Nepotism
ความลำเอียงให้แก่ญาติตัวเอง (Nepotism) หมายถึงการให้ความสำคัญแก่ญาติพี่น้องมากกว่าคนอื่น หรือเป็นการให้ประโยชน์แก่ญาติพี่น้องก่อนเป็นอันดับแรก การศึกษาหลายชิ้น เช่น Chagnon and Bugos 1979, Hawkes 1983, Essock-Vitale and McGuire 1985 แสดงให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับญาตินั้นมักจะมาจากเรื่องสายโลหิต แต่การเป็นญาติตามสายเลือดนั้นเป็นการอธิบายจากทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่งนำไปใช้กับสังคมของสัตว์และมนุษย์ ทฤษฎีวิวัฒนาการเชื่อว่าความเป็นญาติมีการเปลี่ยนแปลงมาตามสายเลือดเช่นเดียวกับพัฒนาการทางร่างกาย อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการของญาตินี้คือ เซลล์พันธุกรรมมีบทบาทสำคัญมากในการอยู่รอดในร่างกายที่แข็งแรง ทฤษฎีความเป็นญาติในความคิดวิวัฒนาการมิได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์จากตัวแปรของยีนส์เท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างสายเลือด ดังนั้นกฏความเป็นญาติดังกล่าวจึงอธิบายได้ว่าบุคคลต้องการช่วยพี่น้องของตนเองมากกว่าคนที่มิใช่ญาติ
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ทฤษฎีวิวัฒนาการของญาติถูกนำไปประยุกต์ใช้อธิบายเรื่องระบบศีลธรรม การรับบุตรบุญธรรม การทารุณเด็ก การฆาตกรรม การแบ่งปันอาหาร และการชี้วัดเรื่องภาวะเจริญพันธุ์ ตัวอย่างเช่น มีการศึกษาวิจัยพบว่าการหมดประจำเดือนมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม มนุษย์เพศหญิงยุคโบราณเมื่อมีอายุย่างเข้า 40 ปี และไม่มีลูกจะมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ เธอจะมีเวลาเลี้ยงดูบุตรหลาน และญาติพี่น้องได้มากขึ้น และลูกที่เกิดมายังปลอดภัยจากการถูกฆ่าตายโดยผู้ชายจากนอกเผ่า ซึ่งเธอสามารถมีชีวิตรอดและมีสุขภาพแข็งแรงตอลดระยะเวลาของการตกไข่และเจริญพันธุ์ สภาวะดังกล่าวถ่ายทอดมาทางยีนส์ที่กำหนดการมีประจำเดือน และตกทอดมายังรุ่นต่อมาเพื่อการสืบพันธุ์ ดั๊ก โจนส์ (2000) กล่าวว่าระบบเครือญาติของมนุษย์มีหน้าที่ทำให้สมาชิกในครัวเรือนช่วยเหลือกัน สายสัมพันธ์ของญาติจึงวางอยู่บนมิตรภาพ ญาติจึงมีความสำคัญมากกว่าคนที่มิใช่ญาติ
การรับลูกคนอื่นมาเป็นลูกบุญธรรมในสังคมชนเผ่า เช่นในเขตมหาสมุทรเป็นข้อพิสูจน์เกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการของญาติที่นำมาอธิบายสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามกฎของแฮมิลตัน พ่อแม่บุญธรรมคือบุคคลที่ใกล้ชิดกับลูกบุญธรรมที่เขารับมาเลี้ยง การรับลูกคนอื่นมาเลี้ยงนั้นมักจะเป็นเรื่องของการทำบุญ และยังมีความหมายในเชิงของการสืบเผ่าพันธุ์ เพราะพ่อแม่บุญธรรมต้องสนิทสนมกับพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็ก ในเรื่องของสภาวะเจริญพันธุ์ตามกฎของแฮมิลตันพบว่าครือข่ายความเป็นญาติพี่น้องคือแหล่งทรัพยากรและการบริการที่สำคัญ เพราะเครือข่ายจะให้ลูกหลานมีคู่ครองและเลี้ยงดูบุตรหลานได้ นับตั้งแต่คนในครอบครัวไปจนถึงกลุ่มญาติพี่น้องอื่นๆ ซึ่งญาติเหล่านี้คือเครื่องมือช่วยให้การเจริญพันธุ์เป็นไปได้
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Doug Jones. 2000. Group Nepotism and Human Kinship. Current Anthropology
Vol. 41, No. 5, pp. 779-809
Paul Turke ใน David Levinson, Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry holt and Company, New York. หน้า853-855.
Simon Ulrik Kragh. 2012. The anthropology of nepotism: Social distance and reciprocity in organizations in developing countries. International Journal of Cross Cultural Management May 23.
Vanhanen, Tatu, 1999. "Domestic Ethnic Conflict and Ethnic Nepotism: A Comparative Analysis," Journal of Peace Research, Vol. 36.
หัวเรื่องอิสระ: ความลำเอียงให้แก่ญาติพี่น้อง