บทความ

การทำความเข้าใจเบื้องต้นเรื่อง Queer Theory (เพศวิภาษ)

15 มิ.ย. 2015 โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

       การศึกษาเรื่องเพศของมนุษย์ มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจหลายระดับ ทั้งเรื่องที่จับต้องมองเห็นได้ สัมผัสได้ เช่น อวัยวะเพศ รูปร่างสรีระ การแต่งกาย กิริยาท่าทาง   กับเรื่องที่มองไม่เห็นและไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น อารมณ์ปรารถนา ความเสน่หา ความรัก กามารมณ์ สำนึก ความคิด และความเชื่อ   รวมทั้งการให้คุณค่า การวางกำหนดกฎเกณฑ์ การจัดประเภท การควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ทางเพศ สิ่งต่างๆเหล่านี้สัมพันธ์กับอำนาจทางสังคมที่เข้ามานิยาม ให้ความหมาย และจัดการตามคติความเชื่อและความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย  

          มีแนวคิดทฤษฎีหลายกลุ่ม หลายสกุล ในการอธิบายเรื่องเพศของมนุษย์ ทั้งแนวคิดของศาสนา วิทยาศาสตร์ และความเชื่อทางวัฒนธรรม การทำความเข้าใจเรื่องเพศจึงต้องมองความสัมพันธ์ที่แนวคิดหรือความรู้ต่างๆ ได้โต้ตอบ ท้าทาย ถกเถียง และขัดแย้งกัน    ในแง่ของการสร้างความรู้เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องการเมืองในการช่วงชิงอำนาจเพื่อที่จะครอบงำให้คนในสังคมเชื่อและคล้อยตามวิธีคิดเรื่องเพศแบบใดแบบหนึ่ง  ในแง่ของพฤติกรรมและการปฏิบัติ เรื่องเพศเป็นเรื่องของอารมณ์ปรารถนาที่คนแต่ละคนทำในที่ลับๆ ไม่มีใครรู้และไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความรู้ที่สังคมสร้างขึ้น    ในแง่ของสังคม เรื่องเพศเป็นเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์ที่คนแต่ละคนจะแสดงตัวตนตามอุดมคติที่สังคมสร้างไว้ แต่ทั้งหมดนั้น มนุษย์ไม่ได้เป็นฝ่ายถูกกระทำจากอำนาจเพียงฝ่ายเดียว    มนุษย์ยังสามารถต่อรอง ไกล่เกลี่ย หรือปรับเปลี่ยนในแบบของตัวเองโดยการสมยอมหรือท้าทายกับอำนาจ เพื่อที่จะแสดงตัวตนทางเพศได้หลากหลาย

         ปริมณฑลเรื่องเพศจึงเป็นพื้นที่ของอำนาจและการต่อรองช่วงชิงความหมาย ซึ่งกระบวนทัศน์แบบเควียร์พยายามจะรื้อสร้างและสำรวจที่มาที่ไปของอำนาจที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความรู้ การจัดระเบียบ การควบคุม และการชี้นำเรื่องเพศในสังคมมนุษย์  โดยตัวของมันเองแล้ว “เควียร์” ไม่ใช่ทฤษฎี และไม่ใช่สูตรสำเร็จในการอธิบายว่าเพศคืออะไร หรือ บอกว่าเพศมีกี่ชนิด กี่ประเภท  แต่เควียร์เป็นวิธีการตั้งโจทย์เพื่อที่จะตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เป็นบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ทางเพศที่ถูกสร้างขึ้น และมีอิทธิพลต่อการคิดและการปฏิบัติของมนุษย์  Santillanes(2006) อธิบายว่าเควียร์คือรูปแบบของ “การรื้อสร้าง” ที่ต้องการเปิดเผยสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ทางเพศภาวะและเพศวิถีที่สังคมสร้างขึ้นมา และที่สำคัญก็คือต้องการท้าทายและทำลายความคิดเรื่อง “เพศตามธรรมชาติ” ที่ครอบงำการอธิบายความจริงเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์

         อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเควียร์จะวิพากษ์ความจริงเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่การทำความเข้าใจเควียร์ ก็ยังเหมือนการมองเห็นความไม่ชัดเจน  เควียร์ทำให้การศึกษาเรื่องเพศเป็นสิ่งที่เปิดกว้าง แต่ไม่ได้ให้คำตอบแบบตายตัว และสิ่งที่อาจดูเหมือนคำตอบก็พร้อมที่จะถูกรื้อสร้างตลอดเวลา      Halperin(2003) อธิบายว่าทฤษฎีเควียร์เป็นพื้นที่สำหรับความรู้และการปฏิบัติที่ยังมาไม่ถึง แต่มีความปรารถนาที่จะไปให้ถึง    ความรู้แบบเควียร์จึงสร้างความหวาดกลัวให้กับสถาบันทางสังคมที่ยึดมั่นถือมั่นกับอุดมการณ์รักต่างเพศซึ่งถูกเชิดชูให้อยู่เหนืออุดมการณ์ทางเพศแบบอื่นๆ    แต่รักต่างเพศเป็นผลผลิตของสังคมตะวันตกที่มีคริสต์ศาสนาออกมาอธิบายว่าเพศของมนุษย์มีกี่แบบ และแบบไหนบ้างที่ผิดธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่ขัดต่อคำสอนทางศาสนา    ด้วยเหตุนี้  เควียร์จึงมุ่งวิพากษ์บรรทัดฐานแบบรักต่างเพศในสังคมตะวันตกที่แฝงด้วยอคติและการกีดกันมนุษย์  ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการท้าทายอำนาจทางสังคม

บริบททางความคิดของเควียร์ (เพศวิภาษ)

            ในช่วงทศวรรษ 1970  โลกวิชาการตะวันตกกำลังเดินมาสู่จุดเปลี่ยนของกระบวนทัศน์ นักคิดหลายคนได้ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการสร้างความรู้และความจริงเกี่ยวกับสังคมและชีวิตมนุษย์ เกิดการท้าทายแนวคิดทฤษฎีในยุคสมัยใหม่ที่อาศัยหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการอธิบายความจริงเชิงประจักษ์ (Empiricism)  หรือความรู้ที่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักธรรมชาติและโลกทางวัตถุ     โลกธรรมชาติได้กลายเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าอะไรคือความจริงและความเท็จ     และสิ่งที่ตามมาจากระบบเหตุผลเชิงประจักษ์นี้ก็คือ การให้คุณค่ากับโลกวัตถุหรือโลกทางกายภาพ เกิดการแบ่งแยกสิ่งที่เป็นวัตถุวิสัยออกจากอัตตวิสัย เกิดการแยกขั้วตรงข้าม (Binary Opposition) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการสร้างกระบวนทัศน์ในการจัดระเบียบสิ่งๆต่างๆในโลกนี้เป็นคู่ตรงข้าม เช่น ร่างกายกับจิตใจ ผู้หญิงกับผู้ชาย ความดีกับความชั่ว ธรรมชาติกับผิดธรรมชาติ  แข็งแรงกับอ่อนแอ ศิวิไลซ์กับป่าเถื่อน เป็นต้น

            Teresa de Lauretis เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า Queer Theory ในงานสัมมนาที่หมาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองซานตา ครูซ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1990  ลอเรติสมีเจตนารมย์ที่จะท้าทายความรู้กระแสกหลักที่ตกผลึกอยู่ในวงการเกย์เลสเบี้ยนศึกษาในช่วงเวลานั้น เนื่องจากนักต่อสู้และนักวิชาการเพื่อสิทธิเกย์เลสเบี้ยนมองความจริงเรื่องเพศในแบบประจักษ์นิยม มองอัตลักษณ์ทางเพศเป็นแก่แท้ในตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายต่อการทำความเข้าใจว่าอะไรคือเพศที่ถูกสร้างขึ้น   ลอเรติสได้เสนอให้ทบทวนกระบวนทัศน์และกรอบความคิดทฤษฎีที่ครอบงำการศึกษาเกย์เลสเบี้ยนในตะวันตก เพราะภายใต้การศึกษาดังกล่าวมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นของเกย์เลสเบี้ยนเกิดขึ้น สิ่งที่เราคิดว่าเป็นชุมชนและวัฒนธรรมของเกย์เลสเบี้ยนอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด วัฒนธรรมเกย์เลสเบี้ยนยังมีความซับซ้อนและความไม่ลงรอยกันหลายอย่าง แต่เกย์เลเสบี้ยนชนชั้นกลางผิวขาวมักจะมีบทบาทชี้นำสังคมมากกว่าเกย์เลสเบี้ยนกลุ่มอื่นๆ

            เควียร์และกระบวนทัศน์หลังยุคสมัยใหม่ (Postmodern Paradigm) ได้ตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามต่อการจัดระเบียบคู่ตรงข้ามว่าทำให้เกิดการแบ่งแยกกีดกันทางสังคมใช่หรือไม่    เพราะการสร้างระบบคู่ตรงข้ามจะมาพร้อมกับการจัดช่วงชั้น ซึ่งจะมีด้านหนึ่งดีกว่าอีกด้านหนึ่ง เช่น การจัดประเภทของเพศตามสรีระ เพศชายจะถูกยกให้เหนือกว่าเพศหญิง เพศชายจะเปรียบเสมือนความแข็งแรง ส่วนเพศหญิงคือความอ่อนแอ  การจัดเพศภาวะแบบนี้ถูกวิจารณ์จากแนวคิดสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ว่าเป็นอคติของสังคมที่ปกครองโดยผู้ชาย ผู้หญิงจึงถูกมองในเชิงลบและถูกปิดกั้นจากสังคม   

            คุณูปการของเฟมินสิต์ ในเรื่องนี้ก็คือ ชี้ให้เห็นว่าการจัดช่วงชั้นทางเพศ เป็นอคติทางสังคม    แต่เฟมินิสต์รุ่นแรกๆ โจมตีผู้ชายในฐานะเพศที่เข้มแข็งรังแกเพศหญิงที่อ่อนแอ เฟมินิสต์ยังมองว่าเพศภาวะหญิงชายถูกกำหนดหรือเกิดขึ้นมาจากเพศกำเนิด กล่าวคือ ความเป็นหญิงและชายเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับเพศสรีระ (Butler, 1990)  แต่เควียร์ไม่ได้มองแบบเฟมินิสต์     เควียร์พยายามชี้ให้เห็นว่าอิทธิพลความรู้ของเพศศาสตร์ (sexology) ซึ่งอธิบายเพศของมนุษย์จากปัจจัยทางชีววิทยา เข้ามาครอบงำความคิดเรื่องเพศภาวะ (Gender) ทำใหสังคมเชื่อว่าเพศสรีระคือสิ่งที่กำหนดความเป็นหญิงและชาย (Femininity and Masculinity)  เควียร์มองว่าเพศภาวะหญิงชายไม่ได้เกิดจากฮอร์โมนหรือยีนต์   แต่เป็นเพราะวิชาเพศศาสตร์ที่ก่อกำเนิดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้มนุษย์มองเพศสรีระเป็นความจริงเชิงประจักษ์ และมองอารมณ์ปรารถนาทางเพศของตัวเองจากสรีระ ฮอร์โมน และอวัยวะเพศ เรือนร่างของมนุษย์จึงกลายเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างความหมายของการมีเพศภาวะหญิงหรือชาย สรีระจึงเป็นเครื่องมือของอำนาจความรู้เพศศาสตร์ (Butler, 1993)   และแนวคิดเรื่องเพศวิถีก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อ้างอิงว่าตัวตนทางเพศของเรามาจากอารมณ์ทางเพศแบบไหน (Foucault, 1978)

            ตั้งแต่ที่แนวคิดเรื่องเพศวิถีปรากฎขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อารมณ์ปรารถนาทางเพศของมนุษย์ก็ถูกจัดจำแนกเป็น 3 แบบ คือ รักต่างเพศ รักสองเพศ และรักเพศเดียวกัน (Heterosexuality, Bisexuality, Homosexuality)   โดยมีเพศสรีระเป็นเกณฑ์ในการจะนิยามว่าเพศวิถีของใครเป็นอย่างไร การเอาเพศสรีระเป็นตัวตัดสินอารมณ์ทางเพศนี้มาพร้อมกับการสร้างวาทกรรมทางเพศ ที่อธิบายว่าอารมณ์รักต่างเพศถูกต้องตามธรรมชาติ ส่วนอารมณ์รักเพศเดียวกันหรือรักสองเพศเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ วาทกรรมของเพศวิถีนี้คือการสำแดงอำนาจทางสังคม (Manifestation of Power) ซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกพยายามควบคุมพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ให้อยู่ในนิยามของ “เพศวิถี” สิ่งนี้สะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างร่างกายตามธรรมชาติกับกฎระเบียบทางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้เรียกว่า Bio-power disciplinary (Foucault, 1978)

            เควียร์ ตั้งคำถามต่อไปว่า   อะไรที่ทำให้ความรู้วิทยาศาสตร์กลายเป็นอำนาจในการชี้นำสังคม    เควียร์อธิบายว่าในสังคมตะวันตกช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ระบบทุนนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์ให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตและการสร้างครอบครัวที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เพศสรีระหญิงชายกลายเป็นสิ่งที่ตัดสินอารมณ์ปรารถนาทางเพศ  การจับคู่เพศหญิงเพศชายเพื่อตอบสนองการสร้างครอบครัวและการมีบุตรเป็นอุดมการณ์ของทุนนิยมสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับคำสอนในคริสต์ศาสนา   วัฒนธรรมตะวันตกจึงให้ความหมายต่อเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมชาติ       บรรทัดฐานของรักต่างเพศ (Heteronormativity) (Warner 1998) จึงมีความเข้มแข็งและมีอำนาจในการจัดระเบียบสังคม    คู่ความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับการสร้างครอบครัวและการมีบุตรจะถูกปฏิเสธ และถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม

            การวิจารณ์และท้าทายบรรทัดฐานของรักต่างเพศ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของเควียร์ เพราะบรรทัดฐานนี้นำไปสู่การสร้างอคติทางเพศต่อคนข้ามเพศ (cross-gender people) และคนรักเพศเดียวกัน (people who have same-sex relation)  การวิจารณ์นี้ทำให้เกิดการท้าทายวิธีการจัดระเบียบและการจัดช่วงชั้นของเพศภาวะและเพศวิถี (Sexuality) แบบตะวันตก (Sedgewick 1990)    ซึ่งในวัฒนธรรมอื่นๆย่อมจะมีวิธีการจัดจำแนกเพศแตกต่างออกไป    แต่ระเบียบทางเพศของตะวันตกแผ่อำนาจไปสู่ดินแดนอื่นๆในยุคอาณานิคม และคนผิวขาวก็นำกฎหมายและบรรทัดฐานรักต่างเพศไปตัดสินพฤติกรรมทางเพศของคนพื้นเมือง ทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นคนบาป หรือคนผิดปกติทางจิต (mental disorder people)(Bleys, 1996)  ผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งคือ วัฒนธรรมของการเกลียดคนที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน หรือ homophobia และ เกลียดคนข้ามเพศ หรือ transphobia

            เควียร์ชี้ให้เห็นว่าสังคมตะวันตกเติบโตมาพร้อมกับความรู้แบบวิทยาศาสตร์และคริสต์ศาสนา และใช้ระบบทุนนิยมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองสังคม อุดมการณ์เหล่านี้ล้วนมาจากบรรทัดฐานรักต่างเพศแทบทั้งสิ้น    ดังนั้น ไม่ว่าจะขุดคุ้ยหาปมปัญหาของอคติทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น และฐานะทางสังคม ก็จะพบบรรทัดฐานของรักต่างเพศและการสร้างเพศภาวะคู่ตรงข้ามแบบหญิงชายเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ (Butler, 2004)

            เควียร์จึงเริ่มท้าทายปรัชญากระแสหลักของตะวันตกที่อธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับ “ตัวตน” ของมนุษย์ และทำให้พบว่าปรัชญาเหล่านั้นก่อกำเนิดมาจากความเชื่อแบบรักต่างเพศด้วย        เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เควียร์วิพากษ์ความคิดเรื่องเพศ จึงขยายไปสู่การวิพากษ์ปรัชญาและการสร้างความหมายของการเป็นมนุษย์ (Butler, 2005)  สิ่งสำคัญที่เควียร์ค้นพบ นอกจากบรรทัดฐานรักต่างเพศแล้ว คือเรื่องบรรทัดฐานของความเป็นปกติ (normality) และความมีตัวตน (subjectivity)  ซึ่งบรรทัดฐานทางสังคมทุกอย่างที่ตะวันตกสร้างเอาไว้ล้วนก่อกำเนิดมาจากความลำเอียงทางเพศ ที่ยกย่องเพศชายเป็นใหญ่ และเชิดชูเพศวิถีแบบรักต่างเพศในฐานะเป็นเพศวิถีที่เจริญแล้ว หรือ อยู่บนขั้นสูงสุดของวิวัฒนาการทางเพศของมนุษย์

            เป้าหมายของเควียร์ คือการกระเทาะเปลือกสิ่งที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคมทั้งหมด แม้แต่ในสังคมเกย์ เลสเบี้ยนสมัยใหม่ก็ถูกท้าทายจากเควียร์ด้วยเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมเกย์เลสเบี้ยนได้ตกอยู่ใต้วิธีคิดและอุดมการณ์แบบรักต่างเพศ ซึ่งทำให้เกย์เลสเบี้ยนมองอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเป็นคู่ตรงข้ามกับชายหญิง และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีแก่นแท้และธรรมชาติสร้างอารมณ์ปรารถนาแบบรักเพศเดียวกัน  วิธีคิดดังกล่าวนี้ ไม่ได้ทำให้เกย์เลสเบี้ยนหลุดออกไปจากบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นผลิตจากวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ที่มองอัตลักษณ์ทางเพศเป็น Essence  และภายใต้ชุมชนเกย์เลสเบี้ยนเองก็มีการสร้างบรรทัดฐานของรักเพศเดียวกันขึ้นมา (Homonormativity) (Duggan, 2002) จนทำให้เกิดการสร้างอคติ กีดกัน และเลือกปฏิบัติ เช่น เกย์ชนชั้นกลางตะวันตกจะดูหมิ่นเกย์ที่เป็นคนผิวดำ เป็นต้น

บรรณานุกรม

Bleys, Rudi. (1996). The Geography of Perversion. New York, NYU Press.

Butler, Judith.(1990). Gender trouble. New York, Routledge.

Butler, Judith.(1993). Bodies That Matter: On the Discursive Limit of Sex. New York, Routledge.

Butler, Judith. (2004). Undoing Gender. New York, Routledge.

Butler, Judith. (2005). Giving an Account of Oneself. Fordham University Press.

Duggan, Lisa.(2002). “The New Homonormativity: The Sexual Politics of Neoliberalism” in

            Castronovo, Russ and Nelson, Dana. (eds.) Materializing Democracy: Toward a

            Revitalized Cultural Politics. Duke University Press.

Foucault, Michel. (1978). The History of Sexuality.Vol.1. New York, Vintage Book.

Halperin, David M.(2003). “The Normalization of Queer Theory” in Journal of Homosexuality, Vol.

            45, No. 2/3/4. Pp.339-343.

Santillanes, Alexander. (2006) “Queering Ethnography” in Postamble 2(2). Pp.ix-xiv.

Sedgewick, Eve Kosofsky. (1990). Epistemology of the Closet. Berkeley, CA, University of

            California Press.

Warner, Michael. (1998). The Trouble with Normal. New York, Free Press.


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

คำสำคัญ: เควียร์, เพศวิถี, เพศภาวะ, กระบวนทัศน์, การวิพากษ์, ความรู้

หัวเรื่องอิสระ: ทฤษฎ๊เควียร์