ทบทวนวิธีการสร้างความรู้ / ความจริงเรื่องเพศ
15 มิ.ย. 2015 โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษทำไมต้องทบทวนวิธีการสร้างความรู้ / ความจริงเรื่องเพศ
สิ่งหนึ่งที่นักมานุษยวิทยามักจะให้ความสนใจก็คือ การอธิบายบริบททางวัฒนธรรมของแต่ละสังคมเพื่อที่จะเข้าใจการให้ความหมายต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ในวัฒนธรรมนั้น ซึ่งเรื่องเพศก็เป็นมิติหนึ่งของวัฒนธรรม ดังนั้นการทำความเข้าใจวิธีคิดต่อเรื่องเพศจึงเป็นประตูบานแรกที่จะทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ใช้ “เพศ” เป็นเครื่องมือจัดระเบียบทางสังคม แต่วิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศถูกอธิบายด้วยแนวคิดทฤษฎีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ “กระบวนทัศน์” (Paradigm) ของผู้ศึกษาว่าจะมองเรื่องเพศในมิติใด หากย้อนมองดูประวัติศาสตร์ของการศึกษาเรื่องเพศก็จะพบว่ามีนักวิชาการหลายสำนักออกมาเสนอแนวคิดทฤษฎีต่างๆเกี่ยวกับเรื่องเพศ และแต่ละสำนักก็โต้แย้งกันด้วยแง่มุมที่หลากหลาย บางครั้งมีความคิดไปในแนวเดียวกัน แต่บางครั้งก็มีข้อวิจารณ์ซึ่งกันและกัน (Stephen Garton 2004)
บทความนี้จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องสำรวจแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยการย้อนมองไปในแวดวงวิชาการตะวันตกที่เริ่มสนใจประเด็นเรื่องเพศมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิทยาศาสตร์กำลังมีอำนาจทางสังคม การสำรวจในที่นี้จะย้อนกลับไปมองช่วงเวลานั้นโดยอาศัยมุมมองทางมานุษยวิทยาเพื่อทำความเข้าใจ “ชีวิตทางเพศ” ของมนุษย์ หรือมองเรื่องเพศในมิติทางวัฒนธรรม ผู้อ่านจะเข้าใจว่ามิติทางวัฒนธรรมของเรื่องเพศนั้นคืออะไร และเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างไร คำถามที่ผู้คนมักจะถามกันบ่อยๆ ก็คือเรื่องเพศเป็นเรื่องของธรรมชาติ หรือเป็นเรื่องทางสังคมวัฒนธรรม และคำตอบที่ได้รับก็มักจะเป็นการแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มซึ่งถกเถียงกันด้วยแนวคิดทฤษฎีที่ต่างกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อเรื่องธรรมชาติ ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นพวกเชื่อความจริงแท้ (Essentialist) กับนักสังคมศาสตร์ที่เชื่อเรื่องสังคมวัฒนธรรม ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นพวกเชื่อการผลิตสร้างทางสังคม (Social Constructionist) สำหรับในบทนี้ ต้องการจะทำความเข้าใจว่ากรอบแนวคิดทฤษฎีที่ต่างกันนั้นส่งผลต่อการอธิบายเรื่องเพศต่างกันอย่างไรบ้าง และเราจะใช้แนวคิดทฤษฎีเหล่านั้นมาอธิบายปรากฎการณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศของมนุษย์ในมิติใด
เรามักจะนึกถึงอะไรบ้างเมื่อเอ่ยถึงมิติทางวัฒนธรรมของเรื่องเพศ และวัฒนธรรมมีความสำคัญอย่างไร นักมานุษยวิทยาจะอธิบายว่าวัฒนธรรมมีส่วนหล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรม ค่านิยม และความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศ เรามักจะได้ยินคำว่า “ขนบธรรมเนียมทางเพศ” (Sexual Custom) ซึ่งหมายถึงข้อกำหนดทางสังคมที่บ่งชี้ว่าอะไรคือสิ่งที่ “ควร” และ “ไม่ควร” ปฏิบัติในเรื่องเพศ เช่น ผู้หญิงต้องรักษาพรหมจารีก่อนการแต่งงาน เป็นต้น ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีขนบธรรมเนียมทางเพศที่แตกต่างกัน จึงทำให้ความเชื่อและค่านิยมทางเพศของมนุษย์ในแต่ละสังคมมีความหลากหลาย และเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าค่านิยมไหนดีกว่ากัน สิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำได้คือ การชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีผลต่อการแสดงออกทางเพศของมนุษย์ ประเด็นนี้คือสิ่งท้าทาย เพราะทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยว่าแนวคิดทฤษฎีเรื่องเพศจากตะวันตกสามารถนำไปอธิบายเรื่องเพศในสังคมอื่นๆได้จริงหรือไม่
ผู้อ่านจะเกิดความเข้าใจว่าพฤติกรรม ค่านิยม และความเชื่อเรื่องเพศในแต่ละสังคมมีส่วนกำหนดให้มนุษย์แสดงออกถึงตัวตน อัตลักษณ์ และปฏิบัติการต่อเรื่องเพศในแบบที่ต่างกัน (Carole S. Vance: 2005,22) มิติทางวัฒนธรรมที่อธิบายเรื่องเพศยังทำให้เห็นสิ่งสองสิ่งที่ต่างกันระหว่างสิ่งที่เป็น “พฤติกรรม” (Behaviors) หรือ การปฏิบัติทางเพศ (Sexual Activities) กับสิ่งที่เป็น “อัตลักษณ์” (Sexual Identities) และการแสดงบทบาททางเพศ หรือ เพศสภาพ (Gender) ทั้งสองส่วนนี้จะเห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันและส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเพศสรีระ (Biological Sex) เช่น การร่วมรัก การสมสู่ การเสพสังวาสเป็นเรื่องของการกระทำ ส่วนการแสดงตัวตนเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือ “กะเทย” เป็นเรื่องของเพศสภาพที่สังคมกำหนดหรือสร้างนิยามเอาไว้ แต่เรื่องเพศยังมีมิติที่สามคือมิติเชิงนามธรรม หรือเป็นเรื่องของจิตใจและความคิด มิตินี้รู้จักในนาม “เพศวิถี” หรือ Sexuality หมายถึงอารมณ์ความปรารถนา และความรู้สึกที่อยากมีความรักและเพศสัมพันธ์ บางครั้งเกี่ยวข้องกับรสนิยมและอุดมการณ์เรื่องเพศ ถ้าความปรารถนาทางเพศเกิดขึ้นกับคนเพศเดียวกันจะถูกเรียกว่า Homosexuality (ความรักเพศเดียวกัน) ถ้าเกิดขึ้นกับคนต่างเพศจะถูกเรียกว่า Heterosexuality (ความรักต่างเพศ) และถ้าเกิดขึ้นทั้งคนเพศเดียวกันและต่างเพศจะถูกเรียกว่า Bisexuality (ความรักสองเพศ)
