อบางชื่ออาจมาจากวิญญาณบอก เช่น ในชนเผ่าชุคชี ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์ในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรีย การตั้งชื่อเด็กอาจมาจากชื่อของคนที่ตายไปแล้ว วิธีการเลือกชื่อของชาวชุคชี จะนำก้อนหินและรองเท้ามาผูกเชือก โดยมีชื่อของคนที่ตายไปแล้วเขียนอยู่บนก้อนหินและรองเท้า เมื่อเชือกอันไหนแกว่ง ชื่อนั้นก็จะเป็นชื่อของเด็ก เพราะเชื่อว่าวิญญาณคนตายเป็นผู้มอบให้
ในชนเผ่าเอแชนติ และเผ่าฮัวซา ในเขตตะวันตกของแอฟริกา จะตั้งชื่อเด็กตามชื่อของวันที่เด็กคนนั้นเกิด ในชนเผ่าหลายกลุ่มในเขตมาลายา จะตั้งชื่อเด็กตามชื่อที่มีอยู่แล้ว 7 ชื่อ ในบางสังคม ลูกชายคนแรกจะตั้งชื่อตามชื่อของปู่ ส่วนลูกสาวจะตั้งชื่อตามชื่อยาย ลูกชายคนที่สองจะตั้งชื่อตามชื่อตา ลูกสาวคนที่สองตั้งชื่อตามชื่อย่า ในสังคมแอฟริกาหลายแห่ง เด็กที่เป็นฝาแฝด หรือเด็กที่เกิดในวันพิเศษจะมีชื่อพิเศษ ในบางสังคมชื่อเด็กอาจได้มาจากชื่อของตระกูล หรือชื่อวันสำคัญทางศาสนา อย่างไรก็ตาม ระบบการตั้งชื่อมักจะเป็นการตั้งชื่อตามคนในครอบครัว โดยเฉพาะชื่อปู่ย่าตายาย หรือชื่อของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ประเภทของการตั้งชื่อในแต่ละสังคมจะแตกต่างกัน เช่น ในสังคมประเพณี ชื่อของบุคคลจะมีเพียง 1 เดียว แต่สังคมบางแห่ง ชื่อบุคคลอาจมีมากกว่าหนึ่งชื่อ ในสังคมที่เก็บของป่าล่าสัตว์ หรือพึ่งธรรมชาติมักจะมีการตั้งชื่อเพียงชื่อเดียว ในขณะที่สังคมเกษตรกรรม บุคคลจะมีชื่อมากกว่าหนึ่งชื่อ เนื่องจากสังคมเกษตรมีประชากรมาก ครอบครัวหนึ่งอาจมีลูกหลายคน ชื่อที่เพิ่มเข้ามาอาจเป็นนามสกุล หรือชื่อที่ได้มาจากบิดา ซึ่งชื่อเหล่านี้จะบ่งบอกว่าบุคคลคนนั้นอยู่ในตระกูลของใคร สืบเชื้อสายมาจากใคร ในบางสังคม เช่น ในจีน และเกาหลี นามสกุลอาจมาก่อนชื่อประจำตัว โดยปกตินามสกุลจะเป็นชื่อทางสังคม และบ่งบอกสถานะของบุคคล ในอดีต ชาวยุโรปจะใช้นามสกุลเป็นเครื่องบ่งบอกว่าใครมีฐานะสูงส่ง สังคมส่วนใหญ่ จะใช้นามสกุลที่ส่งต่อมาจากบิดา ชาวฮ๊กเกี้ยนในไต้หวันมีธรรมเนียมว่าลูกคนแรกจะใช้นามสกุลของพ่อ ลูกคนที่สองใช้นามสกุลของแม่ ลูกคนต่อไปอาจใช้นามสกุลของพ่อ ชาวเซิบร์บ จะให้ลูกใช้นามสกุลของแม่ ถ้าแม่มีบทบาทสำคัญกว่า
ในสังคมประเพณีบางแห่ง จะตั้งชื่อลูกตามชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ บางสังคมชื่อของบุคคลอาจมาจากชื่อสถานที่ ตัวอย่างเช่น ชาวสิงหลในประเทศศรีลังกา จะตั้งชื่อคนตามชื่อบ้าน หรือชื่อสวนของคนๆนั้น คู่สามีภรรยาในชนเผ่าทิโกเปียนส์ ในหมู่เกาะโซโลมอน จะตั้งชื่อคนตามชื่อบ้าน ชนเผ่าหลายแห่งจะตั้งชื่อตัวเองปลอมๆขึ้นมาเพื่อมิให้ชาวตะวันตกรู้ว่าตนเป็นใคร ในสังคมประเพณี การตั้งชื่อจะเลือกมาจากชื่อที่มีอยู่แต่เดิม ชื่อเหล่านี้จะไม่มีความหมาย หรืออาจมีความหมายก็ได้ ในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์มักจะตั้งชื่อบุคคลด้วยชื่อที่มีความหมาย เช่น ชื่อของสัตว์ หรือตั้งชื่อตามลักษณะท่าทาง รูปร่าง ลักษณะทางกายภาพ เป็นต้น ในบางสังคมชื่อที่มีความหมายในทางไม่ดีหรือเลวทราม จะไม่นำมาตั้งเป็นชื่อคน
การตั้งชื่ออาจบ่งบอกถึงลักษณะทางเพศของบุคคล วิธีการตั้งชื่อเพื่อบอกเพศมี 3 วิธี คือ 1) ตั้งชื่อให้มีความหมายถึงเพศนั้นๆ 2) ตั้งชื่อโดยบอกถึงอวัยวะเพศ และ 3) ตั้งชื่อตามคำที่คิดขึ้นใหม่เพื่อบ่งบอกเพศ การตั้งชื่อของสังคมแต่ละแห่งมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ ชื่อนั้นจะเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของบุคคล แต่ถ้าในสังคมที่มีระบบการตั้งชื่อที่มีคำน้อย หรือใช้ชื่อซ้ำกันหลายคน สังคมนั้นก็จะมีวิธีอื่นในการแยกแยะบุคคล เช่น มีการตั้งชื่อเล่นเพิ่มเข้าไป เพื่อให้รู้ว่าเป็นใคร ถึงแม้ว่าบุคคลจะมีชื่อเดียวตลอดชั่วชีวิต แต่บางคนอาจมีชื่อหลายชื่อ สังคมหลายแห่งมีการตั้งชื่อเล่น บางแห่งอาจมีการเปลี่ยนชื่อเมื่อบุคคลเริ่มเป็นผู้ใหญ่ การเปลี่ยนชื่อสะท้อนให้เห็นว่าบุคคลมีการเปลี่ยนสถานะทางสังคม
