คำศัพท์

Garbology

ในปัจจุบัน ปัญหาของการจัดการขยะ ของเสีย ของเหลือใช้ เป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขยะและของเสียที่เกิดจากการผลิตและการบริโภคในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม (Industrial capitalism) ที่มากล้น ฟุ่มเฟือย ไม่ได้สัดส่วน จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกเป็นอย่างมาก ปัญหาดังกล่าวได้ทำให้ตั้งแต่คริสตทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ในประเทศต่าง ๆ จึงเกิดกระแสของการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมและการเมืองที่มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องขยะมากขึ้น และส่วนหนึ่งก็สังเกตได้จากการที่นักการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายในการจัดการกับปัญหาขยะอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ หรือสถานที่ที่คนแออัดซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาของการจัดการขยะ โดย Mikael Drackner (2005) ระบุว่า ในเมืองของประเทศกำลังพัฒนานั้น การสร้างขยะมูลฝอยในสภาพแวดล้อมกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการรวมกันผู้คนจำนวนมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจฐานบริโภค (the consumer economy) และจากการอพยพของผู้คนเข้าสู่เมืองซึ่งควบคุมได้ยาก

ขยะหรือของเสีย (รวมทั้ง Digital waste) และการจัดการสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ของชีวิตในโลกยุค Capitalocene โดยยังเป็นเรื่องซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดของผู้คนในสังคมที่มีต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โอกาสทางเศรษฐกิจ กฎเกณฑ์ทางนิเวศวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติอีกด้วย (Reno, 2015; Schlehe & Yulianto, 2019) ขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่องขยะหรือของเสียก็เต็มไปด้วยข้อถกเถียงด้านจริยธรรมและด้านสุนทรียภาพ โดยเฉพาะประเด็นการลดคุณค่าหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ผ่านความคิดในการมองว่าสิ่งใดหรือคนใดเป็นขยะ อันหมายถึงเป็นสิ่งที่ไร้ระเบียบ (disorder) น่าเวทนา (abjection) และน่าขยะแขยง (disgust) (Martínez, 2017) โดยในสาขาสังคมศาสตร์ก็ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับขยะ ในลักษณะของสาขาวิชาย่อยที่กำลังเติบโตในชื่อที่เรียกว่า ขยะวิทยา (garbology) หรือ มานุษยวิทยาว่าด้วยขยะ (anthropology of garbage หรือ anthropology of Waste) หรือ การศึกษาสิ่งที่ถูกทิ้ง (discard studies) (พิชญ์, 2019; O'Hare, 2019; Alexander & O'Hare, 2020)

