คำศัพท์

Post-Marxist anthropology

วิธีคิดแบบมาร์กซิสต์และเวเบอร์

มาร์กซิสต์สนใจความขัดแย้งทางชนชั้นและมองชนชั้นในเชิงโครงสร้างที่มีลำดับชั้นของคนที่ไม่เท่ากัน โดยที่คนอยู่ในชนชั้นที่สูงกว่าจะเอาเปรียบชนชั้นที่อยู่ต่ำกว่าซึ่งปรากฏอยู่ในระบบการผลิตเพื่อการยังชีพของมนุษย์และการสร้างผลผลิตส่วนเกินที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยชนชั้นที่มีอำนาจ ในแง่นี้ ชนชั้นจึงเป็นภาพสะท้อนของผลประโยชน์เชิงวัตถุ (material interests) ในขณะที่เวเบอร์มิได้มองชนชั้นแบบโครงสร้างที่ตายตัวหรือเป็นผลมาจากระบบการผลิต แต่มองความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนที่เกิดจากพฤติกรรมของบุคคลที่มีบทบาทและสถานะทางสังคมที่ต่างกัน การกระทำของบุคคลจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นตัวบ่งชี้ของเจตนาและความต้องการซึ่งดำรงอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จะเห็นได้ว่าฐานคิดเรื่องชนชั้นระหว่างมาร์กซิสต์และเวเบอร์มีความแตกต่างกัน Giddens (1981) เคยตั้งข้อสังเกตว่าวิธีคิดของมาร์กซิสต์มักลดทอนการกระทำของมนุษย์ให้เหลือเพียงความสัมพันธ์ทางการผลิตเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม นักวิชาการแนวมาร์กซิสต์รุนหลังโต้แย้งว่าการกระทำของบุคคลมิได้ถูกละเลยแต่ดำเนินไปบนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย (Thompson, 1964) รวมทั้งการต่อสู้ดิ้นรนของบุคคลภายใต้กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและอุดมการณ์สังคม (Burris, 1980; Przeworski, 1977, Wright, 1985) นักวิชาการมาร์กซิสต์รุ่นหลังพยายามมองความเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างสังคมกับการกระทำของมนุษย์เข้าด้วยกัน เช่น Giddens (1981) พยายามเสนอแนวคิดเรื่อง Structuration เพื่ออธิบายตัวตนของมนุษย์ที่ต่อสู้ดิ้นรนภายใต้โครงสร้างสังคม

ทบทวนแนวคิดเรื่องอุดมการณ์

ประเด็นที่มาร์กซิสต์สนใจคือการครอบงำทางอุดมการณ์ (ideological domination) ส่วนเวเบอร์สนใจการครอบงำในมิติของระบบอำนาจ (Burris, 1987) แนวคิดเรื่อง “อุดมการณ์” (Ideology) ที่ปรากฏอยู่ในข้อวิจารณ์ของมาร์กซิสต์มีอิทธิพลต่อวงวิชาการในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก ในหมู่นักปรัชญาฝรั่งเศสมักจะอธิบายอุดการณ์ในฐานะเป็น “วิทยาศาสตร์ของความคิด” (science of ideas) หรือ “ข้อเท็จจริงแห่งจิตสำนึก” ที่มีไว้สำหรับตอบโต้ความเชื่อทางศาสนาที่งมงาย (Keršye, 2017) จากทัศนะของ Althusser (1969) อุดมการณ์คือวิธีการสร้างจินตนการให้เกิดเป็นรูปธรรมผ่านภาษาและคำอธิบาย (figurative discourse) ฉะนั้น อุดมการณ์จึงดำรงอยู๋ในฐานะระบบของสัญลักษณ์ ในการวิเคราะห์สัญลักษณ์ทางสังคมจึงต้องทำความเข้าใจความหมายที่ดำรงอยู่ในสัญลักษณ์เหล่านั้น เมื่ออุดมการณ์คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับความหมาย ทำให้นักวิชาการระยะหลังพยายามจะนำกรอบความคิดแบบมาร์กซิสต์มาผสมผสานกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งส่งผลต่อการโต้เถียงในแวดวงวิชาการในยุคหลังสมัยใหม่

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความคิดเรื่องอุดมการณ์ถูกตีความโดยนักรัฐศาสตร์ในฐานะเป็นระบบความคิดหรือ หลักคำสอนที่เกิดขึ้นในกลุ่มทางสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นการตีความอุดมการณ์ในแบบแคบๆ ส่งผลให้การทำความเข้าใจเรื่องอุดมการณ์จำกัดอยู่เฉพาะ “ความคิดทางการเมือง” หรือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ เท่านั้น ภายใต้การตีความเชิงการเมืองนี้ นักรัฐศาสตร์จะอธิบายระบอบอำนาจที่ใช้ควมคุมความคิดของประชาชน โดยเฉพาะความคิดเผด็จการแบบสตาลินและลัทธิฟาสซิสต์ ระบอบเผด็จการที่กดขี่ข่มเหงมนุษย์จึงกลายเป็นภาพตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์” ซึ่งมีนัยยะเชิงลบมากกว่าสิ่งที่มาร์กซ์เคยอธิบายไว้ก่อนหน้านั้น ในความคิดของมาร์กซ์ “อุดมการณ์” คือระบบการโกหก การหลอกลวง และภาพลวงตา เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความจริงที่เป็นกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ Keršye (2017) อธิบายในประเด็นนี้ว่านักวิชาการรุ่นหลังสนใจระบบเผด็จการและทำให้อุดมการณ์เปลี่ยนจากข้อถกเถียงเรื่อง “ความจริง/ความเท็จ” ไปเป็นการถกเรื่อง “ความดี/ความชั่ว”

ในช่วงทศวรรษ 1960 จนถึงปัจจุบัน เมื่อระบบเผด็จการเริ่มสั่นคลอนและล่มสลายลงไป นักวิชาการเริ่มคิดว่า “อุดมการณ์” มิใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ทำให้หันมามองชีวิตทางสังคมที่มิได้ถูกครอบงำจากอุดมการณ์ หรืออาจเรียกว่า “อุดมการณ์ตายไปแล้ว” ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการสายมาร์กซิสต์แนวใหม่ไม่เชื่อว่าสังคมจะปราศจากอุดมการณ์ ถึงแม้ว่าระบบเผด็จการแบบสตาลินและลัทธิฟสซิสต์จะจบสิ้นไปแล้ว แต่มิได้หมายความว่าสังคมจะไร้ซึ่งอุดมการณ์หรือระบบของการโกหกหลอกลวง ในสังคมเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตก โดยเฉพาะสังคมอเมริกันมักจะเชื่อว่าโลกหลังยุคเผด็จการจะมีอิสรภาพและเสรีภาพที่ประชาชนมีสิทธิและฉลาดพอที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการฆลอกลวงหรือโฆษณาชวนเชื่อ แต่การอยู่ในระบบเสรีนิยมอาจเป็นเพียงการมองโลกสวยเกินไป ปัจจุบัน แม้ว่าโลกจะไม่ถูกชี้นำด้วยระบอบอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งแบบโดดๆ แต่มิได้หมายความว่าโลกจะปลอดจากอำนาจหรืออุดมการณ์ที่ทำให้ผู้คนยึดมั่นและศรัทธา ในทางตรงกันข้าม สังคมปัจจุบันล้วนเต็มไปด้วยหลักการทางความคิดที่หลากหลายที่พยายามชี้นำสังคมและต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด สิ่งที่แตกต่างไปจากการสร้างอุดมการณ์ในอดีตก็คือวิธีที่อุดมการณ์เหล่านั้นถูกแสดงและถูกนำเสนอต่อสังคม กล่าวคือ รัฐอาจมิได้มีบทบาทและมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะสร้างอุดมการณ์ครอบงำสังคม แต่อุดมการณ์กำลังถูกสร้างโดยตัวละครที่หลากหลายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน

สถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนจะไม่รู้ว่าต้นเหตุหรือแหล่งที่มาของอุดมการณ์เกิดจากใครหรือสิ่งใด ต้นทางของอุดมการณ์เริ่มมีความคลุมเครือและไม่มีเอกภาพ กลไกการทำงานของอุดมการณ์มิได้แสดงออกแบบตรงไปตรงมาหรือมองเห็นได้ชัดเจนและมันเกิดขึ้นแบบผสมผสานกับเทคนิคที่หลากหลาย เช่น ดำเนินไปพร้อมกับทัศนคติ ความเชื่อ เรื่องเล่า คำอธิบาย ข้อถกเถียง และข้อมูลข่าวสารที่คนแต่ละคนนำมาอ้างและส่งต่อไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้มองดูราวกับว่าเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลที่ตอกย้ำสิทธิและเสรีภาพในการพูดและแสดงออก ในแง่นี้ “อุดมการณ์” จึงมิได้ถูกเรียกเป็น “อุดมการณ์” แต่มันปรับโฉมไปสู่การเป็นความคิดเห็นและองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติทางสังคม Geertz (1973) ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่าอุดมการณ์ในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าดีหรือเลว แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อมกับชีวิตทางสังคม ในทางมานุษยวิทยา การทำความเข้าใจอุดมการณ์จึงมิใช่การตัดสินเชิงศีลธรรม หากแต่เป็นการมองดูปรากฎการณ์ความคิดและการปฏิบัติที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนชีวิตทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งได้ให้ความหมายบางอย่างต่อสิ่งที่คิดและกระทำ

การศึกษา “อุดมการณ์” ในปัจจุบันมิใช่การค้นหาว่าอุดมการณ์ต่างๆทำหน้าที่และส่งผลกระทบทางสังคมอย่างไร มิใช่การตัดสินว่าอุดมการณ์แบบไหนหลอกลวงประชาชน แบบไหนให้เสรีภาพประชาชน ในทางกลับกัน เป็นการศึกษา “อุดมการณ์” ในฐานะเป็นระบบความเชื่อไม่ต่างจากการนับถือศาสนาซึ่งเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กับเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่อุดมการณ์นั้นถูกสร้างขึ้น (Geertz, 1973)

มาร์กซิสต์และการพ้นมาร์กซิสต์

Rappa (2022) อธิบายว่าทฤษฎีมาร์กซิสต์กับมานุษยวิทยาแนวมาร์กซิสต์มักจะถูกตีความว่าไปด้วยกันไม่ได้ แต่ในสังคมสมัยใหม่จะพบว่าการสะสมทรัพย์สินส่วนตัวของประชาชนกำลังแผ่ขยายและเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยลัทธิเสรีนิยมใหม่ ชนชั้นพ่อค้า นักธุรกิจ ผู้บริหารและดารานักแสดงที่มีชีวิตที่ร่ำรวยและหรูหรากลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ชนชั้นผู้มีเวลาว่าง” (leisure class) (Veblen, 1899) ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของการใช้ชีวิตสมัยใหม่ที่ชนชั้นแรงงานพบเห็นไดทั่วไปในสื่อกระแสหลัก สังคมของนักธุรกิจและผู้บริหารยุคใหม่ยังคงผลิตซ้ำระบอบของการครอบงำทางความคิดและแสวงหาผลประโยชน์จากชนชั้นแรงงาน กรณีสังคมไทย Rappa (2022) วิเคราะห์ว่าภายใต้ผู้ปกครองที่เป็นทหารมีความพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ของสังคมประชาธิปไตยเพื่อปกปิดอำนาจเผด็จการที่ถูกควบคุมด้วยผู้นำเพียงไม่กี่คน หากนำแนวคิดมานุษยวิทยามาร์กซิสต์ใหม่มาทำความเข้าใจจะพบว่ารัฐไทยพยายามปิดกั้นสิทธิของชนชั้นแรงงานและกลุ่มเกษตรกรซึ่งต้องการทวงคืนที่ดินทำกิน รวมทั้งพยายามมิให้ชุมชนถือครองที่ดินในฐานะกรรมสิทธิ์ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นป่าชุมชนที่ให้สิทธิแก่คนในท้องถิ่นเข้าไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีใครครอบครองเพียงฝ่ายเดียว หรือพื้นที่สาธารณะที่ให้คนทุกกลุ่มเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

Clammer (1985) ตั้งคำถามว่าในสังคมนอกตะวันตก ทฤษฎีมาร์กซิสต์สามารถนำไปวิเคราะห์ความขัดแย้งทางชนชั้นได้หรือไม่ ความพยายามของนักมานุษยวิทยามาร์กซิสต์นอกจากจะโต้เถียงเรื่องการครอบงำภายใต้ลัทธิอาณานิคมของตะวันตกที่เข้าไปแสวงหาประโยชน์จากคนท้องถิ่นแล้ว ยังตั้งคำถามต่อเป้าหมายของการศึกษาทางมานุษยวิทยาซึ่งถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบตะวันตก ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา โฉมหน้าของระบบทุนนิยมเปลี่ยนไปจากยุคเริ่มแรกเป็นอย่างมาก ประกอบกับการขยายตัวของระบอบประชาธิปไตยและขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้นักวิชาการเห็นข้อจำกัดในการใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์ (Boron, 2000) ปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและรูปแบบการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชนที่พบในลาตินเอมริกา เอเชีย และแอฟริกา ทำให้นักวิชาการแนวมาร์กซิสต์กลับมาตั้งคำถามว่าในขณะที่โลกตะวันตกเดินหน้าไปสู่สังคมหลังทุนนิยมและประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว สังคมอื่นยังคงปกครองด้วยระบบอำนาจเผด็จการและปราศจากเสรีภาพหรือไม่ (Laclau & Mouffe, 1985; 1987)

Laclau (1990) กล่าวว่าการต่อสู้ดิ้นรนทางสังคมในยุคหลังทุนนิยม รัฐสมัยใหม่พยายามปรับตัวเองไปสู่ภาพลักษณ์ที่มีการสร้างประชาธิปไตย แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง รัฐยังคงมีบทบาทชี้นำและควบคุมชีวิตของประชาชน ดังนั้นการนำทฤษฎีมาร์กซิสต์มาใช้วิเคราะห์อย่างทื่อๆอาจมีข้อจำกัดอยู่มาก ความพยายามที่จะรื้อสร้างวิธีคิดแบบมาร์กซิสต์ เริ่มต้นด้วยการทบทวนความย้อนแย้งระหว่าง “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” ที่ปรากฏอยู่ในค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ กับ “แรงงานที่ใช้ในการผลิต” ซึ่งไม่ถูกมองว่าเป็นผู้บริโภค สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นบนระบอบของการแสวงหากำไรและการมองสังคมเป็นวัตถุที่ถูกประเมินเป็นมูลค่าทางการตลาด Laclau and Mouffe (1981) ตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมองบริบทเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่แนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจนิยม” (Economism) กล่าวคือการต่อสู้ทางการเมืองคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและไม่มีเอกภาพ เห็นได้จากลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ขยายตัวไปทั่วโลกและทำให้ชีวิตของประชาชนดำเนินไปตามกฎของการดิ้นรนเพื่อสร้างทรัพย์สินส่วนตัวและความสำเร็จเชิงวัตถุ ข้อสังเกตนี้กลายเป็นฐานคิดของนักวิชาการที่ข้ามพ้นมาร์กซิสต์ (Laclau, 2006)

นักวิชาการสายพ้นมาร์กซิสต์มิได้สนใจกลไกต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยสังคมให้เป็นอิสระจากระบบทุนนิยม ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการพยายามศึกษามิติที่ซับซ้อนของการเคลื่อนไหวทางการเมือง การมองแค่เพียงความสัมพันธ์ทางการผลิตซึ่งมาร์กซิสต์รุ่นเก่ามักจะตอกย้ำเสมออาจเป็นสิ่งที่ผิวเผินต่อการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของสังคมปัจจุบัน นักวิชาการสายพ้นมาร์กซิสต์ไม่ต้องการค้นหาโครงสร้างของสังคม แต่สนใจวิธีการสร้างความหมายของสังคมที่ถูกสร้างขึ้นจากวาทกรรมและบรรทัดฐานต่างๆ Choat and Rekret (2016) กล่าวว่าการพ้นมาร์กซิสต์คือการมองข้ามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อที่จะทำความเข้าใจความเป็นปรปักษ์และความขัดแย้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างชนชั้นที่ไม่เท่ากัน ความขัดแย้งทางสังคมมิใช่เครื่องบ่งชี้ความจริงของสังคมและเป็นผลกระทบที่ทำให้เห็นการดำรงอยู่ของสังคม (Laclau, 2006) ในแง่นี้ “สังคม” จึงมีลักษณะเลื่อนไหล เต็มไปด้วยความไม่ลงรอยและการต่อสู้ (multiverse of struggles) สอดคล้องกับความคิดของ Derrida (1978) ในเรื่อง “ความหลากเลื่อน” (Différance) ซึ่งบ่งบอกถึงความย้อนแย้งของความหมายที่มีทั้งการคล้อยตามและการขัดกัน ความหมายจึงดำรงอยู่แบบไม่คงที่แต่ผันแปรเปลี่ยนไปตามคำและภาษาที่ถูกต่อเติมเข้ามา สิ่งที่อันตรายคือ การทำให้ความหมายดำรงอยู่ในแบบคู่ตรงข้ามที่สร้างความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียม

นอกจากนั้น นักวิชาการสายพ้นมาร์กซิสต์ยังปฎิเสธแนวคิดเรื่อง “กฎแห่งมูลค่า” (law of value) เนื่องจากไม่สามารถอธิบายลักษณะทางความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ของแรงงานซึ่งใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในระบบทุนนิยม Hardt and Negri (2001) อธิบายว่าชีวิตแรงงานไม่ได้ดำรงอยู่ภายใต้ระบบการผลิตและถูกควบคุมในเชิงวัตถุเท่านั้น แต่แรงงานยังมีชีวิตทางจิตวิญญาณและความรู้สึก ประเด็น “แรงงานที่มิใช่วัตถุ” (immaterial labor) จึงมีความสำคัญในการศึกษาสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพชีวิตของแรงงานมิได้ถูกพัฒนาให้เป็นผู้ฉลาดและมีทักษะในวิชาชีพ แต่แรงงานกำลังถูกควบคุมด้วยกลไกตลาดที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพชีวิตของแรงงานจึงมิใช่เรื่องของรายได้ แต่เป็นเรื่องความสามารถที่จะคิดและทำสิ่งต่างๆทางสังคม ในแง่นี้ สังคมทุนนิยมในปัจจุบันจึงเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการควบคุม เพื่อที่จะวิเคราะห์สังคมในสภาวะนี้จำเป็นต้องหันมาศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากกว่าการวิเคราะห์เพียงความขัดแย้งทางชนชั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในความคิดของนักวิชาการสายพ้นมาร์กซิสต์ คือการใช้ความรู้ของผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญเพื่อควบคุมสังคมซึ่งส่งผลให้ประชาชนเชื่อและคิดเห็นคล้อยตามความรู้เหล่านั้น ดังที่ Negri (2008) เรียกว่า “ปัญญาแบบมวลชน” (mass intellectuality)

การศึกษาสังคมในมุมมองแบบพ้นมาร์กซิสต์ มองความสัมพันธ์ทางการผลิตในมิติของการควบคุมทางสังคม ในยุคดิจิทัล รูปแบบการผลิตสินค้าและบริการที่ส่งต่อและถ่ายเทอยู่ในระบบออนไลน์ ทำให้มูลค่าของสิ่งต่างๆไม่สามารถประเมินได้ในเชิงตัวเลข เห็นได้จากการผลิตซ้ำสินค้าและบริการที่คนกลุ่มต่างๆสามารถทำขึ้นได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีบริษัทจัดตั้งเป็นทางการ ในขณะเดียวกันผู้บริโภคสามารถเลือกใช้สินค้าและบริการหลากหลายรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องผลิตมาจากบริษัทขนาดใหญ่ คนธรรมดาสามัญสามารถเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน สภาวะนี้ไม่สามารถจำแนกและแบ่งประเภทได้ว่าใครคือชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานได้อย่างตายตัว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและขยายตัวอยู่ในปัจจุบัน มิใช่โครงสร้างการผลิตแบบเก่า หากแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่คนทุกกลุ่มใช้ความรู้และข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างแรงจูงใจ โน้มน้าวให้เชื่อและสร้างความแตกต่าง ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อนดังกล่าวจะเห็นความขัดแย้งในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา เพศสภาพ เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และระดับการศึกษา โดยที่คนต่างกลุ่มล้วนสร้างคำอธิบายภายใต้วาทกรรมและชุดความรู้ที่ไม่มีใครยอมใคร เนื่องจากไม่มีความรู้ใดที่กลายเป็นความรู้ที่ครอบงำสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังที่ Lyotard (1984) เคยชี้ว่าวาทกรรมกระแสหลักกำลังถูกท้าทายและเสื่อมความชอบธรรมลงไป


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Althusser, L. (1969). For Marx, Ben Brewster (trans.). London & New York: Verson.

Boron, A. (2000). Embattled Legacy “Post-Marxism” and the Social and Political Theory of Karl Marx. Latin American Perspectives, 113(27/4), 49-79.

Burris, V. (1980). Class Formation and Transformation in Advanced Capitalist Societies: A Comparative Analysis. Social Praxis, 7, 147-179.

Burris, V. (1987). The Neo-Marxist Synthesis of Marx and Weber on Class. In Norbert Wiley, (ed.). The Marx-Weber Debate. (pp.67-90). Newbury Park, CA: Sage Publications.

Choat, S. & Rekret, P. (2016). From Political Topographies to Political Logics: Post-Marxism and Historicity. Constellations, 23(2), 281–91.

Clammer, J. (1985). Marxism and Anthropology: Reflections and Questions. In: Anthropology and Political Economy. (pp 73–85). Palgrave Macmillan, London

Derrida, J. (1978). Writing and Difference. Trans. A. Bass. London & New York: Routledge.

Geertz, C. (1973). The interpretation of cultures: Selected essays. New York: Basic.

Giddens, A. (1981). A Contemporary Critique of Historical Materialism. Berkeley: University of California Press.

Hardt, M. & Negri, A. (2001) Empire. Cambridge, MA: Harvard University Press.

Keršye, N. (2017). Rethinking ideology: Greimas’s semiotics, neomarxism, and cultural anthropology. Semiotica, 219, 485–509.

Laclau, E. (1990). New Reflections on the Revolution of Our Time. London: Verso.

Laclau, E. (2006). Ideology and post-Marxism. Journal of Political Ideologies,11(2), 102–14.

Laclau, E. & Mouffe, C. (1981). Socialist Strategy – Where Next?’ Marxism Today, January, 17– 22.

Laclau, E. & Mouffe, C. (1985). Hegemony and Socialist Strategy: Towards a Radical Democratic Politics. London: Verso.

Laclau, E. & Mouffe, C. (1987) Post-Marxism without apologies. New Left Review 166 (November-December).

Lyotard, J. F. (1984). The Postmodern Condition. A Report on Knowledge. Tr. Geoff Bennington and Brian Massumi. Manchester: Manchester University Press.

Negri, A. (2008). Reflections on Empire.Tr. Ed Emery. London: Polity

Przeworski, A. (1977). Proletariat into a Class: The Process of Class Formation from Karl Kautsky’s The Class Struggle to Recent Controversies. Politics and Society, 7, 343- 401.

Rappa, A.L. (2022). A Neo-Marxist Anthropology of Urban Workers and Peasant Farmers in Thailand. BOHR International Journal of Business Ethics and Corporate Governance, 1(1), 57-66.

Thompson, E. P. (1964). The Making of the English Working Class. Harmondsworth: Penguin Books. Veblen, T. (1899). The Theory of the Leisure Class. New York: Macmillan.

Wright, E.O. (1985). Classes. London: New Left Books.


หัวเรื่องอิสระ: มาร์กซิสต์, อุดมการณ์, อำนาจ, ทุนนิยม, ชนชั้น, ความเหลื่อมล้ำ