การตั้งชื่อเล่นเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในหลายสังคม ชื่อเล่นอาจเป็นชื่อที่เกิดขึ้นทีหลัง หรือเป็นชื่อเสริมชื่อจริง ส่วนใหญ่ชื่อเล่นจะมาจากการตั้งของเพื่อนที่อยู่ในรุ่นเดียวกัน ชื่อเล่นเป็นชื่อที่ไม่เป็นทางการ และทำให้เกิดการควบคุมทางสังคม ชื่อเล่นทำให้บุคคลสามารถแสดงออกถึงบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวได้ ส่วนชื่อจริงหรือชื่อที่ได้รับการตั้งโดยขนบธรรมเนียมประเพณี จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเปลี่ยนสถานะ เช่น จากการเป็นโสดไปสู่การเป็นสามีหรือภรรยา คนที่แต่งงานแล้วจะมีชื่อใหม่ ชื่อที่เกิดขึ้นใหม่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนสถานะของบุคคลที่ชัดเจน การเปลี่ยนชื่อจะทำให้คนๆนั้นตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง สำนึกของการเปลี่ยนแปลงสถานะอาจดูได้จากชื่อที่เปลี่ยนใหม่ ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตา ในสังคมประเพณีหลายแห่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงชื่ออยู่ตลอดเวลา
ในหลายวัฒนธรรม บุคคลอาจสร้างเอกลักษณ์ประจำได้หลายวิธี เช่น อาศัยลักษณะทางเพศ ความเป็นญาติพี่น้อง การตั้งชื่อเล่น ชื่อตามอาชีพการงาน ชื่อตามกฎหมาย ชื่อนำหน้าเพื่อบ่งบอกสถานะ หรือ ชื่อที่มีการผสมผสานหลายแบบ ขนบธรรมเนียมทางสังคมอาจมีการแสดงออกในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง การแสดงออกเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลแสดงตัวเองได้ ชื่อที่เรียกตามบทบาท อาจทำให้บุคคลแสดงบทบาทได้เหมาะสม ชื่อที่เรียกตามคุณสมบัติหรือคุณงามความดี อาจทำให้บุคคลแสดงทัศนคติที่ต่างกัน ชื่อประจำตัวของบุคคลอาจทำให้บุคคลนั้นรู้ว่าตนเองมีบุคลิกลักษณะอย่างไร
ในสังคมประเพณีมีการเรียกชื่อญาติพี่น้องตามชื่อเรียกญาติโดยเฉพาะ การเรียกชื่อญาติมักจะปรากฎในสังคมขนาดเล็ก เช่น สังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ หรือพึ่งธรรมชาติ สังคมประเพณีส่วนใหญ่จะมีญาติเป็นศูนย์กลาง ญาติแต่ละคนจะมีบทบาทของตัวเอง การเรียกชื่อญาติจึงเป็นการตอกย้ำหน้าที่ของแต่ละคน สังคมส่วนใหญ่การเรียกชื่อญาติจะเป็นการแสดงความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ความสัมพันธ์กับญาติที่อาวุโส ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ระหว่างพี่น้อง และญาติทางการแต่งงาน
สังคมประเพณีบางแห่ง จะมีชื่อที่ต้องห้าม ในบางโอกาส บุคคลจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีชื่อประจำตัว บางสังคมเชื่อว่ามีชื่อบางชื่อเป็นของต้องห้าม เช่น ชื่อของพ่อแม่ ชื่อของสามีภรรยา ชื่อของพ่อแม่บุญธรรม หรือชื่อปู่ย่าตายาย ชื่อต้องห้ามอาจเป็นชื่อของคนตาย ในหลายสังคมชื่อของบุคคลเป็นสิ่งต้องห้ามที่จะใช้โดยทั่วไป ชื่อบางชื่ออาจเกี่ยวข้องกับเวทมนต์คาถา บางสังคมจะมีการหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อญาติ หรือมิให้ญาติทำในสิ่งต้องห้าม เช่น การเปลือย การพูดถึงเพศ ห้ามเรียกชื่อของกันและกัน ห้ามแตะเนื้อต้องตัวกัน หรือห้ามไปอยู่ในที่ของคนอื่น การเลี่ยงการเรียกชื่อญาติ อาจทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินต่อไปได้ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้เกิดการละเมิดอำนาจ หรือการล่วงเกินทางเพศ
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Chinwe Nwoye. 2014. An ethnographic study of Igbo naming ceremony. International Journal of Sociology and Anthropology. Vol.6(10), pp. 276-295.
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.833-836.
Gabriele vom Bruck and Barbara Bodenhorn (eds.) 2009. An Anthropology of Names and Naming. Cambridge University Press.
หัวเรื่องอิสระ: การตั้งชื่อบุคคล