ทั้งนี้ คำว่าขยะที่อาจใช้คำว่า garbage, trash, waste, rubbish, litter แม้จะเป็นคำที่มีความหมายแตกต่างกัน (Drackner, 2005) แต่ก็ต่างก็เป็นคำที่แสดงถึงหมวดหมู่เดียวกันของสิ่งที่ถูกปฏิเสธโดยคนส่วนใหญ่ (rejected matter) ซึ่งได้เริ่มถูกกล่าวถึงในแวดวงของมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้าง (structural anthropology) โดยมี Mary Douglas นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษที่ศึกษากลุ่ม the Lele ethnic group ในประเทศคองโกและมีหนังสือที่ชื่อว่า Purity and danger (1966) เป็นคนสำคัญที่ศึกษาสิ่งเหล่านี้ โดยเขาได้เสนอแนวคิดของสิ่งที่ถูกปฏิเสธเหล่านี้ว่าเป็น Dirt (สิ่งสกปรก) ในฐานะที่เป็น matter out of place (สิ่งที่แปลกแยก) ซึ่งมองว่าสิ่งสกปรกในสังคมหนึ่งนั้นมาจากการจัดลำดับและการจำแนกสสารอย่างเป็นระบบ หรือกล่าวได้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งถูกเรียกว่าเป็นมลพิษหรือสิ่งสกปรกหรือขยะก็ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่สิ่งนั้นดำรงอยู่และขึ้นกับระบบการจัดประเภทที่อยู่รอบ ๆ ของสิ่งนั้น (the system of classification) หรือที่เรียกว่าการจัดหมวดหมู่เชิงสัญลักษณ์ (symbolic categorisation) โดยสิ่งต่าง ๆ ถูกกำหนดให้เป็นสิ่งสกปรกไม่ใช่เพราะมันอ่อนแอหรือไม่สมบูรณ์ (unhealthy) แต่เพราะมันละเมิดต่อการจัดหมวดหมู่ทางวัฒนธรรมนั้น ๆ (ทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่ลงรอยกันและต่ำต้อย) ทั้งนี้การจัดว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งสกปรก สิ่งไหนสะอาด หรือเป็นขยะหรือไม่นั้นกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกวัฒนธรรม ทว่าของบางสิ่งเป็นสิ่งสะอาดหรือมีคุณค่าในบางวัฒนธรรม แต่กลับเป็นของเสียหรือขยะในอีกวัฒนธรรม และการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะดูแปลกแยกหรือไม่ก็ขึ้นกับเวลาและสถานที่อีกด้วย ขณะเดียวกันแนวคิดที่ว่าการเรียกสิ่งใดว่าเป็นขยะนั้นเป็นการจัดหมวดหมู่ตามอัตวิสัยที่เราแสดงให้เห็นถึงความคิดของเราที่มีต่อวัตถุอีกเช่นกัน (Drackner, 2005; Lotman, 2013; Martínez, 2017; O'Hare, 2019; Alexander & O'Hare, 2020)

นอกจากคำอธิบายของนักมานุษยวิทยาที่มีต่อขยะในลักษณะดังกล่าว ซึ่งมักสัมพันธ์กับพื้นที่ทางศาสนา และให้ความสนใจต่อการแบ่งขั้วแบบ sacred/polluted (สิ่งศักดิ์สิทธิ/มลพิษ) หรือ pure/impure (บริสุทธิ์/ไม่บริสุทธิ์) ดังกล่าวแล้วนั้น มานุษยวิทยาเศรษฐศาสตร์ (economic anthropology) ก็ได้เสนอการแบ่งขั้วต่อเรื่องขยะไว้อีกแบบคือ waste (ของเสียหรือขยะ) กับ value (สิ่งที่มีคุณค่า) โดยมี Michael Thompson นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ เจ้าของหนังสือ Rubbish theory (1979) เป็นคนสำคัญ โดยเขาพิจารณาว่าคุณค่าไม่ใช่คุณลักษณะอันคงที่ของสิ่งของ คุณค่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เขาแบ่งประเภทของสิ่งต่าง ๆ ออกเป็น transient (ชั่วคราว) durable (ทนทาน) และ rubbish (ขยะ) โดยหลังจากที่เราได้ซื้อของบางอย่างมา มูลค่าของสิ่งนั้นจะลดลงจนกระทั่งถึงศูนย์ และนั่นคือขยะ ทว่าด้วยการเล่นแร่แปรธาตุทางวัฒนธรรมที่ลึกลับซับซ้อน (a mysterious cultural alchemy) ก็สามารถทำให้บางสิ่งเปลี่ยนจากการไร้ค่าไปสู่สิ่งมีค่าได้เช่นกัน ทั้งนี้ เขาสนใจว่าเหตุใดวัตถุอย่างหนึ่งสามารถข้ามสถานะจากประเภทหนึ่งไปยังอีกประเภทหนึ่งได้ เช่น กรณีของรถยนต์วินเทจ (vintage cars) ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกตีราคาใหม่ และงานศิลปะ นอกจากนี้ เขาก็เสนอว่าวัตถุบางอย่างอาจถูกจัดประเภทเป็นหมวดหมู่ที่สามซึ่งมูลค่าของมันไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงไปแต่มันคือไม่มีคุณค่าอะไรเลย ซึ่งนั่นมันคือขยะ (rubbish) (PD Smith, 2017; O'Hare, 2019; Alexander & O'Hare, 2020)

