คำศัพท์

Nomadism

         ความหมายของ Nomadism หมายถึงสภาวะของมนุษย์ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยถาวร เร่ร่อนหาอาหารและเลี้ยงสัตว์ไปในที่ต่างๆ  ในทางมานุษยวิทยาคำว่า Nomadism หมายถึงการย้ายถิ่นตามฤดูการของกลุ่มมนุษย์ที่เลี้ยงสัตว์เพื่อการยังชีพและหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นแหล่งอาหาร   กลุ่มคนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์มิได้มีนิยามที่ตายตัว กลุ่มคนเหล่านี้มีเส้นทางเดินเพื่อการย้ายถิ่นหรืออพยพที่แน่นอน พวกเขารู้ว่าจะตั้งที่พักหรือแหล่งอาศัย ณ บริเวณใด ซึ่งเมื่อถึงกำหนดก็ย้ายไปตามแหล่งนั้น อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคนเร่ร่อนเหล่านี้ย้ายถิ่นไปตามมาตรฐาน หรือแม้ว่าจะไม่มีรากเหง้า และบ้านเกิดเป็นการถาวรก็ตาม  กลุ่มคนแร่ร่อนส่วนใหญ่ยังรู้จักการปกป้องถิ่นฐานและที่อยู่อาศัยของตนเอง คำว่า “nomad” และ “nomadism” จึงเป็นความหมายที่มีไว้อธิบายกลุ่มคนที่เดินทางและย้ายถิ่นอยู่เป็นประจำ หรืออาจเดินทางไกลในบางโอกาสแต่อยู่ในขอบเขตที่พวกเขาสามารถจัดการได้

          การเป็นคนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ คือสถานภาพที่ชัดเจนที่สุดของคนที่ยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้า คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ด้วยผลผลิตจากสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน กลุ่มคนเร่ร่อนส่วนใหญ่นิยมการย้ายถิ่นไปเรื่อยๆเพราะต้องการแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ เช่นน้ำและอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งดินแดนที่พวกเขาย้ายไปนั้นอาจมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ตลอดเวลา  การเร่ร่อนที่รุนแรงที่สุดคือการเร่ร่อนในเขตทะเลทราย ที่ต้องใช้อูฐเป็นสัตว์เลี้ยงในเขตแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง   กลุ่มคนเลี้ยงฝูงแกะ แพะ และวัวควายอาศัยอยู่ในเขตแห้งแล้งจำเป็นต้องย้ายถิ่นไปในแหล่งต่างๆที่มีหญ้าและหนองน้ำเพื่อการยังชีพ  กลุ่มเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนในเขตแอฟริกาตะวันตกบางกลุ่มมีการโยกย้ายถิ่นลงใต้เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรตั้งแต่เขตทุ่งหญ้าฤดูฝนของ Sahel ไปจนถึงเขตทุ่งหญ้าแห้งแล้ง ซึ่งอยู่ชายแดนของเขตกสิกรรมกึ่งชุ่มชื้น   กลุ่มเร่ร่อนในเขตแอฟริกาตะวันออกมีการย้ายถิ่นบ่อยกว่ากลุ่มอื่นๆแต่เส้นทางเดินไม่ไกลมากนัก  ในขณะที่กลุ่มอื่นๆในเขตเดียวกันไม่มีการย้ายถิ่นมากนัก

          รูปแบบการย้ายถิ่นของมนุษย์มักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยของฤดูกาลซึ่ง เป็นการเปลี่ยนที่อาศัยและเลี้ยงสัตว์จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง  รูปแบบที่พบห็นได้บ่อยที่สุดคือการย้ายถิ่นไปอยู่ในเขตที่ราบภูเขาสูงในฤดูร้อน และย้ายลงมาที่ราบในฤดูร้อนถัดไป ตัวอย่างเช่นในประเทศโมร็อคโค กลุ่มคนเร่ร่อนจะตั้งแหล่งพำนักและเลี้ยงสัตว์ในเขตเหนือของทะเลทรายซาฮาร่าในฤดูหนาว และย้ายถิ่นไปยังเขตเทือกเขาแอตลาสในฤดูร้อน  รูปแบบนี้เกิดขึ้นในเขตภูเขาหลายๆที่ของโลก เช่น เทือกเขา Zagros ในอิหร่าน เทือกเขาหิมาลัยในเอเชียกลาง และเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้    รูปแบบการเร่ร่อนเพื่อหาแหล่งที่อยู่ใหม่อีกแบบหนึ่งคือการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าซึ่งเป็นรูปแบบสมัยใหม่ พบในเขตอเมริกาเหนือและประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ

          การย้ายถิ่นเพื่อหาแหล่งน้ำและอาหารขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ถ้าแหล่งอาหารมีจำกัด และไม่พอต่อการเลี้ยงปากท้อง หรือปริมาณน้ำฝนมีน้อยเกินไป การโยกย้ายถิ่นของกลุ่มเร่ร่อนจะเกิดขึ้นบ่อยๆ และอาจเป็นการเดินทางไกล ในทางตรงข้ามถ้าปริมาณน้ำฝนและอาหารมีอดุมสมบูรณ์ การย้ายถิ่นฐานอาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

          สัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดต้องการน้ำและอาหารต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่เลี้ยงสัตว์ชนิดไหน วัวควายมักจะกินหญ้าซึ่งนิยมเลี้ยงกันมากในเขต Sub-Sahara ในแอฟริกา  ในเขตเอเชียกลางนิยมเลี้ยงแกะ และเขตแห้งแล้งของแอฟริกาและเอเชียนิยมเลี้ยงอูฐซึ่งกินหญ้าอ่อนเป็นอาหาร ในเขตอเมริกาใต้นิยมเลี้ยงลาและแพะ และสัตว์พื้นเมืองเช่นลามาส์ และอัลปาคาส์ ส่วนในพื้นที่หนาวและเขตภูเขาสูงจะมีการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ ในเขตเอเชียบางเขตนิยมเลี้ยงมาก แต่ไม่พบในเขตแอฟริกา 

          กลุ่มคนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์มีการย้ายถิ่นเป็นกิจวัตร  สัตว์เลี้ยงของคนเหล่านี้จะมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มโดยแยกตามชนิดและผลผลิต แต่ละกลุ่มจะมีลักษณะการย้ายถิ่นของตัวเอง ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนเร่ร่อนในแอฟริกาอาจแยกสัตว์เลี้ยงออกตามประเภท ได้แก่ วัวควาย อูฐ แพะและแกะ สัตว์เหล่านี้จะถูกเลี้ยงในเขตของตัวเองดโดยขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารและน้ำ สัตว์เลี้ยงบางชนิดอาจถูกแยกออกไปต่างหาก โดยไม่ปะปนกับสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร และเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษเช่นแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอื่นๆ    สัตว์ที่ยังมีอายุน้อยมักจะอยู่ในเขตบ้าน แต่เมื่อสภาพแวดล้อมไม่อุดมสมบูรณ์   ทั้งคนและสัตว์ก็จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันจนกว่าสภาพแวดล้อมจะกลับคืนมาสมบูรณ์อีกครั้ง

          ถึงแม้ว่าเหตุผลสำคัญของการย้ายถิ่น คือการแสวงหาอาหารและน้ำเพื่อสัตว์เลี้ยง มนุษย์อาจมีเหตุผลอื่นๆอีกสำหรับการย้ายถิ่นฐาน เช่น ความขัดแย้งกับกลุ่มคนเร่ร่อนกลุ่มอื่น การคุกคามของโรคร้าย หรือเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมือง  รูปแบบการย้ายถิ่นฐานจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความต้องการอาหารและน้ำเสมอไป  เหตึผลทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอื่นๆอาจนำไปสู่การตัดสินใจย้ายถิ่น และการย้ายถิ่นบางครั้งก็เกิดจากความขัดแย้ง

