Nonviolence and Violence
ตามทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตมีสัญชาตญาณการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด แนวคิดชีววิทยาจึงเป็นบ่อเกิดของทฤษฎีความก้าวร้าวที่แพร่หลายในสังคม สังคมจึงเชื่อว่ามนุษย์มีความก้าวร้าวในสายเลือด ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาหลายคนจะเห็นด้วยกับความคิดนี้ แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย จากการศึกษาหลายชิ้นที่ผ่านมาเริ่มมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากบริบททางวัฒนธรรม ความก้าวร้าวของมนุษย์มีความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม แนวคิดนี้ตรงข้ามกับทฤษฎีชีววิทยาของดาร์วินที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ก้าวร้าวโดยธรรมชาติ จากการศึกษาไพรเมท เช่น ลิงชิมแพนซี กอริลล่า อุรังอุตัง เปิดเผยให้รู้ว่าสัตว์พวกนี้ไม่ใช้ความรุนแรง การศึกษาทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์พบว่ามนุษย์เริ่มมีสงครามเมื่อประมาณ 1 หมื่นปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับชีวิตมนุษย์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 4 ล้านปี ถือได้ว่ามนุษย์เพิ่งใช้ความรุนแรงไม่นานมานี้
การศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรม พบว่าสังคมที่เร่ร่อนเก็บของป่าล่าสัตว์ไม่ค่อยพบการใช้ความรุนแรง และในกรณีที่สังคมนั้นถูกปกครองจากชาวตะวันตกในยุคอาณานิคม จะพบว่าสังคมนั้นจะมีสงคราม นักมานุษยวิทยาบางคนที่ศึกษาสภาวะสงครามในสังคมชนเผ่าต่างๆ พบว่าสงครามที่เกิดขึ้นมักจะมาจากการติดต่อกับชาวตะวันตก สังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรง เช่น สังคมของชาวเซไมในมาเลเซียคือตัวอย่างของสังคมที่มีสันติซึ่งอาจเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับการสร้างสันติภาพโลก
การไม่ใช้ความรุนแรง และพฤติกรรมอื่นๆที่คล้ายกันมักจะเกิดขึ้นมากกว่าการใช้ความรุนแรง มนุษย์ไม่ได้ฆ่ากันเองบ่อยนัก แม้แต่ในสงครามโลกครั้งที่สอง สถิติการยิงเพื่อฆ่าศัตรูมีเพียง 15-25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ทหารยังถูกฝึกให้มีความระมัดระวังในการฆ่าผู้อื่น และการฆ่าผู้อื่นมักจะทำให้ทหารรู้สึกไมาสบายใจ เมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น อาจไม่ได้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงก็ได้ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง เช่น การไกล่เกลี่ย จะเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปทุกสังคม มานุษยวิทยาการเมืองและกฎหมายจะเข้ามาศึกษาปรากฎการณ์ของความขัดแย้งนี้ ในสัตว์ตระกูลไพรเมท เช่น ลิงโบโนโบส์ ก็มีสัญชาติญาณในการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
จากการศึกษาหลายสังคม พบว่าการไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธีจะเกิดขึ้นในสังคมขนาดเล็กที่มีคนไม่มากนัก สมาชิกในสังคมจะรู้จักกันหมด เป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน และการแก้ปัญหาต่างๆจะเกิดขึ้นภายใต้ความคิดเห็นร่วมกันของสมาชิก สังคมประเภทนี้จะไม่ใช้ความรุนแรง เนื่องจากสภาพสังคมไม่ถูกปกครองจากคนอื่น ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีกองทหาร ไม่มีชนชั้น ไม่มีสงคราม เช่น สังคมเอสกิโม ชนเผ่ามาบูตี ชนเผ่าคุงซาน เผ่าเซไม ซีริโอโน บาหลี บูอิด ชีวอง ฟีพา ไพอาราว ซาโพแท็ค อาราเพช บีรอร์ ฮัดซา โฮปี อีฟาลัค ปูนัน ตาฮิติ ติโกเปียนส์ ปาปาโก โทดา เวดดาฮ์ ยามิส ซูนี และซิงกู เป็นต้น นักมานุษยวิทยาบางคนโต้แย้งว่าสังคมที่ไม่มีความรุนแรงอาจไม่มี แต่หลักฐานจากชนเผ่าเหล่านี้ อาจทำให้นักมานุษยวิทยาหันมาสนใจวิธีการไม่ใช้ความรุนแรง
ในสังคมระดับรัฐ เริ่มมีโครงสร้างที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ การแบ่งชนชั้นทางสังคม อาจทำให้คนบางคนถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นความรุนแรงที่แฝงเร้นอยู่ ในหลายกรณีการกดขี่ข่มเหงอาจทำให้เกิดการล้มตายมากกว่าเกิดสงคราม กรณีนี้อาจรวมถึงความอดอยาก ความยากจน ความเจ็บป่วยของคนบางกลุ่มซึ่งถูกสังคมทอดทิ้ง หรือถูกข่มเหงเนื่องจากความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นความลำเอียงทางชาติพันธุ์ สีผิว เพศ วัย หรือปัจจัยอื่นๆ สิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคของการสร้างสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ
การศึกษาทางนิเวศวิทยา อาจช่วยให้เข้าใจการใช้ความก้าวร้าว และการไม่ใช้ความรุนแรง เมื่อสังคมหนึ่งมีประชากรมากขึ้น ทำให้ทรัพยากรมีน้อยลง เกิดการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร และนำไปสู่การใช้ความก้าวร้าว ในทางตรงกันข้าม สังคมที่มีสันติหรือไร้ความรุนแรงอาจเป็นสังคมที่มีทรัพยากรเพียงพอ สมาชิกในสังคมมีโอกาสใช้ทรัพยากรได้ทั่วถึง การศึกษาสันติวิธีเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อไม่นานมานี้ โดยศึกษาจากองค์ความรู้หลายสาขา การศึกษาสันติวิธีอาจช่วยให้นักมานุษยวิทยาทบทวนการศึกษาของตัวเอง เพื่อทำให้เข้าใจสถานการณ์ทางสังคมได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่มีความขัดแย้งมากมาย เช่น เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การศึกษาสันติวิธีจะสนใจเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในโลกที่สามที่มีปัญหาความขัดแย้ง และการใช้ความรุนแรงบ่อยๆ นักมานุษยวิทยาในโลกที่สามจะพบเห็นปัญหาความขัดแย้ง เช่น การที่รัฐสมัยใหม่รุกล้ำที่ทำกินของชนพื้นเมือง หรือตักตวงทรัพยากรของชาวบ้านมาใช้ประโยชน์
นักมานุษยวิทยาหลายคนพยายามเข้าไปศึกษาการไม่ใช้ความรุนแรง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากก็ตาม นักมานุษยวิทยาไม่กี่คนพยายามรวมตัวกันเพื่อศึกษาสันติวิธี แต่ผู้ที่เข้ามารวมตัวกันไม่ค่อยสนใจเนื้อหาสาระของมานุษยวิทยาเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับสันติวิธีล้วนเต็มไปด้วยแนวคิดทฤษฎีและสมมุติฐานเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ดังนั้น มานุษยวิทยาจึงอาจเป็นวิชาที่เหมาะกับการศึกษาสันติวิธี เพื่อทำให้มองเห็นมนุษย์อย่างรอบด้าน เห็นทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาและเปรียบเทียบมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น การศึกษาของเอชลีย์ มองตากู ซึ่งบุกเบิกการศึกษาเรื่องสันติภาพ มองตากูพยายามอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในสังคมต่างๆ นักมานุษยวิทยายังช่วยให้การศึกษาของนักรัฐศาสตร์เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยได้มากขึ้น นอกจากนั้น มานุษยวิทยายังทำให้เข้าใจความขัดแย้งและสงครามในโลกสมัยใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเหยียดสีผิว ความลำเอียงทางชาติพันธุ์ ความลำเอียงทางศาสนา และปรากฏการณ์อื่นๆ
นักมานุษยวิทยาสนใจที่จะศึกษาวัฒนธรรมในระดับเล็กๆ หรือเป็นการวิจัยในแนวลึกที่เกิดขึ้นในพื้นที่เฉพาะโดยการเข้าไปเก็บข้อมูล สังเกตอย่างมีส่วนร่วมในสถานการณ์ต่างๆ นักมานุษยวิทยาสนใจที่จะเรียนรู้ว่าวัฒนธรรมมีผลต่อการสร้างความหมายและความเข้าใจโลกของมนุษย์อย่างไร อาจกล่าวได้ว่า มานุษยวิทยาเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลทางวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคมต่างๆ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง สงคราม และเหตุการณ์ต่างๆที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพ เช่น ชนเผ่าบูอิด และชนเผ่าทูซัก ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ต่างกันแต่อาศัยอยู่ใกล้กัน ชนเผ่าทั้งสองมีคำเรียกเพื่ออธิบายความก้าวร้าวเป็นคำเดียวกัน แต่ให้ความหมายที่ต่างกัน
ในบางสังคมอาจไม่มีเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงสงคราม โดยเฉพาะสังคมของมนุษย์ที่ยังชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ สิ่งนี้บอกให้ทราบว่ามนุษย์ยังชีพด้วยการเร่ร่อนหาอาหารมายาวนาน แต่การศึกษาการไม่ใช้ความรุนแรงของมนุษย์ยังมีน้อยมาก นักมานุษยวิทยาสามารถศึกษาเรื่องนี้ได้หลายมิติ เช่น ใช้มุมมองแบบรอบด้านเพื่อศึกษาชีวิตมนุษย์ หรือลงไปเก็บข้อมูลรายละเอียดในสังคมที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาก็คือหันกลับมาทบทวนว่าวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นวัฒนธรรมที่ไร้ความรุนแรง เพื่อที่จะสำรวจสิ่งที่เรียกว่าสันติภาพอย่างเป็นระบบมากขึ้น การศึกษาดังกล่าวนี้ต้องพิจารณาในหลายส่วน เช่น มิติทางประวัติศาสตร์ สถานการณ์ สาเหตุ ตัวแทนของมนุษย์ กระบวนการเปลี่ยนแปลง หน้าที่และผลที่เกิดขึ้นจากการไม่ใช้ความรุนแรง ฯลฯ
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.908-912.
Leslie E. Sponsel and Thomas Gregor (eds.) 1994. The Anthropology of Peace and Nonviolence. Lynne Rienner.
หัวเรื่องอิสระ: การไม่ใช้ความรุนแรงและความรุนแรง