นอกจากนี้ยังมีข้องสังเกตว่า นักมานุษยวิทยาและผู้ที่ทำการสำรวจมลพิษ ขยะ ของเสีย โดยใช้แนวคิดการอธิบายขยะหรือของเสียว่าเป็น matter out of place ตามแนวทาง Mary Douglas นั้น กำลังทำให้เกิดความสับสนในการจัดจำแนก โดยมลพิษหรือขยะตามแนวคิดทางมานุษยวิทยาแบบดั้งเดิมนั้นแตกต่างจากความเข้าใจในปัจจุบัน ทั้งนี้ ขยะไม่ได้ดำรงอยู่เป็นเอกเทศ แต่มันเป็นการรวมกันของแก่นสาระ (substance) และวัตถุ (thing) ในพื้นที่เฉพาะซึ่งนำไปสู่การจำแนกว่าสิ่งใดเป็นขยะ สำหรับนักมานุษยวิทยารุ่นใหม่ที่ได้ฝึกฝนสายตา (การมอง) ไปต่อสภาวะวัตถุของขยะ การฝึกฝนไปยังกลิ่นของมันและอันตรายของมันรวมทั้งศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ของมันนั้น พวกเขายังคงคิดหาวิธีใหม่ ๆ ในการจัดจำแนกประเภทของขยะ และมีการประเมินมูลค่าใหม่ (O'Hare, 2019; Alexander & O'Hare, 2020) ขณะที่ Stefania Gallini (2016) เสนอว่า ขยะหรือของเสียมีความเป็นลูกผสม (hybrid) ที่เป็นทั้งการประดิษฐ์ทางสังคม (sociocultural artifact) และเรื่องวัถตุเชิงกายภาพ (physical matter) ซึ่งการดำรงอยู่ของมันขึ้นอยู่กับการตัดสินเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคุณสมบัติทางชีวกายภาพ (biophysical features) และการจัดการทางเทคโนโลยีในการกำจัด/เปลี่ยนรูปของเสีย

ขยะวิทยา (garbology) มานุษยวิทยาว่าด้วยขยะ (anthropology of garbage) และการศึกษาสิ่งที่ถูกทิ้ง (discard studies)

การศึกษาขยะวิทยา (garbology) ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกาช่วงปี ค.ศ.1987 โดยมี William Rathje ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีคนสำคัญที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตการทำงานของเขาในการศึกษาขยะ ทั้งนี้ ในช่วงแรกเริ่ม William Rathje ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ Garbage ที่ได้ศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับขยะที่ถูกทิ้งโดยครัวเรือนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา โดยทางนักวิจัยในโครงการดังกล่าวได้ทำการตรวจสอบความเป็นระบบระเบียบในธรรมชาติของขยะ (the nature of waste) ในฐานะที่ขยะเป็นวัตถุทางโบราณคดี ด้วยการศึกษาขุดค้นว่าในพื้นที่ฝังกลบขยะนั้นมีอะไรในนั้นบ้าง และจริงไหมที่ขยะซึ่งย่อยสลายได้นั้นมันจะย่อยสลายได้จริงตามระยะที่เราคาดเอาไว้ โดยที่หลายอย่างที่พบในหลุมขยะนั้นทำให้เรามองเห็นเรื่องใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและเราคิดไม่ถึง อาทิ คนอเมริกันเชื่อว่า สิ่งที่อยู่ในหลุมขยะนั้นส่วนใหญ่คงเป็นพวกวัสดุใส่อาหารเช่นกล่องหรือกระป๋อง ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ขณะที่โบราณคดีว่าด้วยขยะ (archaeology of garbage) สมัยใหม่หรือขยะวิทยานั้นทำให้เราพบว่าสิ่งเหล่านี้มีแค่ร้อยละสาม ขณะที่พลาสติกมีอยู่แค่ร้อยละยี่สิบ ขณะที่กระดาษนั้นมีอยู่ถึงร้อยละสี่สิบ รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ขยะที่ย่อยสลายได้นั้นการย่อยสลายนั้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การศึกษาขยะวิทยายังได้รับความสนใจจาก social anthropology ที่มุ่งสนใจสำรวจตรวจสอบวัฒนธรรมของเมืองร่วมสมัยในระบบระเบียบของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะเปิดเผยให้เห็นถึงระบบอันซ่อนเร้น แข่งขันกัน ระหว่างของสิ่งที่มีคุณค่ากับสิ่งที่ถือว่าเกินความต้องการ (superfluous) หรือเป็นขยะ (พิชญ์, 2019; Pessel, 2006; Eriksen & Schober, 2017)