          สัตว์บางชนิดมีประโยชน์สำหรับเป็นยานพาหนะในการขนส่ง เช่น ม้าและอูฐในคาบสมุทรซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาเหนือ และมองโกเลีย สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มักใช้เป็นแหล่งอาหาร  คนเร่ร่อนส่วนใหญ่จะดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอ สัตว์บางชนิดจะให้นมและเนื้อเพื่อบริโภคประจำวัน  เช่น ไขมันสัตว์ โยเกิร์ต ชีส เนื้อ เลือด ขนสัตว์ และ หนังสัตว์  สัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลี้ยงยังเป็นสินค้นขายในตลาด หรือใช้เป็นของแลกเปลี่ยนกับอาหารหรือของใช้อื่นๆ   ในกลุ่มเร่ร่อนบางกลุ่มมีการเพาะปลูก หรือมีการย้ายถิ่นเพาะปลูกไปตามฤดูกาล   รูปแบบการดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ของคนเร่ร่อนจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับลักษณะการย้ายถิ่น

          การเลี้ยงแพะหรือแกะในเขตอนาโตเลีย และที่ราบสูงอิหร่าน  ดำรงอยู่ร่วมกับระบบเศรษฐกิจที่มีการเพาะปลูก ถึงแม้ว่ากลุ่มคนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์จะย้ายถิ่นเสมอ แต่พวกเขาจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีดนม การแร่เนื้อ การถลกหนังสัตว์ และลอกขนสัตว์ไปแลกกับผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยังชีพ ในเขตเทือกเขาแอนดีสจะมีการถลกขนของตัวอัลปาคาเพื่อนำไปทำเสื้อ  และนำเนื้อและหนังไปขายเป็นสินค้าเพื่อแลกเมล็ดพืชและหัวเผือกหัวมัน   กลุ่มคนเร่ร่อนอื่นๆในเขตอเมริกาใต้มีการปลูกมันฝรั่ง พืชที่ใช้หัวเป็นอาหาร และพื้ชที่ให้เมล็ดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ดินที่เพาะปลูกมาเหมาะสมหรือไม่  ในแอฟริกาตะวันตก กลุ่มคนเร่ร่อนมีการย้ายถิ่นเพาะปลูกตามฤดูกาล และมีการขายแรงงานหรือสัตว์เลี้ยงเพื่อแลกกับธัญพืช  ในเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะมีการเพาะปลูกควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ ในบางโอกาส

          ในทางตรงข้าม พื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้งของแอฟริกาตอนเหนือและตะวันออกกลาง ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เพราะสภาพแวดล้อมที่รุนแรง กลุ่มคนเร่ร่อนในเขตนี้จะค้าขายสินค้าจากอูฐ หรือใช้เนื้อูฐแลกกับอาหารและสิ่งของเครื่องใช้  ในเขตเอเชียกลาง และมองโกเลียที่มีสภาพแวดล้อมแห้งแล้งและเป็นทุ่งหญ้า ไม่มีการเพาะปลูกเช่นเดียวกัน คนเร่ร่อนแถบนี้จะใช้สัตว์เลี้ยงแลกเปลี่ยนกับอาหารและสิ่งของเครื่องใช้  ตัวอย่างเช่น ในมองโกเลียมีการบริโภคนมในฤดูร้อน และมีการฆ่าสัตว์ในฤดูหนาว  ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ยังเป็นสินค้นเพื่อแลกกับแป้งและผลิตภัณฑ์อาหารชนิดอื่นๆ  คนเหล่านี้จะมีการย้ายถิ่นไปเรื่อยๆเพื่อยังชีพ เมื่อมีสัตว์เลี้ยงจำนวนมากพวกเขาจะย้ายที่อยู่อาศัยไป แทนที่จะเลี้ยงไว้ในที่ที่เดียว การย้ายถิ่นฐานจึงนำไปสู่การจัดระเบียบทางสังคม