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ามิติทางเพศทั้งสามส่วนนี้มีผลต่อความเข้าใจเรื่องเพศของมนุษย์ (Jennifer Robertson: 2005, 2 ) เพราะเรื่องเพศเกี่ยวโยงทั้งเรื่องชีววิทยา เช่น เราจะบอกว่าคนนั้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เรามักจะตัดสินจากอวัยวะเพศของคนๆนั้นเป็นหลัก เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมและวัฒนธรรม เช่น การแสดงบทบาทผู้ชายจะต้องเข้มแข็ง อดทน เป็นผู้นำ ผู้หญิงจะต้องเรียบร้อยอ่อนหวานนุ่มนวล เป็นต้น เรื่องเพศจึงเป็นพรมแดนที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมมาบรรจบกัน แต่ธรรมชาติทางเพศในตัวมนุษย์ ได้แก่ ฮอร์โมน อวัยวะ สรีระ ระบบประสาท ยีนส์และพันธุกรรม มิได้ถูกปลดปล่อยอย่างอิสระ แต่ถูกควบคุมและให้ความหมายผ่านค่านิยม พิธีกรรม ครอบครัว ระบบเครือญาติ และสถาบันทางสังคม (Jeffrey Weeks: 2003,21) สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นในวิธีคิดที่มีต่อการปฏิบัติทางเพศ เพศสภาพ และเพศวิถี ซึ่งเป็นสามส่วนที่หล่อหลอมให้มนุษย์ดำเนินชีวิตทางเพศตามค่านิยมที่สังคมกำหนดไว้ หรือท้าทาย / ขัดขืนค่านิยมเหล่านั้น
นอกจากจะอธิบายให้เข้าใจว่าทั้งพรมแดนธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ และยังมีการตอบโต้และปะทะสังสรรค์กันตลอดเวลาแล้ว ในบทนี้ยังจะชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ในแต่ละสังคมล้วนมีการจัดระเบียบเรื่องราวทางเพศไว้ภายใต้อุดมการณ์และความเชื่อบางอย่าง แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาความรู้และทฤษฎีเรื่องเพศจากสังคมตะวันตกได้แผ่ขยายครอบคลุมและมีอิทธิพลเหนือสังคมอื่นๆ จนทำให้กลายเป็นความคิด / ความรู้กระแสหลักที่บดบังความคิด / ความรู้เรื่องเพศของท้องถิ่น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เรา ต้องตรวจสอบและทบทวนแนวคิดทฤษฎีเหล่านั้น เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าแนวคิดทฤษฎีของตะวันตกคือผลผลิตทางวัฒนธรรมซึ่งเกิดจากค่านิยมและความเชื่อซึ่งอาจมีความลำเอียง หรือ “อคติ” เมื่อนำไปอธิบายการแสดงออกทางเพศของมนุษย์ในวัฒนธรรมอื่นๆ
ลักษณะสำคัญของแนวคิดทฤษฎีเรื่องเพศในสังคมตะวันตก
1 อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ ภายใต้ความรู้ “เพศศึกษา” (Sexology)
เราอาจสงสัยว่าวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายเรื่องเพศอย่างไร และวิทยาศาสตร์ส่งผลต่อความเข้าใจเรื่องเพศของเราในกรณีใดบ้าง ในที่นี้จะชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการอธิบายเรื่องเพศใน 3 กรณีคือ 1 อธิบายว่าเพศของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาตามธรรมชาติ 2 เพศของมนุษย์จะถูกแบ่งแยก ถูกจัดประเภท และถูกจัดลำดับชั้นสูงต่ำ และ 3 เพศเป็นสิ่งสากล มีความคงที่และมีเอกภาพ ทั้งสามกรณีนี้ส่งผลต่อความเข้าใจเรื่องเพศในวงกว้างภายใต้ศาสตร์ที่เรียกว่า “เพศศึกษา” (Sexology) ที่สนใจสภาพพยาธิวิทยาทางเพศ (Sexual Pathology) หรืออาการผิดปกติในร่างกายและการหาทางเยียวยารักษา ศาสตร์แขนงนี้มีอิทธิพลอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิชาการบางคนเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นยุคของการรู้แจ้งในเรื่องเพศ หรือ Sexual Enlightenment (Garton: 2004,165) ช่วงเวลานี้สะท้อนบริบททางสังคมของตะวันตกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลความคิดของระบบทุนนิยม การเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย การเติบโตของเมือง การย้ายถิ่นของแรงงาน และค่านิยมแบบชนชั้นกลาง (Greenberg 1988) เราจะมาทำความเข้าใจในแต่ละกรณีดังต่อไปนี้
1.1 เพศของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาตามธรรมชาติ
เมื่อย้อนมองกลับไปในช่วงคริสต์ศควรรษที่ 18 (หรือยุค Enlightenment) จนถึงสมัยวิคตอเรียหรือช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 (Robert A. Nye: 1999,115) ซึ่งการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จะตกอยู่ใต้วิธีการวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) เป็นช่วงเวลาบ่มเพาะและเป็นจุดเปลี่ยนของการศึกษาเรื่องเพศที่สำคัญ (Francis Mark Mondimore: 1996,21) ในช่วงเวลานั้นวงวิชาการในโลกตะวันตกได้รับอิทธิพลความคิดและกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medicalization) ซึ่งเข้าไปแทรกซึมการอธิบายปัญหาสังคมหลายเรื่อง เช่น การทำแท้ง การข่มขืน การคุมกำเนิด การสำเร็จความใคร่ ปัญหาโสเภณี และกามโรค เป็นความพยายามที่จะควบคุมสังคมและสร้างศีลธรรมโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานในการชี้วัด (David F. Greenberg: 1988,403 และ Stephen Garton: 2004,114) เมื่อนักวิทยาศาสตร์เข้ามาในพรมแดนเรื่องเพศทำให้การอธิบาย “พฤติกรรมทางเพศ” จะอยู่ภายใต้ทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์ หรือ Behavioral Science เป็นการชี้วัดด้วยเรื่องราวทาง “วัตถุ” เรื่องเพศกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น อวัยวะเพศ ระบบประสาท ขนาดสมอง และฮอร์โมน การอธิบายในแนวนี้รู้จักในนาม “วิทยาศาสตร์แห่งเพศ” หรือ Science of Sex (Weeks: 2003, 42)
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องเพศจะได้รับฉายาว่า “นักเพศศึกษา” (Sexologist) โดยมีวิชาที่เกี่ยวข้องหลายแขนง ได้แก่ ชีววิทยา จิตเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ ประสาทวิทยา เป็นต้น วิชาเพศศึกษาจึงเป็นผลผลิตของยุค Modernism ซึ่งมองว่า “เพศ” ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ (William Siomon: 2003,22) พฤติกรรมทางเพศที่ถูกมองว่าเป็น “ผิดปกติ” (Perversion) จะได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ โดยเฉพาะคนที่มีจิตใจเป็นเพศตรงข้าม และคนรักเพศเดียวกัน (Mondimore: 1996, 27) บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการอธิบายเรื่องพฤติกรรมทางเพศในยุคแรกเป็นชาวเยอรมัน ได้แก่ คาร์ล เฮนริค อุลริชส์ ซึ่งเป็นคนแรกที่อธิบายว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเรียกผู้ชายที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ว่า Urnings และผู้ชายที่มีพฤติกรรมรักต่างเพศจะถูกเรียกว่า Dioning ((Mondimore: 1996, 29) อุลริส์เป็นคนแรกที่มีการอธิบายถึง “เพศวิถี” ของมนุษย์ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ (Rita Felski: 1994,4) ในทำนองเดียวกัน เฮฟล็อค เอลิส(1897)เชื่อว่าความรู้สึกรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยตัวอ่อนในครรภ์เกิดสภาวะสลับขั้วทางเพศ นอกจากนั้น แม็กนุส เฮิร์ชเฟลด์ ผู้ก่อตั้งสถาบัน Institute for Sexology ในปี ค.ศ.1919 และเป็นผู้บัญญัติศัพท์ Tranvestism เพื่ออธิบายว่าพฤติกรรมของคนที่ชอบแต่งตัวข้ามเพศ (cross-dressing) ก็เชื่อว่าความรู้สึกรักเพศเดียวมีเหตุปัจจัยมาจากชีววิทยา ทั้งอุลริชส์, เอลิส และเฮิร์ชเฟลด์ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบุคลที่รักเพศเดียวกัน จะเห็นว่าความรู้วิทยาศาสตร์จะถูกใช้เชิงการเมืองเพื่อที่จะปลดปล่อยและเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเบี่ยงเบนทางเพศ (Garton: 2004, 181)
ต่อมาในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศก็ยังคงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การวิจัยเรื่องเพศที่สำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1982 มีการบ่งชี้ว่าสมองของเพศชายตรงส่วนที่เรียกว่า Corpus Callosum และ Hypothalamus มีขนาดเล็กกว่าเพศหญิง รวมทั้งระบุว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันจะมีขนาดของไฮโปธาลามัสที่เล็กกว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมรักต่างเพศ และในปี ค.ศ.1991 มีการวิจัยของไซม่อน เลอเวย์ที่ระบุว่าขนาดของเซลสมองที่เรียกว่า INAH 2-3 คือตัวกำหนดอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ หรือเพศวิถีของมนุษย์ จากการวิจัยเหล่านี้ทำให้เกิดข้อสรุปที่ว่าความเป็นชาย ความเป็นหญิง และการแสดงออกกถึงเพศวิถีถูกกำหนดขึ้นจากขนาดของสมอง (Bonnie Spanier: 2005,34)
อย่างไรก็ตาม เราอาจมีข้อสงสัยว่าการวิจัยนี้เชื่อถือได้หรือไม่ เราอาจดูได้จากข้อถกเถียงในหมู่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งออกมาโต้แย้งการค้นพบดังกล่าว เช่น มีการตั้งข้อสังเกตว่าการทดลองกับกลุ่มประชากรที่น้อยเกินไปไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพฤติกรรมทางเพศจะถูกกำหนดมาจากขนาดของสมองหรือฮอร์โมน เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมทางเพศ นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ออกมาอธิบายว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งฮอร์โมนเพศชายและหญิงอยู่ในตัว ดังนั้นฮอร์โมนหรือสมองจึงมิใช่สิ่งที่กำหนดการแสดงพฤติกรรมทางเพศ (Spanier: 2005,36)
1.2 เพศของมนุษย์จะถูกแบ่งแยก ถูกจัดประเภท และถูกจัดลำดับชั้นสูงต่ำ
การอธิบายอธิบายเรื่องเพศด้วย “เพศศึกษา” เป็นการอธิบาย “พัฒนาการ” ของเพศสรีระ และ ความสัมพันธ์ทางเพศ (Sexual Relations) ซึ่งเน้นการทำความเข้าใจเรื่องเซ็กส์หรือเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ (Sexual Intercourse) การอธิบายในเชิง “พัฒนาการ” นี้จึงทำให้เพศของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัยตั้งแรกแรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ และสร้างความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง ทั้งสองเพศนี้จะมีต้นกำเนิดและพัฒนาการที่แตกต่างกัน (Garton: 2004,96) เช่น นักชีววิทยาและนักกายวิภาคในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จะอธิบายความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงโดยแยกให้เห็นว่าระบบกล้ามเนื้อ (Musculature) คือที่มาของความเป็นเพศชาย และระบบประสาท (Nervous System) เป็นที่มาของเพศหญิง นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโครงสร้างร่างกายของชายและหญิงมีความเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ชายหญิงต่างกันคือระดับอุณหภูมิและความชื้นในร่างกาย ความแตกต่างทางกายภาพหรือเพศสรีระจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างความแตกต่างทางเพศ
เราอาจเข้าใจว่าเพศชายต่างจากเพศหญิง หรือเพศชายแข็งแรงกว่าเพศหญิง แต่ความเข้าใจนั้นมาจากความรู้ทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้นำความรู้ทางชีววิทยามาตัดสินเรื่อง “เพศ” (Biological Determinism) (Bonnie Spanier: 2005, p.33) และนำไปสู่การอธิบายความแตกต่างทางเพศเชิงสรีระของเพศชายและเพศหญิง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความเป็นชายและหญิงจะตัดสินจากอวัยวะเพศเป็นสำคัญ (Weeks: 2003,41) นอกจากนั้นยังอธิบายเกี่ยวกับ “สัญชาติญาณทางเพศ” (Sexual Instinct) ที่เชื่อว่าเป็นแรงขับตามธรรมชาติที่ส่งผลให้เพศชายมีบุคลิกลักษณะและการแสดงออกทางอารมณ์ต่างไปจากเพศหญิง รวมไปถึงการอธิบายว่าเพศชายแข็งแรง ดุดัน มีพลัง มีความต้องการทางเพศ ส่วนเพศหญิงอ่อนแอ อ่อนไหว เชื่องช้า ชอบแสดงอารมณ์ และเป็นเพศที่บริสุทธิ์ (Jeffrey Weeks, Janet Holland and Matthew Waites: 2003,2) คำอธิบายนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกอย่างถาวรซึ่งเชื่อว่าเป็น “ความจริง” ที่ธรรมชาติสร้างไว้แล้ว ((Wendy Cealey Harrison and John Hood-Williams: 2002,19) ส่งผลให้สังคมพยายามแบ่งแยกพื้นที่ทางสังคมของชายและหญิงออกจากกัน มีการสั่งสอนคุณสมบัติและมารยาททางสังคมให้กับชายและหญิง เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกขั้วที่ต่างกันสองด้านอย่างชัดเจน (Garton: 2004,116) ตัวอย่างเช่น ในสมัยวิคตอเรียขององักฤษ (ค.ศ.1837-1901) ผู้ชายและผู้หญิงจะถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆมากมาย ทั้งมิติศีลธรรม ครอบครัว กฎหมาย และศาสนา(Garton: 2004,101)
ความเชื่อเหล่านั้นทำให้เกิดการจัดลำดับชั้นที่วางเพศชายอยู่เหนือกว่าเพศหญิง คำอธิบายนี้ช่วยสนับสนุนนักคิดแนวเผ่าพันธุ์นิยม (Racism) และเพศนิยม (Sexism) ซึ่งต้องการตอกย้ำว่าผู้ชายและคนผิวขาวเป็นเผ่าพันธุ์ที่ดีที่สุด “เพศ” ของมนุษย์จึงถูกวิทยาศาสตร์บ่งชี้และตรวจวัดเช่นเดียวกับวัตถุที่ถูกทดลองในห้องวิทยาศาสตร์ จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์พยายามจัดประเภท “เพศ” ตามสรีระ (Physiological Law) (Weeks: 2003,43) ถ้าบุคคลไม่แสดงบทบาทตามเพศสรีระก็จะถูกตีตราว่าเป็น “พวกเบี่ยงเบน” หรือ Perverse ผลที่ตามมาคือมนุษย์จะถูกจัดออกเป็นสองประเภทระหว่าง “มนุษย์ปกติ” ที่มีสภาพจิตตรงกับเพศตามธรรมชาติซึ่งเป็น “รักต่างเพศ” (Heterosexual) และมนุษย์ที่มีสภาพ “จิตผิดปกติ” และแปลกแยกไปจากเพศตามธรรมชาติซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “รักเพศเดียวกัน” (Homosexual) เช่นการศึกษาของริชาร์ด ฟอน คราฟท์-เอบิง ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Psychopathia Sexualis (1886) อธิบายถึงพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ (Sexual Perversity) และสร้างทฤษฎี Degeneracy Theory ที่อธิบายว่าการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ เช่น การมีความสุขจากการทรมานผู้อื่นในการมีเพศสัมพันธ์ (Sadism) การมีความสุขเมื่อได้รับความเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์(Masochism) การมีความสุขทางเพศโดยผ่านการใช้วัตถุสิ่งของ (Sexual Fetishism) การมีความสุขทางเพศกับเด็ก (Paedophilia) รวมทั้งความสุขทางเพศกับการชอบเพศเดียวกัน พฤติกรรมเหล่านี้ถูกอธิบายว่าเป็นผลมาจากระบบประสาทที่ผิดปกติ (Paraesthesia) (Rita Felski: 1994,1) การศึกษาของ แอนน์ ฟาอุสโต-สเตอร์ลิง (1993) ซึ่งอาศัยความรู้ทางชีววิทยาได้แบ่งแยกเพศของมนุษย์เป็น 5 แบบ คือ เพศชาย เพศหญิง เพศกะเทยแท้ (herm) เพศกะเทยเทียมชาย( merm) เพศกะเทยเทียมหญิง (ferm) (Anne Fausto-Stering: 2002,78)ในทางการแพทย์ บุคคลที่เกิดมามีเพศกะเทยทั้งหลายจัดอยู่ในกลุ่ม Intersexuality หรือคนที่มีเพศผสมตั้งแต่กำเนิด (Fausto-Stering: 2002, 469)
การแบ่งแยกเพศในลักษณะนี้ ทำให้เกิดการสถาปนาความจริงเกี่ยวกับเพศสภาพ (Gender) และเพศวิถี (Sexuality) (Harrison and Hood-Williams: 2002,19) อย่างไรก็ตาม ความรู้เกี่ยวกับการแบ่งแยก การจัดประเภท และการจัดลำดับเพศของมนุษย์ ได้กลายเป็นความรู้ที่กระแสหลักที่ครอบงำสังคม เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจริงในธรรมชาติ เห็นได้จาก งานวิจัยของอัลเฟร็ด คินซีย์ (1948, 1953) ซึ่งอธิบายว่าพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์มีลำดับของการเปลี่ยนแปลงจากสภาพคนรักต่างเพศไปสู่สภาพของคนรักเพศเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน (Garton: 2004, 204) แต่การศึกษาของคินซีย์ก็มีข้อจำกัดเพราะศึกษาเฉพาะกลุ่มนักโทษ และกลุ่มเกย์ รวมทั้งวิธีคิดของการจัดประเภทที่วางระนาบความเข้มข้นจากรักต่างเพศไปสู่รักเพศเดียวกัน ก็เป็นวิธีคิดที่เชื่อในมาตรฐานของการตรวจวัดแบบคณิศาสตร์ (William Simon: 2003,23)
1.3 เพศเป็นสิ่งสากล มีความคงที่และมีเอกภาพ
เราอาจสงสัยว่าเพศของเราถูกกำหนดไว้แล้วและเปลี่ยนแปลงไม่ได้จริงหรือ ข้อสงสัยนี้ถูกทำให้ “เป็นจริง” ขึ้นโดยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำความคิดเรื่องสากล (Universal) ความคงที่และเอกภาพมาตอบข้อสงสัยในเรื่องเพศ (Nye: 1999, 5) ผลที่ตามมาก็คือ ความรู้วิทยาศาสตร์สถาปนาตัวเองเป็นศาสตร์ที่อยู่เหนือความรู้อื่นๆ เพราะอ้างว่ามี “มาตรฐาน” (Normative Science) ตรวจสอบได้ และเป็นกลาง (Greenberg: 1988,403) นำไปสู่การอธิบายว่าเรื่องเพศเป็น “แรงขับ” ตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์กลุ่มใดก็ต้องมีแรงขับนี้ เหมือนกับความรู้สึกหิวอาหาร (Jeffrey Weeks: 1981,1) ความคิดนี้เชื่อในเรื่อง “กฎธรรมชาติ” ซึ่งผลพวงของยุค Enlightenment เป็นความคิดที่มีอิทธิพลต่อนักคิดหลายคนไม่ว่าจะเป็นออสกัสต์ คอมต์, แม็กซ์ เวเบอร์ และ อีมิล เดอร์ไคม์ซึ่งพยายามทำเข้าความใจสังคม และนำความคิดเรื่อง “กฎ” มาอธิบายว่าสังคมมีกฎเหมือนธรรมชาติ นักคิดเหล่านี้เชื่อว่าเพศชายมีแรงขับและมีพลังตามธรรมชาติเหนือกว่าเพศหญิง และเชื่อว่าธรรมชาติเป็นตัวสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้กับเพศ (Weeks, Holland and Waites: 2003,2) ด้วยเหตุนี้วิทยาศาสตร์จึงสร้างความจริงเรื่อง “กฎเกณฑ์” ที่ธรรมชาติสร้างให้กับสรรพสิ่งต่างๆ เราจึงคิดว่าเพศของมนุษย์ก็มีกฎเกณฑ์ที่เป็นสากล