ในขณะเดียวกันมานุษยวิทยาว่าด้วยขยะ (anthropology of garbage หรือ Anthropology of Waste) ก็ได้มุ่งเน้นต่อมุมมองทางวัฒนธรรมที่มีต่อขยะหรือของเสีย สู่การสนทนาด้วยคำถามเกี่ยวกับอำนาจ ชนชั้น ศาสนา วัตถุนิยม และเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นหัวใจของสังคมร่วมสมัย (O'Hare, 2019) โดยมานุษยวิทยาจะให้ความสนใจกับคำถามที่ว่า เมื่อเราทิ้งของไปแล้วมันจะไปอยู่ที่ไหน หรือคำถามที่ว่า การผลิต การกำจัด และการจัดการของเสียมีส่วนในการสร้างความแตกต่างของเชื้อชาติ ชนชั้น และเพศหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้แนวทางดังกล่าวอาจเรียกว่าเป็นการศึกษาสิ่งที่ถูกทิ้ง (discard studies) ซึ่งไม่ได้มองว่าของเสียเกิดจากปัจเจกบุคคล และไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือเป็นอันตราย หรือเป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรมโดยแรกเริ่มด้วยตัวมันเอง แต่ทว่าวัตถุที่เป็นของที่ถูกทิ้งและความหมายของมันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจเชิงสังคมวัฒนธรรม การศึกษาสิ่งที่ถูกทิ้งจึงให้ความสำคัญต่อการสำรวจระบบระเบียบเหล่านี้ว่าของเสียเกิดขึ้นได้อย่างไร และเสนอทางเลือกที่สำคัญต่อแนวคิดเรื่องขยะ (Micek, 2020)

การศึกษาสิ่งที่ถูกทิ้งยังมองว่า ถังขยะและหลุมฝังกลบสามารถแสดงให้เห็นองค์ประกอบหลายอย่างในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปนิสัยการจับจ่ายใช้สอยของเรา รูปแบบการกินอาหารของเราและพฤติกรรมการกินอาหารแต่ละวันของเรา การแสดงอำนาจของบางบางประเทศในการขนส่งขยะของตนไปยังประเทศอื่น โดยที่ขยะหรือของเสียและกระบวนการจัดการสิ่งเหล่านี้จะเผยให้เห็นถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นวัตถุภาวะ(Materiality) และภววิทยา (Ontology) ต่อเรื่องสิ่งชั่วคราว (transient things) และของที่ถูกทิ้ง (discarded things) อีกทั้ง discard studies จะให้ความสำคัญกับคำถามทำนองว่าทำไมการรีไซเคิลจึงถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ควรตั้งแต่แรก มากกว่าเพียงคำถามว่ามีคนรีไซเคิลขยะมากแค่ไหน และทำไมพวกเขาจึงไม่รีไซเคิลให้มากกว่านี้ นอกจากนี้ แนวทางการศึกษาสิ่งที่ถูกทิ้งยังสามารถบอกอะไรเราได้อีกมากมายหากนำการศึกษาแบบชาติพันธุ์วิทยาหลากสายพันธุ์ (ethnographically multi-species studies) มาใช้ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเรื่องขยะนั้นไม่ได้มีแค่มนุษย์เพียงเท่านั้น ทว่ามันพัวพันกับบทบาทของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhumans) และอนาคตของมนุษยสมัยอีกด้วย (the future of the Anthropocene) (Liboiron; 2019; Reno, 2015; Micek, 2020)

Patrick O'Hare (2019) นักวิจัยจาก Department of Social Anthropology ใน University of St Andrews ระบุว่าในตอนนี้ทั่วทั้งโลกได้หันมาสนใจกับปัญหาของขยะเป็นอย่างมาก ขยะได้กลายมาเป็นปัญหาของการทูตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากกลุ่มประเทศใน Global South ได้เริ่มส่งขยะที่ปนเปื้อนกลับสู่แหล่งที่มาใน Global North อีกทั้งในส่วนของการจัดจำแนกยุคสมัยในปัจจุบันของเราที่เรียกว่า Anthropocene (มนุษยสมัย) นั้นส่วนหนึ่งก็มาจากข้อเท็จจริงที่ว่ากิจกรรมของมนุษย์ได้เกิดการสร้างขยะ หรือมีการทิ้งหรือปล่อยสิ่งต่าง ๆ เช่น พลาสติก โลหะ นิวไคลด์กัมมันตรังสี ซึ่งสามารถสังเกตได้ลึกลงไปในเปลือกโลก กระทั่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ก็ถือเป็นของเสียหรือขยะชนิดหนึ่งเช่นกัน ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้การวิจัยเกี่ยวกับของเสียหรือขยะได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในด้านมานุษยวิทยา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วไป

Joshua Reno (2016) นักมานุษยวิทยาประจำ Binghamton University ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจขยะและได้ทำงานภาคสนามที่หลุมฝังกลบขยะในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Waste Away: Working and Living with a North American Landfill ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ The Atlantic เกี่ยวกับประสบการณ์จากข้อมูลการทำงานภาคสนามไว้ว่า ขยะส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกามาจบลงที่หลุมฝังกลบแทบทั้งสิ้น แม้ว่าเราจะพยายามรีไซเคิลและใช้ทางเลือกอื่นมากมายแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นเราจึงควรศึกษาขยะเหล่านี้ Joshua Reno เลือกทำงานที่หลุมฝังกลบเพราะอยากรู้ว่าข้างในนั้นเป็นอย่างไร ที่นั่นมีคนถูกจ้างมาเพื่อดูแลขยะให้คนอื่น ๆ เขาให้ความสนใจต่อประเด็นของการเคลื่อนย้ายขยะและจำนวนของหลุมฝังกลบขยะที่ไม่สมสัดส่วนต่อเมือง โดยที่ชุมชนในชนบทของสหรัฐอเมริกาต้องแบกรับภาระขยะจากเมืองต่าง ๆ ที่ถูกนำเข้ามาทิ้ง หรือกล่าวได้ว่าในชนบทที่มีฐานภาษีขนาดเล็ก (a small tax base) และมีองค์กรทางการเมืองที่เข้มแข็งน้อยกว่า มีแนวโน้มที่จะจบลงด้วยการกลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะขนาดใหญ่ในสนามหลังบ้านของพวกเขา ส่วนเมืองใหญ่ก็มีอำนาจในการต่อต้านการสร้างหลุมฝังกลบ เขาพบว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรกับหลุมฝังกลบขยะ สิ่งมีชีวิตและองค์ประกอบอื่น ๆ ก็จะเข้ามายุ่งกับการจัดการขยะและการออกแบบของมนุษย์ได้อยู่ดี การจัดการกับขยะที่มากมายขนาดนี้จึงเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เราจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับคนที่ทำงานในหลุมฝังกลบขยะเหล่านี้ และเราต้องให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของหลุมฝังกลบแม้ว่าเขาจะพยายามไม่ให้เรา (คนทั่วไป) ได้มองเห็นมันก็ตาม (Reno, 2015) อีกทั้งเขายังพบว่าในหลายสังคมทั่วโลก ผู้ที่รีไซเคิลขยะ (recycler) บางคนนั่นอาศัยอยู่ใกล้ ๆ และทำงานกับขยะของคนอื่นเพื่อสร้างฐานะให้กับตนเอง แต่ Joshua Reno พบว่าเรามักไม่ให้พวกเขาเข้าถึงขยะที่ดีที่สุด นอกจากนี้ งานภาคสนามของเขายังสะท้อนว่าวัฒนธรรมของอเมริกัน (และคนส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบัน) ปฏิเสธและต่อต้านความตายอย่างเป็นระบบ โดยการที่เราไม่อยากเข้าใกล้หรืออยู่ใกล้ของขยะก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของมัน เขาเสนอว่าทางออกสำหรับวิกฤตอัตถิภาวนิยม (existential crisis) นั้นคือการที่เราเรียนรู้ที่จะยอมรับการสูญเสียและความตาย ซึ่งมันเป็นมากกว่าการรีไซเคิลหรือการรักสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม อนาคตของการศึกษาสิ่งที่ถูกทิ้ง (discard studies) ก็คงต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับการจัดการขยะมากขึ้น เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างนวัตกรรมด้านการผลิต การบริโภค และการจำกัดสิ่งต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhumans) มากยิ่งขึ้น (Reno, 2015)


ผู้เขียน: สัมพันธ์ วารี

เอกสารอ้างอิง:

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2019). ขยะวิทยาและสังคมวิทยาว่าด้วยขยะ. มติชนออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/article/news_1583067.

Alexander, C. & O’Hare, P. (2020). Waste and Its Disguises: Technologies of (Un)Knowing. Ethnos, DOI: 10.1080/00141844.2020.1796734

Drackner, M. (2005). What is waste? To whom? - An anthropological perspective on garbage. Waste Management & Research, 23(3), 175–181.

Eriksen, T. H. and Schober, E. (2017). Waste and the superfluous: an introduction. Social Anthropology/Anthropologie Sociale, 25(3), 282-287.

Gallini, S. (2016). The Zero Garbage Affair in Bogotá. RCC Perspectives. 3, 69–78.

Judith, S. &Vissia, I. Y. (2019). An anthropology of waste: Morality and social mobilisation in Java. Indonesia and the Malay World. 48. 1-20.

Liboiron, M. (2019). Discard Studies: Doing Science Differently, Austrian Journal for Development Studies, XXXV(2-3): 197-216.

Lotman, A. (2013). Dumpster Diving. Material World. Retrieve from https://materialworldblog.com/2013/01/dumpster-diving/.

Martínez, F. (2017). Waste is not the end. For an anthropology of care, maintenance and repair. Social Anthropology/Anthropologie sociale, 25(3), 346-350.

Micek, A. (2020). An Anthropology of Waste: The University of Texas’s Zero Waste Goal (Research report). Austin: The University of Texas at Austin.

O'Hare, P. (2019). “Waste”. In F. Stein (Ed.), The Cambridge Encyclopedia of Anthropology. Retrieve from doi.org/10.29164/19waste.

PD Smith. (2017). Rubbish Theory: The Creation and Destruction of Value by Michael Thompson review – what gives things their worth?. The guardian. Retrieve from https://www.theguardian.com/books/2017/jun/23/rubbish-theory-the-creation-and-destruction-of-value-by-michael-thompson-review-what-gives-things-their-worth.

Pessel, W. K. (2006). Rubbish as informants: a cultural contribution to Polish ‘garbeology’. Anthropology Matters. 8(1), 1-7.

Reno, J. (2015). Waste and Waste Management. Annual Review of Anthropology, 44, 557-572.

Reno, J. (2016). The Anthropologist in the Landfill [Interviewed by Bourree Lam]. The Atlantic. Retrieve from https://www.theatlantic.com/business/archive/2016/03/landfill-anthropologist/476121/.


หัวเรื่องอิสระ: ขยะ, สิ่งเหลือทิ้ง, ของเสีย, ทุนนิยม