          กลุ่มคนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์มีวิธีการจัดการกับทรัพยากรโดยมีหน่วยครัวเรือนเป็นพื้นฐานทางสังคม    ซึ่งในครัวเรือนจะประกอบด้วยหัวหน้าและญาติพี่น้อง  ครอบครัวของคนเร่ร่อนส่วนใหญ่จะมีการนับญาติทางพ่อ และมีการนับถือผู้ชายเป็นใหญ่ รวมทั้งกฎการสืบทอดมรดก ทายาท ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัยจะเกิดขึ้นทางสายผู้ชาย ครัวเรือนของคนเร่ร่อนอาจประกอบด้วยครอบครัวหลายครอบครัว เช่น ครอบครัวของหัวหน้า ลูกชาย และญาติๆ ครอบครัวจึงมีขนาดใหญ่มาก   ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน ลูกจึงมีจำนวนมาก หน้าที่ของครัวเรือนได้แก่การดูแลฝูงสัตว์ การย้ายถิ่นและการเลี้ยงดูครอบครัว หัวหน้าครัวเรือนจะมีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น เมื่อไรที่จะย้ายที่อยู่ ย้ายไปที่ไหน ใครบ้างที่ต้องย้าย และจะแบ่งปันสัตว์และแรงงานกันอย่างไร ทุกคนในครัวเรือนต้องรับผิดชอบครอบครัว การตัดสินใจจึงมีความสำคัญมาก หัวหน้าฝูงสัตว์มักจะร่วมคิดและวางแผนร่วมกับหัวหน้าฝูงคนอื่น

          ผู้หญิงในกลุ่มจะมีหน้าที่เตรียมอาหาร รีดนมสัตว์ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงลูก ตักน้ำและเตรียมเชื้อเพลิง ผู้หญิงจะไม่มีอำนาจในการคุมฝูงสัตว์ นอกจากผลผลิตบางอย่างที่เธอมี เด็กๆมักจะเล่นกับฝูงสัตว์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ตัวอย่างเช่น เด็กจะไม่เล่นกับอูฐตัวใหญ่ นอกจากอูฐที่ยังเป็นเด็ก นอกจากนั้นเด็กๆอาจเลี้ยงสัตว์เล็กๆเช่นแพะ แกะ วัวควาย เป็นต้น ในครัวเรือนไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานในการเลี้ยงสัตว์เพราะ คนในครอบครัวคือแรงงานอยู่แล้ว หรืออาจอาศัยแรงงานจากเพื่อนบ้าน   ครัวเรือนจึงเป็นหน่วยที่มีอำนาจในตัวเอง หรืออาจมีการรวมตัวกันในรอบปีเพื่อช่วยกันทำงาน  คุ้มครองความปลอดภัย และสร้างสัมพันธภาพทางสังคม

          ความสัมพันธ์ในเครือญาติมีความแตกต่างกันตามระดับของครัวเรือน เช่น ความสัมพันธ์ในระดับญาติ  ระดับตระกูล และเผ่า ผู้คนจะมารวมกันตามความสัมพันธ์ และตามหน้าที่ถึงแม้จะเป็นชั่วครั้งชั่วคราว  การรวมตัวในระดับตระกูลหรือเผ่าขนาดใหญ่มักจะประกอบด้วยเขตพรมแดนและประเด็นทางการเมือง    การรวมตัวของเผ่าอาจเกิดขึ้นเพราะปัญหาทางการเมืองและต้องการแสดงออกถึงความเป็นเผ่าพันธุ์ ในบางกรณี คนในเผ่าอาจมิใช่ญาติพี่น้องกัน และมีการรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเมือง รูปแบบการจัดระเบียบสังคมในกรณีนี้จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ 

          ตัวอย่างเผ่าในเขตตะวันออกกลาง เช่นกลุ่มคนเลี้ยงแกะและแพะในอิหร่าน มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับชาวเมืองอย่างซับซ้อน โดยอาศัยรูปแบบการค้าขายที่มีต่อกัน ในเขตยูเรเซียตอนกลาง มีกลุ่มเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์รวมตัวกันในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยเจงกีสข่าน จนก่อให้เกิดรัฐที่อำนาจมาก เช่นประเทศจีน ในเขตแอฟริกาตะวันตก กลุ่มเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ยังคงมีการจัดระเบียบสังคมแบบเผ่า จนถึงศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวตะวันตกบุกรุกเข้ามา อย่างไรก็ตาม หน่วยครัวเรือนก็ยังเป็นหน่วยอิสระและสัตว์เลี้ยงก็คือแหล่งของการผลิตที่สำคัญ  ครัวเรือนมีอิสระที่จะแสวงหาและใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ตามความต้องการ

          การเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อนพัฒนาขึ้นในเขตตะวันออกกลางมากกว่า 1 หมื่นปีก่อน เมื่อคนเริ่มที่จะรู้จักการควบคุมสัตว์ป่าประเภทแพะและแกะ ซึ่งมันจะถูกเลี้ยงไว้ในที่ดินริมแปลงเพาะปลูก   เมื่อธรรมเนียมการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนกลายเป็นวิธีการยังชีพ  มันก็เริ่มแผ่ขยายเข้าไปในดินแดนตอนเหนือของอเมริกาและต่อไปยังเขตตะวันตกและตะวันออกของแอฟริกา  การเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนเกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางในเวลาต่อมา ในอเมริกาใต้และดินแดนแถบอาร์คติก การเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นกระจัดกระจาย  การเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อม และระบบการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนก็เกิดขึ้นทั่วไปในที่ต่างๆของโลก

          ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนสูญเสียอำนาจและที่ดินของตนเองไปมาก ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 พวกเขาก็สูญเสียอำนาจในการปกครองตัวเองเนื่องจากถูกปกครองด้วยรัฐชาติสมัยใหม่  การขนส่งและอาวุธสมัยใหม่นำความเปลี่ยนแปลงมารวดเร็ว  พื้นที่เลี้ยงสัตว์ที่มีน้ำเพียงพอในฤดูแล้งกลายเป็นดินแดนในอาณานิคมและใช้สำหรับกสิกรรมพื้นเมือง ใช้เพื่อการล่าสัตว์ และถูกสงวนไว้เป็นเขตอนุรักษ์ ตัวอย่างเช่น ทุ่งหญ้า Kazak เคยเป็นที่อาศัยของชาว Czars และชาวนาจากยูเครน ซึ่งปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ในเขตนี้ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์  ทุ่งหญ้าในเขตมองโกเลียในจีน กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนสูญเสียที่ดินของพวกเขาให้กับชาวจีน ซึ่งปัจจุบันมีประชากรชาวจีนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่

          แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้นำแต่ผลเสียมาสู่คนเร่ร่อนเท่านั้น คนกลุ่มนี้ยังคงเป็นแหล่งเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยการเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการยังชีพไปสู่การค้าขายในตลาด  ชาวเร่ร่อนในอัฟกานิสถานและอิหร่านมีความเชี่ยวชาญในการขายเนื้อสัตว์ในตลาดท้องถิ่น ขายขนแกะให้กับพ่อค้าชาวต่างชาติ  กลุ่มคนเร่ร่อนในทิเบตทำให้แคชเมียร์มีรายได้จากการขายแพะ เพราะตลาดโลกมีความต้องการเพิ่มขึ้น ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเครือข่ายทางการตลาดพัฒนาในทวีปแอฟริกา กลุ่มเร่ร่อนนำสัตว์เลี้ยงของตนมาขายเป็นสินค้า  กลุ่มคนเร่ร่อนมีชีวิตรอดอยู่ได้เนื่องจากวิถีชีวิตแบบนี้ต้องการความมีระเบียบวินัยสูงในเขตภูมิประเทศที่กันดาร  ประเด็นดังกล่าวนี้คือสิ่งที่น่าสนใจศึกษา และทำวิจัยในทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรม  การวิจัยทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับกลุ่มคนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ได้เปลี่ยนจากการอธิบายลักษณะทางกายภาพไปสู่การทำความเข้าใจกระบวนการด้วยแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ นักมานุษยวิทยาตั้งคำถามว่าผลกระทบของความทันสมัยที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้เป็นอย่างไร ทั้งในแง่สังคม และเศรษฐกิจ  และยังสำรวจสภาพการมีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นวิธีการปรับตัวให้เข้ากับโลกในปัจจุบัน


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Kathleen A.Galvin 1996 ใน David Levinson and Melvin Ember. (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company. New York. Pp.859-862.

Kradin, Nikolay N. 2002. Nomadism, Evolution, and World-Systems: Pastoral Societies in Theories of Historical Development. Journal of World-System Research 8: 368-388.

Sadr, Karim. 1991. The Development of Nomadism in Ancient Northeast Africa, University of Pennsylvania Press, 1991.


หัวเรื่องอิสระ: สังคมเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน