ความหมาย Ethnicity ในการศึกษาEthnography
18 มิ.ย. 2015 โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
คำว่า Ethnography ในทางมานุษยวิทยา สามารถพิจารณาได้ 2 ลักษณะคือ ethnography ที่เป็นงานเขียน (ethnographic writings) กับที่เป็น วิธีการศึกษา(fieldwork) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กล่าวคือวิธีการเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยการสังเกต สอบถาม และคลุกคลีกับคนกลุ่มต่างๆอย่างใกล้ชิด ได้นำไปสู่การเขียนงานซึ่งต้องอาศัยกรอบความคิดทฤษฎีในการอธิบายและตีความ งานเขียนทางมานุษยวิทยากับวิธีการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ถูกกำกับด้วย Theory อย่างใดอย่างหนึ่ง[1]
Ethnography ทั้งสองลักษณะข้างต้น มีนัยยะสำคัญต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยา เพราะ การเขียนและการศึกษาทางชาติพันธุ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอธิบายวัฒนธรรม นอกเหนือจากนี้ ยังมีสาระสำคัญส่วนอื่นที่นักมานุษยวิทยาไม่ควรมองข้าม นั่นคือการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ และ เงื่อนไขที่แวดล้อมการศึกษานั้น[2] ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างองค์ความรู้ สิ่งที่ชัดเจนอย่างหนึ่งต่อการเขียนงานทางชาติพันธุ์ ก็คือ เป็นการเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับมนุษย์บางกลุ่มบางพวก ที่มีชีวิตอยู่ในสถานที่และช่วงเวลาเฉพาะ ช่วงใดช่วงหนึ่ง
ในระยะเริ่มแรกของการเขียนงานชาติพันธุ์ในช่วงศตวรรษที่ 19 กระทำภายใต้กลุ่มนักบวชเผยแพร่ศาสนา นักเดินทาง นักผจญภัย นักสำรวจ นักเขียน และกลุ่มทหาร นักมานุษยวิทยาคนแรกที่เริ่มการศึกษา และเขียนงาน ethnography คือ Louis Henry Morgan ซึ่งเขียนเรื่อง The League of the Ho-de-no-sau-nee or Iroquois ในปี ค.ศ.1851 งานเขียนดังกล่าวมีความสำคัญใน 2 เรื่อง คือ 1) เป็นความพยายามที่จะอธิบายโครงสร้างและการจัดระเบียบสังคมจากมุมมองของชาวดินเดียนเผ่า Iroquois และ 2) เป็นการให้พื้นฐานการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ใช้แนวคิดทฤษฎีในการอธิบายสังคมวัฒนธรรม[3]
ในช่วงเวลาต่อมา มีความพยายามที่จะสร้างระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษาเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์มากขึ้น โดยในปี ค.ศ.1874 E.B.Tylor ได้เขียนตำราเรื่อง Notes and Queries ออกเผยแพร่ Tylor ได้รับความช่วยเหลือจาก James Frazer การศึกษาชาติพันธุ์จึงเริ่มมีระเบียบแบบแผน ถึงแม้ว่าในระยะแรกจะไม่มีการยอมรับมากนัก แต่ในการใช้แนวคิดทฤษฎีเพื่ออธิบายสังคมวัฒนธรรม เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น และมีกรอบชัดเจน จนถึง ปี ค.ศ.1880 การศึกษาของ Frank Cushing ได้ทำให้การศึกษาชาติพันธุ์ก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อ Cushing ศึกษาชาวอินเดียนเผ่า Zuni โดยอธิบายระบบความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาของคนกลุ่มนี้อย่างละเอียด แต่เมื่อCushing เสียชีวิตไปในปี ค.ศ.1899 การศึกษาในแนวทางนี้จึงไม่มีการสืบทอด
จนถึงสมัยของ Franz Boas การศึกษาชาติพันธุ์ในช่วงทศวรรษ 1890 มีลักษณะเป็นการใช้ผู้ช่วย หรือคนที่สามารถเป็นตัวกลางระหว่างนักมานุษยวิทยา กับคนพื้นเมืองได้ การศึกษาดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดและฝึกฝนอยู่ในกลุ่มวิชามานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Columbia ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการถ่ายทอดประสบการณ์ความทรงจำของคน มากกว่าจะลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่โดยตรง[4] วิธีการศึกษาจึงเป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมานุษยวิทยาในอเมริกา การศึกษาดังกล่าวนี้ถูกวิจารณ์ว่า ลดทอนความสำคัญของการเก็บข้อมูลภาคสนาม และไม่ให้สำคัญกับทฤษฎีอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องวิวัฒนาการ[5]
เมื่อกลับมาพิจารณาการศึกษาของอังกฤษ ก็จะพบว่า การแบ่งแยกนักมานุษยวิทยา 2 กลุ่ม ระหว่างพวก armchair theorist กับ พวกทำงานสนามกำลังสิ้นสุดลง ในช่วงทศวรรษที่ 1890 เมื่อการศึกษาวิจัยของ Frank Gillen ซึ่งลงไปเก็บข้อมูลของชาวเผ่าอะบอรินจิ้นในออสเตรเลีย ได้ให้ความสำคัญทั้งงานภาคสนามและการใช้ทฤษฎีอย่างชัดเจน[6] วิธีการศึกษาดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างเป็นแบบแผน และมีอิทธิพลต่อการศึกษาของ Malinowski ในช่วงที่เขาไปเก็บข้อมูลในปาปัวนิวกินีใน ปี ค.ศ.1914 ซึ่งวิธีการศึกษาของเขาได้พัฒนาไปจากวิธีของ Cushing อย่างมาก ทั้งการเรียนรู้ภาษาพื้นเมือง และเข้าใจชีวิตด้านต่างๆของคนพื้นเมือง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกรอบความคิดแนว Functionalism ในทางมานุษยวิทยา[7]
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 A.R. Radcliffe-Brown เข้ามามีอิทธิพลต่อการศึกษาทางชาติพันธุ์ เมื่อเขาได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง วิธีวิจัยทางชาติพันธุ์ กับเรื่องผลรับของวิธีวิจัยดังกล่าว ในช่วงทศวรรษที่ 1940 การศึกษาทางชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องการสร้างคำอธิบายและการสร้างทฤษฎี แต่ยังไม่มีการตระหนักถึงเงื่อนไขของการศึกษานั้นว่าเป็นอย่างไร หรือวิธีวิจัย และทฤษฎีที่สร้างขึ้นมานั้น เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขอะไร อย่างไรก็ตาม ความสนใจเรื่องเงื่อนไขต่างๆเริ่มปรากฎชัดเจนในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม การสนใจในเรื่องภูมิภาค ประวัติศาสตร์ และระบบสังคมโลกในช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา
หัวใจสำคัญของการศึกษามานุษยวิทยาอย่างหนึ่งก็คือการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ สิ่งนี้ได้ทำให้การศึกษาชาติพันธุ์พัฒนาไป 2 ลักษณะ คือ 1) การให้ความสนใจเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม และ2) การพิจารณาความเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มของการที่จะเปลี่ยนไปจากเดิม เงื่อนไขดังกล่าวนี้ยังสัมพันธ์กับเรื่องกรอบความคิดทฤษฎีที่นักมานุษยวิทยาใช้ ซึ่ง เป็นไปลักษณะที่ว่า พื้นที่ และคนกลุ่มใดถูกอธิบายด้วยความคิดชุดใด ซึ่งการศึกษาชาติพันธุ์ในช่วงปัจจุบันได้เคลื่อนไปสู่ความสนใจเรื่อง โลกทัศน์และความคิดของคนพื้นเมืองมากขึ้น กล่าวคือ เป็นความพยายามที่จะเข้าใจว่าคนเหล่านั้นคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ในโลกที่เขามีชีวิตอยู่[8]
วิธีวิจัยทางชาติพันธุ์ซึ่งนักมานุษยวิทยาลงไปเก็บข้อมูลนั้น ได้สร้างมุมมอง 2 ลักษณะ คือ 1)นักมานุษยวิทยาในฐานะเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล สังเกต และบันทึกเรื่องราวต่างๆ และ 2) นักมานุษยวิทยาในฐานะเป็นผู้ตั้งคำถาม และเจรจาเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการจะรู้ ซึ่งจะต้องมีการคัดเลือกว่า จะรู้จากใคร จากสิ่งใด จะถามเรื่องใด เพื่อสิ่งใด ในส่วนนี้คือส่วนที่เป็นทัศนคติของนักมานุษยวิทยา ตรงข้ามกับทัศนคติของคนพื้นเมือง[9] ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า นักมานุษยวิทยาคือผู้ควบคุมวิธีการที่จะได้ข้อมูลมา ทั้งวิธีสังเกต การจดบันทึก การตั้งคำถาม และเลือกคนที่จะตอบคำถาม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีที่มีอยู่ในใจ การบันทึกข้อความในระหว่างการสัมภาษณ์ ซึ่งจะเป็นการบันทึกสั้นๆ[10] แต่เมื่อนำกลับมาเขียนใหม่ นักมานุษยวิทยาจะอธิบายความเพิ่มเติม จนกลายเป็นข้อมูลขนาดยาว บันทึกสั้นๆยังมีลักษณะเป็น บันทึกเพื่อความจำ อาจเป็นคำบางคำ วลีบางวลีเพื่อให้นักมานุษยวิทยาจำได้ว่าเรื่องที่สัมภาษณ์พูดถึงสิ่งใด การบันทึกข้อมูลและความจำในภาคสนามจึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับการเขียน และเงื่อนไขของการเขียนในแต่ละครั้ง[11]
อาจกล่าวได้ว่าเอกสารที่สำคัญของนักมานุษยวิทยา ก็คือ บันทึกภาคสนาม(fieldnotes) และงานเขียนทางชาติพันธุ์(ethnographic writing) การศึกษาและการสร้างองค์ความรู้ของนักมานุษยวิทยาจึงเกิดขึ้นบนการตีความ อธิบายความ และการสร้างคำอธิบายเชิงทฤษฎีบนพื้นฐานของ บันทึกภาคสนาม งานเขียนทางชาติพันธุ์จึงมีลักษณะเป็น “งานวรรณกรรม” เชิงวิพากษ์ที่มีต่อเรื่องชาติพันธุ์ ประเด็นดังกล่าววนี้ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษที่ 80 [12] ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในการเขียนงานทางชาติพันธุ์ เมื่อ “การเขียน” ถูกอธิบายว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการ representation งานเขียน และเงื่อนไขของการเขียน จึงเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาช่วง postmodernism ตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษาทางชาติพันธุ์[13]
ประเด็นสำคัญ ต่อการศึกษาก็คือ การตั้งคำถามเกี่ยวกับ Modernity เนื่องจากสิ่งนี้เป็น meta-narrative ในการศึกษาทางชาติพันธุ์ Englund และ Leach[14] ตั้งคำถามว่า วาทกรรมเกี่ยวกับความทันสมัยมีผลต่อการเขียนงาน ethnography อย่างไร โดยเฉพาะการพูดถึงเรื่อง ความแตกร้าว (rupture)ในวัฒนธรรม ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายวิธีศึกษาแบบ realist ethnography ซึ่งเชื่อในความจริงแท้ของข้อมูลที่ใช้ศึกษา แต่ในช่วงทศวรรษที่ 80 การศึกษาได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความแตกร้าว หรือความไม่ลงรอยกันบางอย่างในทางวัฒนธรรม เมื่อบรรยากาศแบบ postcolonial ได้ทำลายอำนาจศูนย์กลางที่ชาวยุโรปเคยสร้างไว้ก่อนหน้านั้น
การศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ผ่านมา ได้ตกอยู่ใต้กรอบความคิดกระแสหลัก โดยเฉพาะเรื่องความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ในการจัดการกับคนอื่นๆและสิ่งแวดล้อม ความคิดดังกล่าวนี้ได้รับการอธิบายในวิชาสังคมวิทยาอย่างแพร่หลายตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เช่น คำอธิบายของ Max Weber, Emile Durkheim ซึ่งเชื่อในระบบเหตุผล และการขัดเกลามนุษย์ไปสู่สิ่งที่สมบูรณ์ ความเชื่อนี้มีลักษณะเป็น ความทั้งเกลียดทั้งรักในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เพราะในด้านหนึ่งมนุษย์ยังไม่สมบูรณ์ และขาดตกบกพร่อง ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง มนุษย์ก็ใฝ่ฝันถึงสิ่งสวยงามต่างๆ แบบอุดมคติ[15] ความขัดแย้งในตัวเองนี้ คือลักษณะของ Modernity ซึ่งแทรกอยู่ในการอธิบายสังคมของมนุษย์
ในโลกปัจจุบัน พบว่า ความทันสมัยเป็นความคิดที่แตกต่างหลากหลาย และมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง นอกจากนั้น ลักษณะของความทันสมัยก็มิใช่การเดินเป็นสู่ความก้าวหน้า หรือเดินไปสู่สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงอย่างเดียว แต่ความทันสมัยอาจถูกอธิบายสลับกับ ปรากฏการณ์ของแม่มด เรื่องราวศิลปะ หรือการเมือง เรื่องราวเกี่ยวกับความทันสมัยจึงเป็นเรื่องราวเฉพาะของสังคมวัฒนธรรม ซึ่งมีแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ (particular modernities) การเข้าใจความหมายของ Modernity จึงเป็นการเข้าใจบริบทและเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ในแต่ละแห่ง ซึ่งในพื้นที่เดียวกันอาจมีหลายนิยามความหมาย และเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน[16]
ความคิดเรื่อง Modernity ของตะวันตกยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Individuality หรือความเป็นปัจเจกบุคคล การศึกษาทางชาติพันธุ์ที่ให้ความสนใจเรื่องปัจเจกบุคคล จึงเป็นการศึกษาที่ได้อิทธิพลความคิดเรื่อง modernity แต่การตีความปัจเจกบุคคลในฐานะเป็น ตัวมนุษย์เริ่มมีการอธิบายว่า ความเป็นปัจเจกของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมมีทั้ง การเป็นคนๆหนึ่ง และการเป็น “บุคคล” ที่มีสถานภาพทางสังคม ซึ่งการได้สิ่งเหล่านี้มามีความสัมพันธ์กับ ความเชื่อและค่านิยมในแต่ละแห่ง
อะไรคือ Ethnicity[17]
ก่อนถึงทศวรรษที่ 70 คำว่า Ethnicity มีการพูดถึงในการศึกษาทางมานุษยวิทยาน้อยมาก และยังไม่มีการอธิบายความหมายอย่างชัดเจน จนถึงกลางทศวรรษที่ 70 คำๆนี้ก็เริ่มมีความสำคัญในทางทฤษฎีมานุษยวิทยา โดยเฉพาะในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยอาณานิคม และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยในประเทศอุตสาหกรรม ช่วงเวลาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับนิยามความหมายของคำว่า Ethnicity ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งทางสังคม การแสวงหาอัตลักษณ์ ความสัมพันธุ์ระหว่างเชื้อชาติ การสร้างความเป็น “ชาติ” และการแทรกซึมทางวัฒนธรรม
เท่าที่ผ่านมา แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา Ethnicity ประกอบด้วย 3 แนวคิดที่สำคัญ คือ
Objectivist Theory
กรอบความคิดนี้ได้อธิบาย ลักษณะทางชาติพันธุ์ของมนุษย์ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง มีตัวตน และจับต้องได้ ความมีจริงนี้เน้นความสำคัญของเหตุผลทางชีววิทยาซึ่งเป็นต้นตอ หรือเป็นรากฐานของการสร้างลักษณะทางชาติพันธุ์ เช่น สีผิว สีผม สีตา ความสูงต่ำ รูปร่างและอวัยวะของร่างกายที่แตกต่างกัน กรอบความคิดดังกล่าวนี้ อธิบายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ว่ามีลำดับขั้นของวิวัฒนาการ ความเป็นกลุ่ม หรือเป็นเผ่า ของมนุษย์จะถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่ถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ เช่น คนที่มีสายเลือดเดียวกัน หมายถึงเป็นเผ่าเดียวกัน ในทางสังคมวิทยาได้ใช้แนวคิดนี้อธิบายเรื่องสังคมของญาติพี่น้อง ซึ่งคนที่มีสายเลือดเดียวกันจะถูกเลือกให้อยู่ในกลุ่ม[18]
ความคิดที่ให้ความสำคัญกับสายเลือดและเผ่าพันธุ์ เกิดขึ้นจากสมมติฐานที่ว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณโดยกำเนิด และโดยธรรมชาติที่จะเลือกลุ่มโดยพิจารณาจากเงื่อนไขทางชีววิทยา หรือ การเป็นเผ่าเดียวกัน เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วโดยธรรมชาติ( primordialism ) คำอธิบายในทำนองนี้ถูกวิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการสร้างกลุ่มทางสังคม เพราะการเกิดกลุ่ม หรือการเป็นพวกเดียวกันไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดเดียวกันเสมอ แนวคิดนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักมานุษยวิทยาประเทศรัสเซีย ซึ่งเชื่อว่าความเป็นชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากธรรมชาติและสายโลหิต[19]
2) Cultural Morphology
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 การพัฒนาอุตสาหกรรมได้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในที่ต่างๆถูกมองว่ากำลังถูกทำลาย หรือกำลังสูญสิ้นความเป็นเผ่าพันธุ์ เนื่องจากการเข้าไปคุกคามของสินค้าและทุนนิยม การศึกษาทางชาติพันธุ์ในช่วงเวลานี้จึงหันมาสนใจเรื่องกระบวนการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากการสร้างชาติ การพัฒนาประเทศ และการแทรกซึมทางวัฒนธรรม ดังเช่นคำอธิบายเรื่อง melting pot ในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 คำว่า “Ethnicity” ถูกอธิบายใหม่ว่า เป็นโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคม โครงสร้างนี้คือตัวกำหนดความเป็นชาติพันธุ์ ซึ่งได้แก่ ภาษา ศาสนา และลักษณะทางชีววิทยา
คำอธิบายนี้ทำให้สังคมกลายเป็นที่รวมตัวของกลุ่มต่างๆที่มีโครงสร้างทางชาติพันธุ์แตกต่างกัน กลุ่มแต่ละกลุ่มจะมีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนกัน ซึ่งกลุ่มแต่ละกลุ่มจะมีวิธีทางการเมืองเพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆ หรือสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่ม ความคิดดังกล่าวนี้ เติบโตมาจากแนวทฤษฎี Functionalism ซึ่งพยายามที่จะจัดการกับชาติพันธุ์ในกรอบโครงสร้างการเมือง และให้คุณค่ากับผู้นำชาติพันธุ์ในการต่อสู้ทางการเมืองด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผู้นำเหล่านี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นตัวแทนของกลุ่ม ความหมายของชาติพันธุ์จึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามการต่อสู้ของผู้นำภายในขอบเขตพรมแดนทางการเมืองและเศรษฐกิจ[20]
3) Postmodernism
การศึกษาของ Fredrik Barth[21] ในปีค.ศ.1969 มีการนิยามความหมายของ Ethnicity ว่า คำอธิบายที่เปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่อง ได้จัดจำแนกมนุษย์ ให้อยู่ในรูปลักษณ์ที่เป็นข้อสรุปตายตัวแบบกว้างๆ ซึ่งสังคมของมนุษย์เหล่านี้ จะเป็นเพียงสังคมที่ทำหน้าที่ในการปกป้องรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ โดยมองไม่เห็นการคิดสร้างสิ่งอื่นๆในทางวัฒนธรรมเลย ข้อวิจารณ์ของ Barth นำไปสู่การคิดทบทวนการศึกษาทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกลุ่มต่างๆ ในบริบททางการเมือง ซึ่งมีความไม่คงที่ และมีลำดับชั้นที่ต่างกัน
คำอธิบาย และการตีความ Ethnicity ในทำนองนี้ เชื่อว่า กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นเพียงกลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะต่อรอง หรือประนีประนอมไกล่เกลี่ย กับอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนของตัวเอง ซึ่งการต่อรองนี้มีทั้งในส่วนที่เป็นความคิดของคนในกลุ่ม และสิ่งที่สังคมภายนอกหยิบยื่นให้ ทั้งสองสิ่งนี้มีการแลกเปลี่ยนผ่านวาทกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง ความเป็นเผ่าพันธุ์ของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ “ถูกสร้าง” ขึ้น
อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาทางชาติพันธุ์ในช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ1) ให้ความสนใจเกี่ยวกับการสร้างนิยามความหมาย และความไม่คงที่ของสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับวิธีคิดของมนุษย์แต่ละกลุ่มแต่ละเผ่า และการปะทะสังสรรค์ทางสังคมในระดับต่างๆ ตั้งแต่ชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับโลกซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มีวิธีสร้างอัตลักษณ์ผ่านสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันไป และ 2) ตั้งคำถามเกี่ยวกับการก่อรูปร่างของเครือญาติและสายตระกูลในทางชาติพันธุ์ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีแบบแผนเดียว
ความหมายของ Race และ Racism
ความคิดเรื่องเชื้อสายเผ่าพันธุ์(race) เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวตะวันตกแผ่ขยายอำนาจเข้าไปรุกราน หรือสำรวจ ดินแดนอื่นๆตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ความคิดดังกล่าวนี้เป็นสิ่งใหม่ แตกต่างไปจากความคิดแบบ ethnocentrism ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น[22] กล่าวคือ ความคิดเรื่อง Race เป็นการอธิบายว่า มนุษย์มิใช่มีแค่เพียง กลุ่มเรา หรือกลุ่มเขา อีกต่อไป หากแต่มีหลากหลายกลุ่ม แตกต่างกันตามเชื้อสายเผ่าพันธุ์ และในการแบ่ง หรือจัดประเภทเผ่าพันธุ์นี้มีเงื่อนไขทางชีววิทยาและมีนัยยะทางการเมือง ซึ่งมนุษย์บางเผ่า อาจถูกจัดให้อยู่ในเผ่าพันธุ์ที่ต่ำต้อย หรือไม่มีค่าอื่นใด การแบ่งเผ่าพันธุ์จึงเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมกัน และกลายเป็นสิ่ง “จริงแท้” เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา และไม่ต้องตั้งคำถาม[23]
ความหมายของ “เผ่าพันธุ์สายเลือด” เป็นสิ่งที่จัดระเบียบความคิดของมนุษย์ให้สำนึกว่า ตนเองเป็นผลผลิตทางธรรมชาติ ซึ่งมีวิวัฒนาการสืบสายมาจากคนรุ่นก่อน การยึดมั่นเผ่าพันธุ์เป็นสาระ ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางการเมืองตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงรัฐชาติ หรือประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีสำนึกเรื่องเผ่าพันธุ์ สังคมมนุษย์ในแต่ละแห่งเคยมีความคิดเกี่ยวกับเรื่อง Caste หรือการแบ่งชนชั้นมาเป็นเวลานานแล้ว นอกจากนั้น ยังพบว่า ทาส ยังเป็นคนที่ต่ำต้อยที่สุดในทางสังคม ซึ่งคนที่เป็นทาส จะมีชะตากรรมผูกติดอยู่กับผู้เป็นนาย และผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเกิดความคิดแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ซ้อนขึ้นมา คนที่เป็นทาสที่มาจากบางเผ่าพันธุ์ก็ยังคงเป็นคนที่ถูกกีดกันอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะทาสผิวดำที่ตกเป็นแรงงานให้ชาวยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 15-19[24]
ในศตวรรษที่ 18 ความคิดเรื่องแบ่งเผ่าพันธุ์ ได้ถูกผนวกเข้ากับกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ที่อธิบายความแตกต่างทางร่างกาย เผ่าพันธุ์มนุษย์จึงถูกแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ 1)เผ่า Caucasian 2) เผ่า Mongolian 3) เผ่า Ethiopian 4) เผ่า American และ5) เผ่า Malayan การแบ่งเผ่าดังกล่าวนี้มาจากความคิดของ Johann Friedrich Blumenbach ในปี ค.ศ.1795 ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยาในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการถกเถียงระหว่างความคิด 2 กลุ่มระหว่างกลุ่มที่เชื่อว่ามนุษย์มีจุดกำเนิดต่างกัน กับกลุ่มที่คิดว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดล้วนมีกำเนิดเดียวกัน[25]
ในปี ค.ศ.1977 นักชีววิทยาชื่อ Stephen Jay Gould ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความคิดของ Samuel Morton ผู้ที่เชื่อว่าคนผิวขาวฉลาดที่สุด และพบว่า การตรวจวัดความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการ คือขนาดรูปร่างสัดส่วน กับ ความสามารถทางอารมณ์และความรู้สึก[26] เงื่อนไขดังกล่าวนี้นำไปสู่คำอธิบายของ Franz Boas ในการแยกปัจจัยทางเผ่าพันธุ์ ออกจากเรื่องของภาษา และวัฒนธรรม การศึกษาของ Boas ได้ชี้ให้เห็นความลำเอียงของชาวยุโรป และเน้นให้เห็นว่า วัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์อื่นๆก็มีประวัติศาสตร์ของตัวเองซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกับชาวผิวขาว การศึกษาของ Boas ได้กลายเป็นการต่อต้านความคิดของการแบ่งเผ่าพันธุ์ เช่น การเหยียดสีผิวของนาซี และพยายามที่จะเรียกร้องให้เห็นคุณค่าของชาวพื้นเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษที่ 50
ในทศวรรษที่ 60 ความสนใจของนักมานุษยวิทยา เปลี่ยนมาสู่เรื่องแนวคิดเกี่ยวกับ Race ซึ่งมีการต่อต้านความคิดที่แบ่งแยกมนุษย์อย่างมีอคติ และไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้มีการชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องเผ่าพันธุ์นี้ ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางชีววิทยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจ หรือมองไม่เห็น เช่นประเภทของเม็ดเลือด หรือเอ็นไซม์ สิ่งเหล่านี้มีความหลากหลายและซับซ้อนมากในตัวมนุษย์แต่ละคน ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ว่า สายพันธุ์มนุษย์กลุ่มใดจะมีเม็ดเลือดชนิดที่ดีที่สุด ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ เอกลักษณ์ทางเผ่าพันธุ์จึงไม่ใช่สิ่งสอดคล้องกับการจัดประเภทตามกรอบวิทยาศาสตร์[27]
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา ความรู้สึกเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เป็นสิ่งที่แผ่ปกคลุมไปทั่วโลก นักมานุษยวิทยาบางกลุ่มเคยกล่าวว่า “เผ่าพันธุ์” ของมนุษย์ไม่เคยมีจริง แต่ความคิดเรื่อง Racism ซึ่งต้องการจะจัดประเภทมนุษย์ตามความดีชั่วเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง[28] การศึกษาของนักมานุษยวิทยาในสหรัฐในช่วงทศวรรษที่ 30-40 พบว่า การแบ่งแยกสีผิวในอเมริกา ทำให้คนผิวดำต้องเป็นผู้ที่ถูกรังแก และถูกกดขี่ ทั้งนี้ การแบ่งแยกสีผิวในอเมริกา เปรียบเทียบกับประเทศลาตินอเมริกา แอฟริกา หมู่เกาะแคริบเบียน และในอังกฤษ ล้วนมีประวัติศาสตร์แตกต่างกัน
นักมานุษยวิทยาบางกลุ่ม ให้ความสนใจในประเด็น Ethnicity ซึ่งอธิบายวิธีการแสดงออกทางวัฒนธรรมของมนุษย์ มากกว่าจะระบุว่า สิ่งนี้ถูกกำหนดมาจากเผ่าพันธุ์ แต่การศึกษาบางกรณีก็เชื่อว่า ความเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้ บริบทวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ หรืออธิบายสิ่งนี้ด้วยความหมายที่ฟังดูอ่อนลง เช่น พูดถึงชนชั้นตามลักษณะสีผิว ประเด็นการศึกษาดังกล่าวนี้ บ่งบอกให้ทราบว่า ความเข้าใจเรื่อง ethnicity ในทางมานุษยวิทยายังคงมีความคลุมเคลือ และมักจะปะปนอยู่กับเรื่อง Race หรือ Racism อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางชาติพันธุ์ที่แยกประเด็นเรื่อง Race ออกมาพิจารณา เพื่อที่จะอธิบายเงื่อนไขของ การแบ่งแยกมนุษย์ด้วยเหตุของสายพันธุ์ ยังมีอยู่น้อยมาก[29]
ความสัมพันธ์ระหว่าง Race และ Ethnic Group
ในความหมายอย่างกว้างๆของคำว่า Race หมายถึง เผ่าพันธุ์หรือสายพันธุ์ของมนุษย์ ซึ่งเป็นการแบ่งแยกด้วยกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผิวขาว ผิวดำ ผิวเหลือง ในขณะที่ Ethnic group หมายถึงกลุ่มคนที่รู้สึก หรือมีสำนึกว่าเป็นคนกลุ่มน้อยของคนกลุ่มใหญ่ซึ่งอาจถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ[30] ความหมายที่แตกต่างกันนี้ มีผู้นำไปอธิบายปะปนกันและ บางครั้งมีความหมายเหลื่อมซ้อนกัน เช่นการพูดถึงการประท้วงของเผ่าพันธุ์ อาจถูกอธิบายว่าเป็นการเคลื่อนไหวของ ethnic group เป็นต้น Michael Banton พยายามชี้ให้เห็นความแตกต่างของสองสิ่งนี้ว่า การเคลื่อนไหวของethnic group มีนัยยะเชิงบวกมากกว่า เพราะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ในขณะที่ การประท้วงเพื่อความเป็นเผ่าพันธุ์มีนัยยะของการแบ่งแยกและ ปฏิเสธออกจากอำนาจที่เคยควบคุม[31]
การนิยมเผ่า ยังอาจทำในลักษณะ กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกร่วมถึงความเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ในแง่นี้ ความหมายของ Ethnicity จึงเป็นการต่อสู้เพื่อผลทางการเมือง ในทางตรงกันข้าม การเป็นกลุ่มทางชาติพันธุ์ยังมีนัยยะของการเป็นกลุ่มที่กำลังสูญเสียอำนาจ หรือกำลังจะสาบสูญ คนในกลุ่มลักษณะนี้จึงมีความรู้สึก หรือมีความคิดร่วมว่าตนกำลังถูกปราบ อย่างไรก็ตาม ลูกหลานของคนกลุ่มนี้ อาจมีสำนึกถึงความเป็นชาติพันธุ์เจือจางลงไป เนื่องจากเหตุผลของระยะเวลา และเหตุผลอื่นๆ [32] เช่น ชาวอิเดียที่อพยพไปอยู่ในอังกฤษ
ในบางกรณี สำนึกในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อาจเป็นเพียงจินตนาการ เป็นการสร้างความเชื่อว่าชาติพันธุ์ของตนมีจริง โดยผ่านภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย การระลึกถึงบรรพบุรุษ หรือประวัติศาสตร์ การสร้างจินตนาการผ่านสิ่งเหล่านี้ เพื่อตอบสนองบุคคล นอกจากนั้นการสร้างตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์อาจกระทำผ่านการดัดแปลงสิ่งต่างๆ ทั้งใหม่และเก่าผสมผสานกัน เช่นชาวผิวดำในอเมริกายุคทศวรรษที่ 60 หันกลับไปตั้งชื่อแบบชาวแอฟริกา ไว้ผมฟูแบบแอฟริกา มีจินตนาการถึงอดีตเกี่ยวกับบรรพบุรุษ ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะสร้างตัวตนใหม่ต่างจากคนผิวขาว และสร้างนิยามความงามแบบคนผิวดำขึ้นมาเป็นความงามอีกแบบหนึ่ง ลักษณะดังกล่าวนี้ คือ subjective ของการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์[33]
[1] Sanjek, Roger1997. “Ethnography” in Alan Barnard and Jonathan Spencer(ed).Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Routledge, London. P.193.
[2] หัวใจสำคัญของการศึกษามานุษยวิทยา ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ Ethnography, Comparison, และ Contextualization ซึ่งรู้จักกันในนาม Anthropological Triagle
[3] Sanjek 1997 Ibid. p.194.
[4] Sanjek 1997 Ibid. p.194.
[5] Sanjek 1997. Ibid. 194.
[6] Sanjek 1997. Ibid. 194. ทฤษฎีที่ Gillen นำมาใช้คือ ทฤษฎี ของDurkheim และ Freud อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ซึ่งได้ลงไปเก็บข้อมูลชาติพันธุ์บริเวณตอนเหนือของออสเตรเลีย ที่เรียกว่า Torres Straits บุคคลสำคัญที่เก็บข้อมูล คือ W.H.R. Riversได้มีการพัฒนาวิธีการศึกษาทางชาติพันธุ์ในเชิงทฤษฎี โดยเฉพาะเรื่อง kinship terminology , genealogy รูปแบบการแต่งงาน การสืบมรดก และสายตระกูล
[7] ลูกศิษย์ของ Malinowski เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930-50 และมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาทาง Ethnography เช่น Evan-Pitchard
[8] Sanjek 1997. Ibid. p.196.
[9] Sanjek 1997. Ibid. p.196.
[10] Simon Ottenberg เรียกการบันทึกแบบสั้นๆว่า Scratch Notes ซึ่งนักมานุษยวิทยาจะนำมาเขียนเป็น Fuller descriptive fieldnotes
[11] Sanjek 1997 Ibid pp.197-198.
[12] นักมานุษยวิทยาที่วิพากษ์ประเด็นนี้ได้แก่ James Clifford เรื่อง On Ethnographic Authority(1983), Clifford Geertz เรื่อง Works and Lives :The Anthropologist as Author(1988), Marcus and Cushman เรื่อง Ethnographies as Texts(1982)
[13] Sanjek 1997 Ibid. p.198.
[14] Englund, Harri and James Leach 2000. “Ethnography and the Meta-Narratives of Modernity” in Current Anthropology Vol. 41,
no.2 April 2000.pp.225-247.
[15] Englund and Leach 2000 Ibid. p.227.
[16] Englund and Leach 2000. Ibid. p.228.
[17] คำว่า Ethnicity มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ คำว่า ethnikos ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ของ Ethnos หมายถึง ประชาชน หรือ ประเทศ คำๆนี้ได้ใช้อธิบายลักษณะกลุ่มคนซึ่งมีการรวมตัวกัน จากพื้นฐานของการมีจุดกำเนิดเดียวกัน หรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน การรวมตัวกันนี้เกิดจากการมีสำนึกถึงการมีอัตลักษณ์ และประสบการณ์ร่วมกันบางอย่าง ดูคำอธิบายเพิ่มเติมใน Cashmore and others(ed)1996 Dictionary of Race and Ethnic Relation. Routledge, London. Pp.121-124.
[18] แนวคิดนี้เรียกว่า Nepotism หรือการลำเอียงเข้าหาญาติ หรือการให้ประโยชน์กับญาติพี่น้อง ดู Sokolovskii and Tishkov 1997 “Ethnicity” in Barnard and Spencer(ed) 1997 Ibid. p.191.
[19] Sokolovskii and Tishkov1997. Ibid p.191.
[20] Sokolovskii and Tishkov 1997 Ibid. p.191.
[21] Barth, Fredrik 1969 “Introduction” in Barth(ed) Ethnic Groups and Boundaries, Boston: Little Brown.
[22] ความคิด Ethnocentrism เชื่อว่าชาวยุโรปผิวขาวเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด เก่งและฉลาดที่สุด เหนือกว่ามนุษย์กลุ่มอื่นๆในโลก ในสมัยกรีก ความเชื่อดังกล่าวนี้ ตอกย้ำความเก่งกว่า เหนือกว่าคนอื่นๆของชาวกรีก ชาวกรีกคิดว่าตนเองเป็นผู้เจริญที่สุด ขณะที่คนอื่นๆจะเป็นคนป่าเถื่อน ด้อยความเจริญ และต่ำต้อย ความคิดลักษณะนี้จึงมีนัยยะของการแบ่งชนชั้นวรรณะทางสังคม
ความคิดดังกล่าวนี้ ได้รับการเน้นย้ำในการศึกษาของ Francis Galton(1822-1911) ผู้ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง Hereditary Genius หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า ความสามารถและความฉลาดของมนุษย์เป็นผลจากยีนส์ในร่างกาย ซึ่งคนต่างเผ่าพันธุ์จะมียีนส์แตกต่างกัน การแบ่งแยกมนุษย์ด้วยเหตุผลทางชีววิทยานี้นำไปสู่การสร้างกฎเกณฑ์ที่ว่าจะมีมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ดีที่สุด ขณะที่กลุ่มอื่นๆแย่กว่าต่ำกว่า
[23] Sanjek 1997 “Race” in Barnard and Spencer (ed) 1997.Ibid. p.462.
[24] Sanjek 1997. Ibid. p.463.
[25] Sanjek 1997.Ibid. p.463 Samuel Morton คือผู้ที่เชื่อว่ามนุษย์มีจุดกำเนิดต่างกัน โดยมีความแตกต่างกันที่สมอง ซึ่งบ่งบอกว่ามนุษย์กลุ่มใดฉลาดที่สุด และดีที่สุด ในที่นี่ Morton ได้ยกย่องคนผิวขาวเป็นพวกที่ฉลาดและดีที่สุด
[26] Sanjek 1997 Ibid.p.463.
[27] Sanjek 1997. Ibid. p.464.
[28] Sanjek 1997. Ibid. p.464.
[29] Sanjek 1997. Ibid p.464.
[30] Cashmore, Ellis.and others(ed) 1996. Dictionary of Race and Ethnic Relations. Routledge, London. P.120.
[31] Cashmore and others (ed) 1996. Ibid. p.120.
[32] Cashmore and others(ed) 1996. Ibid. p.121.
[33] ข้อความภาษาอังกฤษมีว่า “Previous generations of blacks had attempted to imitate the lifestyles of middle-class whites, attempted-perhaps vainly-to move physically and intellectually away from the ghetto life and all its associations with the past. Pale skin and straight hair symbolized the attempt to remove the “taint” of blackness and aspire to white standards. Young blacks in the 1960s reversed this. They plunged back into history in a search for their roots , and, to signify this, grew the hair into “Afros” and changed their names to African equivalents, at the same time declaring “black is beautiful”. ดู Cashmore and others(ed) 1996. Ibid. p.123.
บรรณานุกรม
Barth, Fredrik
“Introduction” in Barth(ed). Ethnic Groups and Boundaries. Boston, Little Brown.
Cashmore and Others(ed.)
Dictionary of Race and Ethnic Relation. Routlegde, London.
Englund, Harri and James Leach.
“Ethnography and the Meta-Narratives of Modernity” in Current Anthropology Vol.41, no.2, April 2000 pp.225-247.
Sanjek, Roger
“Ethnography” in Alan Barnard and Jonathan Spencer (ed.) Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Routledge, London.
Sokolovskii and Tishkov
“Ethnicity” in Barnard and Spencer (ed.) Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Routledge, London
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
คำสำคัญ: ชาติพันธุ์, มานุษยวิทยา, งานเขียนทางชาติพันธุ์, เผ่าพันธุ์
หัวเรื่องอิสระ: อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์