นอกจากนั้นยังกำหนดมาตรฐานว่าเพศที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร เพศที่ถูกต้องนี้จะต้องมีความคงที่ในการแสดงออกในด้านอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และการกระทำต่างๆ ถ้าบุคคลแสดงออกไม่ถูกต้องตามเพศจะถูกกล่าวหาว่า “จิตผิดปกติ” (abnormal) หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย จำเป็นต้องได้รับการเยียวยารักษา เช่นบุคคลที่เป็นกะเทย เช่น ความคิดของคราฟท์-เอบิง ที่เชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณทางเพศตามธรรมชาติ 2 แบบ คือ แบบเพศชายและเพศหญิง ถ้าบุคคลแสดงความชอบต่อเพศเดียวกันจะถือว่าผิดธรรมชาติ (Merl Storr: 1998, 19) อาจกล่าวได้ว่า ความรู้วิทยาศาสตร์ทำให้เรามองเห็นเรื่องเพศมีพัฒนาเป็นเส้นตรง มีลำดับขั้นชัดเจนราวกับธรรมชาติกำหนดไว้อย่างนั้นแล้ว ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ในสังคมไหนก็จะมีพัฒนาการเหมือนกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตนี้ก็ถูกวิพาก์วิจารณ์จากนักคิดหลายกลุ่มซึ่งจะกล่าวในลำดับต่อไป
2 อิทธิพลของจิตเวชศาสตร์
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังคมตะวันตกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในเมืองของแรงงานจำนวนมาก เมืองจึงขยายตัวมากขึ้นและกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของโสเภณี มิจฉาชีพ อาชญากร และขอทาน บุคคลเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสังคมที่รัฐพยายามเข้าไปจัดการโดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมกับความรู้ทางจิตเวชศาสตร์ที่ต้องการจัดระเบียบและรักษาให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนดีมีศีลธรรม นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่าวิชาจิตเวชศาสตร์วางอยู่บนความรู้ชีววิทยาทางจิต หรือ Psychobiology ซึ่งทำให้จิตเวชศาสตร์ช่วยต่อยอดความรู้ของเพศศึกษา กล่าวคือ มีการนำเอาเรื่องอารมณ์ทางเพศไปผนวกรวมเข้ากับเรื่องชีววิทยาทำให้เกิดการอธิบายเพศวิถีในทางจิตเกิดขึ้น (Psychosexuality) อิทธิพลของจิตเวชศาสตร์ต่อการอธิบายเรื่องเพศแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1 การแสดงออกทางเพศเป็นผลมาจากประสบการณ์ชีวิตในอดีต และ 2 พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศบ่งบอกอาการป่วยทางจิต
1 การแสดงออกทางเพศเป็นผลมาจากประสบการณ์ชีวิตในอดีต
ในสังคมอุตสาหกรรมที่มนุษย์เผชิญปัญหามากมาย การแสดงออกทางเพศที่ผิดแปลกไปจากบรรทัดฐานทางสังคมจะถูกมองว่าเป็นปัญหา ข้อสังเกตแรกๆที่พยายามโยงพฤติกรรมทางเพศเข้ากับปัญหาทางจิตมาจากนักเพศศึกษาชาวเยอรมัน ชื่อริชาร์ด ฟอน คราฟท์-อีบิง เขาชี้ว่ามนุษย์ที่มีพฤติกรรมทางเพศผิดปกติมีสาเหตุมาจากอาการป่วยทางจิต (Garton: 2004, 179) คราฟท์-เอบิงอธิบายให้เห็นว่าความรู้สึกทางเพศมีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบประสาทในเซลล์สมอง ถ้าระบบประสาททำงานผิดปกติก็จะส่งผลต่อการแสดงออกทางเพศที่ผิดปกติ
บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการอธิบายปัญหาเหล่านี้ คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ผู้ซึ่งทำให้เรื่องเพศกลายเป็นอาการป่วยทางจิต (Psychopathology) ในหนังสือ Three Essays on the Theory of Sexuality (1905) ฟรอยด์อธิบายถึงความเบี่ยงเบนทางเพศของมนุษย์ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมทางเพศในวัยทารกและวัยเด็ก เมื่อบุคคลเติบโตจนถึงวัยรุ่น พฤติกรรมทางเพศจะเปลี่ยนแปลงไป วิธีการที่ฟรอยด์ใช้เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเพศในตัวมนุษย์ คือ วิธีการซักประวัติ หรือ Talking Cure (Garton: 2004, 174) ซึ่งเป็นวิธีการพูดคุยกับคนไข้เพื่อให้เขาเล่าประสบการณ์ทางวัยในอดีตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ จากการซักถามนี้จะทำให้ฟรอยด์เข้าใจ “ปมทางจิต” ที่แอบแฝงอยู่ในคนๆนั้น และส่งผลให้เขาแสดงพฤติกรรมทางเพศในชีวิตประจำวัน ตามทัศนะของจิตแพทย์เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวนี้เป็นวิธีการเยียวยารักษาคนไข้ที่มีอาการป่วยทางจิต หรือมีปัญหาเกี่ยวกับความสับสนทางเพศ บุคคลที่กลายเป็นเป้าหมายของการเยียวยารักษา ได้แก่ คนที่เบี่ยงเบนทางเพศ อาชญากร คนที่ชอบสำเร็จความใคร่ โฮโมเซ็กช่วล เป็นต้น
ในความคิดของฟรอยด์ เชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วล คือพฤติกรรมทางเพศที่สลับขั้ว (Inverts) (Robert A. Nye: 1999,185) ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ทางเพศในวัยเด็ก เด็กบางคนอาจมีระบบประสาทที่ทำงานผิดปกติซึ่งทำให้แสวงหาความพึงพอใจทางเพศแบบแปลกๆ ความรู้สึกชอบเพศเดียวกันจึงเป็นทางเลือกในการแสวงหาความสุขทางเพศของคนบางคน ฟรอยด์เชื่อว่าทุกๆคนมีทั้งความรู้สึกชอบเพศเดียวกันและชอบคนต่างเพศ แต่คนๆนั้นจะเลือกในสิ่งที่ตนเองปรารถนาซึ่งเกิดมาจากสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ในประเด็นนี้ฟรอยด์อธิบายว่าเมื่อระบบประสาทกดทับความต้องการตามสัญชาตญาณ คนๆนั้นก็จะแสดงพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ วัยเด็กจึงเป็นช่วงเวลาที่หล่อแหลมต่อการแสดงความเบี่ยงเบนทางเพศ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อฟรอยด์ คือ เฮฟล็อค เอลิส ซึ่งเป็นแพทย์ที่อธิบายความผิดปกติทางเพศโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปรากฎอยู่ในหนังสือเรื่อง Sexual Inversion (1897) ในหนังสือเล่มนี้ เอลิสได้อธิบายเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน รวมถึงอธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับ Autoeroticism (การช่วยตัวเองให้มีความสุขทางเพศ หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง) และ Narcissism (ความสุขในการลุ่มหลงตัวเอง) ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของฟรอยด์เป็นอย่างมาก เห็นได้จากงานเขียนเรื่อง On Narcissism (1914) ซึ่งฟรอยด์อธิบายว่าการหลงตัวเองเป็นขั้นตอนหนึ่งในพัฒนาการทางเพศของมนุษย์ การหลงตัวเองเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง “ตัวตน” ภายในกับ “วัตถุ” ที่อยู่ภายนอก ข้อสังเกตนี้ทำให้ฟรอยด์สร้างทฤษฎีคู่ตรงข้ามระหว่างสิ่งที่อยู่ข้างใน (นามธรรม) กับสิ่งที่อยู่ภายนอก (รูปธรรม) ฟรอยด์สนใจสิ่งที่อยู่ภายในซึ่งเป็น “ตัวตน” ของมนุษย์ ตัวตนนี้มีความสำคัญมากเพราะทำให้บุคคลรู้ว่าตนเองเป็นใคร ฟรอยด์อธิบายว่าการหลงตัวเองมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนและทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะรักบางสื่งบางอย่าง การเริ่มที่จะหลงรักตัวเองคือขั้นตอนในพัฒนาการทางเพศ ซึ่งถ้ามีมากเกินไปก็คืออาการป่วยทางจิต
อย่างไรก็ตาม การอธิบายของฟรอยด์ก็ถูกวิจารณ์ว่าอาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินมาอธิบายพัฒนาการทางจิตของมนุษย์ เพื่อทำให้เห็นว่าพฤติกรรมทางเพศมีพัฒนาการมาตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (Psychosexual Development) (Garton: 2004, 179) และเป็นการชี้วัดตัดสินโดยอาศัยความรู้ทางชีววิทยา (Biological Determinism) มาอธิบายสภาพจิตของมนุษย์ (Garton: 2004, 186) จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เกิดจากวงการจิตเวชศาสตร์ ก็คือการเปลี่ยนความสนใจจากเรื่องพฤติกรรมชายหญิงไปสู่ความหลากหลายของอารมณ์และพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกัน กล่าวคือ ขณะที่นักเพศศึกษาสนใจที่จะอธิบาย “เพศสภาพ” ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศ แต่นักจิตเวชศาสตร์จะสนใจอธิบาย sexual object choice (ทางเลือกในวัตถุทางเพศ) ที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของบุคคล อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศเริ่มปรากฎขึ้นเมื่อมีการศึกษามิติทางจิตซึ่งแยกออกจากเรื่อง “เพศสภาพ” ในช่วงทศวรรษ 1920 (Garton: 2004, 1982)
2 พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศบ่งบอกอาการป่วยทางจิต
นักจิตเวชศาสตร์ทั้งหลายต่างพยายามสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับอาการป่วยทางเพศเพื่อหาสาเหตุและวิธีการบำบัดทางจิตใจ เมื่อมีการซักประวัติชีวิตของคนไข้แล้ว ประวัติทางเพศของบุคคลเหล่านี้ก็จะถูกนำไปสร้างเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับอาการป่วย เช่น การวิจัยของคราฟ-เอบิง อธิบายว่าสภาพจิตของมนุษย์มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมทางเพศ ((Weeks, Holland and Waites: 2003,3) เขาอาศัยการซักประวัติบุคคลที่มีปัญหาทางจิตเพื่อที่จะหาสาเหตุของการแสดงพฤติกรรมทางเพศ และได้แยกอาการป่วยทางจิตออกเป็นหลายชนิด เช่น Sadism, Fetishism, Masochism, Hermaphroditism เฮฟล็อค อิลลิส สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการป่วยแบบ Auto-eroticism, eonism และ Sexual Inversion ส่วนฟรอยด์สร้างทฤษฎีเรื่อง Hysteria, Obsession, Sexual Fixation และ Neurosis (Garton: 2004, 175-176)
อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจารณ์ว่านักจิตเวชศาสตร์เหล่านี้อธิบายอาการป่วยทางจิตของมนุษย์โดยมองผ่าน “เพศสภาพ” เป็นหลัก (Garton: 2004, 181) ถ้าบุคคลแสดงออกไม่ตรงกับเพศตามธรรมชาติ ก็จะถูกมองว่าเบี่ยงเบน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายที่ชอบแต่งตัวเป็นหญิง หรือผู้หญิงที่ชอบแต่งตัวเป็นชาย ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะมีรสนิยมทางเพศที่สนใจคนเพศเดียวกัน การอธิบายด้วยกรอบดังกล่าวนี้ทำให้ความเข้าใจเรื่องเพศวางอยู่บนความเป็นหญิงและความเป็นชาย มองว่าเพศสภาพเป็นตัวแปรของอาการป่วยทางจิต และทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องของการแสดงออกถึงเพศสภาพที่เบี่ยงเบน (Inverts) กล่าวคือถ้าผู้ชายที่แสดงกิริยาและแต่งตัวเป็นหญิงจะถูกตีตราว่าเป็นคนป่วยทางจิตและมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน แต่ถ้าผู้ชายแต่งตัวเป็นชายและแสดงกิริยาท่าทางเป็นชายถ้ามีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันจะไม่ถูกว่าเบี่ยงเบน แต่เป็นเพียงการแสดงพฤติกรรมแปลกประหลาด (Perverse) ดังนั้น คนที่แต่งตัวเบี่ยงเบนทางเพศเท่านั้นที่ถูกตีตราว่าเป็นคนป่วยทางจิต (Garton: 2004, 182)
มีผู้วิจารณ์ว่าจิตเวชศาสตร์ เป็นการต่อยอดความรู้ชีววิทยาและศีลธรรมแบบดาร์วิน (Garton: 2004,187) ซึ่งเป็นการสร้างความจริงเกี่ยวกับเซ็กส์ จะเห็นว่าการทำงานของนักจิตวิทยาเช่น ฟรอยด์ , เอลิส และคราฟ-เอบิง ล้วนเป็นการทำงานแบบนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้มนุษย์เป็นตัวทดลอง การปฏิบัติดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์กำลังถูกจัดระเบียบและถูกควบคุมโดยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ นักจิตเวชศาสตร์เชื่อว่าสัญตญาณทางเพศ เป็น “หน้าที่” ตามธรรมชาติของมนุษย์ (Arnold I. Davidson: 1987, 192) หน้าที่นี้จะแสดงออกผ่าน “วัตถุทางเพศ” และ “ความต้องการทางเพศ” ทำให้เกิดการแบ่งแยกเรื่องราวทางวัตถุออกจากเรื่องทางความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักจิตเวชนำไปอธิบายพฤติกรรมทางเพศ โดยเชื่อว่าความต้องการทางเพศเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถ้าความต้องการแสดงต่อวัตถุทางเพศที่ถูกต้องก็จะถือว่าปกติ แต่ถ้าแสดงออกกับวัตถุที่ไม่ถูกต้องก็จะถือว่าผิดปกติ คำอธิบายเหล่านี้ได้สร้างฐานคิดของการแยกขั้วไว้อย่างชัดเจนเนื่องอาศัยตรรกะเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความจริง
กระแสต้านทฤษฎีเพศจากตะวันตก
ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 การศึกษาเพศในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมเริ่มตั้งคำถามว่าทฤษฎีเกี่ยวกับเพศที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นทฤษฎีที่เชื่อถือได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นทฤษฎีที่มาจากชาวตะวันตกที่พยายามใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบาย และความรู้นั้นก็อาจมีความลำเอียงเกิดขึ้นได้ ในช่วงเวลานี้เกิดสำนักคิดหลายสำนักที่วิพากษ์วิจารณ์ความรู้เรื่องเพศเชิงวิทยาศาสตร์ สำนักคิดที่สำคัญประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ สตรีนิยม ประวัติศาสตร์นิพนธ์ และกลุ่ม Queer Theories ทั้งสามกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อการอธิบายเรื่องเพศ มีลักษณะเป็นกระแสต้านความรู้แบบตะวันตก เพราะพวกเขาเชื่อว่าพฤติกรรมทางแพศของมนุษย์มิได้เป็นแรงขับตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังสัมพันธ์กับระบบคุณค่าทางสังคม ศีลธรรม และความหมายทางวัฒนธรรม (Vance: 2005, 20) อย่างไรก็ตาม ในทางสังคมศาสตร์การอธิบายของกลุ่มกระแสต้านนี้จะรู้จักในนาม “นักคิดแนวผลิตสร้างทางสังคม” หรือ Social Constructionist ซึ่งกลายเป็นด้านตรงข้ามกับนักคิดสายวิทยาศาสตร์และนักเพศศึกษาที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักคิดแนวสารัตถนิยม” หรือ Essentialist (Garton: 2004,19) ในหัวข้อนี้เราจะมาทำความเข้าใจว่านักคิดแนวผลิตสร้างทางสังคมท้าทายความคิดและทฤษฎีเรื่องเพศอย่างไรบ้าง
1 การศึกษาในแนวสตรีนิยม
การตอบโต้จากนักวิชาการสายสตรีนิยมต่อความรู้จากนักเพศศึกษาคือการชี้ให้เห็นว่าความรู้เหล่านั้นถูกสร้างมาจากบรรทัดฐานของผู้ชาย หรือสังคมที่ยึดมาตรฐานรักต่างเพศที่ให้อำนาจแก่ผู้ชาย (Stevi Jackson: 2003,69) กล่าวคือผู้ชายที่เป็นแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์จะใช้อคติส่วนตัวจัดระเบียบและควบคุมผู้หญิงให้อยู่ใต้อำนาจของตน (Felski: 1994, 5) นอกจากนั้นสตรีนิยมจะชี้ให้เห็นว่าการสร้างความรู้เกี่ยวกับเพศเป็นเรื่องทางการเมืองที่สะท้อนสังคมที่ให้อำนาจกับผู้ชาย (Felski: 1994, 6) ในยุคแรกๆหรือคลื่นลูกแรกของนักวิชาการสายสตรีนิยม เห็นได้จากงานเขียนของแมรี โวลสโตนคราฟท์ เรื่อง A Vindication of the Rights of Woman (1792) ซึ่งเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้กับผู้หญิง และชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติเพราะผู้หญิงเป็นผู้อบรมเลี้ยงดูบุตร ผู้หญิงมิใช่วัตถุสิ่งของที่ผู้ชายจะมีไว้ครอบครอง แต่ผู้หญิงเป็นคนที่มีความคิด มีเหตุผลซึ่งควรจะได้รับสิทธิและได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับชาย ความหมายของ “ความเท่าเทียม” ในความคิดของโวลสโตนคราฟท์มิได้เป็นเรื่อง “เพศสภาพ” ซึ่งนักสตรีนิยมรุ่นหลังใช้ แต่ความเท่าเทียมในที่นี้ดูจากความเป็นมนุษย์ซึ่งพระเจ้าสร้างมาเหมือนกัน ความคิดนี้ถือว่าท้าทายทัศนคติทางเพศในช่วงเวลานั้น เพราะสังคมยังมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ เจ้าอารมณ์ และไร้เหตุผล ในงานเขียนของแมรี สโตปส์ เรื่อง Married Love (1918) ซึ่งออกมาพูดถึงตวามเท่าเทียมในการแต่งงานของผู้หญิง สโตปส์เชื่อว่าอารมณ์ความต้องการทางเพศของผู้หญิงเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้หญิงกำลังจะมีประจำเดือนหรือในช่วงตกไข่ ผู้ชายจึงควรสนใจความต้องการทางเพศของผู้หญิงและปฏิบัติกับผู้หญิงอย่างเท่าเทียม ไม่ควรเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง หรือสนใจแต่การปลดปล่อยความใคร่ของตนเองฝ่ายเดียว
นักสตรีนิยมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะเป็นการออกมาโต้แย้งความรู้เกี่ยวกับเพศที่ผู้ชายเป็นผู้สร้าง ประเด็นที่มีการโต้แย้งคือเรื่องอาชีพการงานและตำแหน่งหน้าที่ของผู้หญิง รวมทั้งการทำแท้งและการคุมกำเนิดในยุควิคตอเรียซึ่งผู้หญิงจะถูกควบคุมจากผู้ชายที่เป็นแพทย์ โดยไม่มีสิทธิตัดสินใจต่อร่างกายของตนเอง เพราะความรู้ทางการแพทย์ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงตระหนักถึงการถูกผู้ชายกดขี่ข่มเหง ดังนั้น นักสตรีนิยมทั้งหลายจึงออกมาวิจารณ์ความรู้ทางการแพทย์และเพศศึกษาในฐานะที่เป็นความรู้ที่เชื่อในกฎธรรมชาติ แต่ความรู้นี้ควรจะถูกตรวจสอบว่าอะไรคือ “ธรรมชาติ” เพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงทบทวนตัวเองว่ามิใช่เป็นเพศที่อ่อนแอตามที่ธรรมชาติกำหนด และส่งเสริมให้ผู้หญิงมีปากเสียงเพื่อสิทธิของตัวเอง (Lesley A. Hall: 1994,136) อย่างไรก็ตาม มีข้อวิจารณ์ว่าสตรีนิยมในยุคแรกนี้มีแนวคิดแบบศีลธรรมและสุขภาพ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยที่สังคมตะวันตกต้องการทำให้สังคม “บริสุทธิ์” (Social Purification) มีการจัดระเบียบสังคม ปฏิรูปศีลธรรม ควบคุมพฤติกรรมทางเพศ และควบคุมปกป้องเพศของผู้หญิง กลุ่มสตรีนิยมจึงออกมาต่อต้านภาพลามากอนาจาร หนังสือโป๊ และซ่องโสเภณีในฐานะเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมทางเพศที่ผิดศีลธรรมและเป็นบ่อเกิดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Garton: 2004,157) การต่อสู้ของสตรีนิยมในช่วงเวลานี้จึงเป็นทั้งการท้าทายอำนาจผู้ชายและใช้ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิและการปกป้องผู้หญิงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อิทธิพลความคิดของนักเพศศึกษาและจิตวิทยา ทำให้นักสตรีนิยมรุ่นแรกเชื่อว่าผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกันโดยธรรมชาติ เมื่อสตรีนิยมเชื่อว่าความแตกต่างนี้มีจริงก็นำไปสู่การอธิบายเชิงศีลธรรมที่ต้องการให้ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น (Garton: 2004, 162)
การเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิงในช่วงนี้อาศัยความรู้จากเพศศึกษาและจิตวิทยา ส่งผลให้ผู้หญิงมีจิตสำนึกใหม่ที่ต้องการปลดปล่อยตัวตนทางเพศ และแสวงหาความพอใจทางเพศ (Sexual Pleasure) ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ผู้หญิงจะไม่ถูกมองว่าเป็นเพศที่ ”ถูกกระทำ” (Passive) เพียงฝ่ายเดียว การเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับข้อถกเถียงเกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถีในหมู่นักเคลื่อนไหวแนวสตรีนิยมทั้งหลาย บุคคลสำคัญเช่น แมรี สโตปส์ และมาร์การเร็ต แซงเกอร์ เป็นผู้มีบทบาททำให้เกิดบรรยากาศที่ผู้หญิงมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการหาความสุขทางเพศและการมีครอบครัว เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวของผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้เชิงการเมือง เช่น กลุ่ม Woman’s Social and Political Union และ National Union of Woman’s Suffrage Societies ในประเทศอังกฤษ เป้าหมายของกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้คือการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้กับผู้หญิง การปกป้องผู้หญิงด้วยกฎหมาย การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีการศึกษา ส่งเสริมให้ผู้หญิงประกอบอาชีพ และเสรีภาพทางเพศของผู้หญิง (Garton: 2004,163) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1-2 เป็นช่วงเวลาที่นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีสนใจเรื่องการคุมกำเนิดซึ่งนักวิชาการบางคนเชื่อว่าเป็นยุคของเสรีภาพทางเพศ (Sexual Liberalism) (D’Emilio and Freedman 1988) แต่นักวิชาการบางคนมองว่านักสตรีนิยมในช่วงนี้ยังตกอยู่ใต้กรอบคิดแบบรักต่างเพศเพราะยึดมั่นในเรื่องครอบครัวและเชื่อว่าเพศเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ (Sheila Jeffreys 1985)
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1960-1970 คลื่นลูกที่สองของสตรีนิยม หรือรู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า Women’s Liberation Movement ได้ชี้ประเด็นเกี่ยวกับเพศในฐานะเป็นเรื่องทางการเมือง โดยชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการสร้างความจริงเกี่ยวกับเพศชายและเพศหญิง และความจริงดังกล่าวนี้ก็สัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจชี้นำ ความรู้วิทยาศาสตร์จึงทำให้ความเป็นผู้ชายมีสิทธิเหนือกว่าความเป็นผู้หญิง (Carole S. Vance: 2005,16) ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงจะสนใจทั้งประเด็นเรื่องกฎหมาย ครอบครัว อาชีพการงาน และเรื่องเพศ งานเขียนที่มีอิทธิพลต่อการเรียกร้องสิทธิสตรีในช่วงเวลานี้คืองานเขียนของซิโมน เดอ โบวัวร์ เรื่อง The Second Sex (1949) อธิบายให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ผู้หญิงถูกทำให้ “เป็นอื่น” (The Other) นอกจากนั้น โบวัวร์ยังทำให้เห็นว่า “ความเป็นหญิง” มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด แต่ได้มาทีหลังเพราะสังคมเป็นผู้สร้างความหมายให้ ซึ่งเป็นความคิดที่ทำให้เห็นว่า “เพศสรีระ” ของผู้หญิงเกิดขึ้นมาก่อนและต่างไปจาก “เพศสภาพ” ของความเป็นหญิงที่เกิดมาภายหลัง นอกจากนั้นงานเขียนเรื่องนี้ยังทำให้เห็นว่าอำนาจทางสังคมตกอยู่ใต้ผู้ชาย จึงทำให้ผู้ชายปฏิบัติต่อผู้หญิงในฐานะที่เป็นพลเมืองชั้นสอง หรือเป็นเพศลำดับที่สองรองจากเพศชาย
ในงานเขียนของเบ็ตตี้ ฟรีแดน เรื่อง The Feminine Mystique (1963) อธิบายว่า ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อทางความคิดที่ผู้ชายสร้างไว้ จึงทำให้ผู้หญิงคิดว่าหน้าที่ของตนเป็นแค่มารดาที่เลี้ยงดูบุตรและเป็นภรรยาที่รับใช้สามีเท่านั้น ฟรีแดนไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีหน้าที่นิยมที่มองผู้หญิงในฐานะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแม่และภรรยาเพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามหน้าที่อื่นๆที่ผู้หญิงสามารถทำได้เช่นเดียวกับชาย แต่งานเขียนของฟรีแดนถูกวิจารณ์ว่าเป็นการมองจากสายตาของผู้หญิงชนชั้นกลางผิวขาว ซึ่งไม่สามารถเป็นตัวแทนของผู้หญิงกลุ่มอื่นๆทางสังคมได้ อย่างไรก็ตามงานของฟรีแดนก็มีอิทธิพลต่อองค์กรผู้หญิงที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเสรีภาพในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งก่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายที่รับรองสิทธิของผู้หญิง
ตัวอย่างการศึกษาของ คอนกีย์และสเป็คเตอร์(1984) ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแบ่งแยกแรงงานตามเพศซึ่งทำให้ผู้ชายมีฐานะเหนือกว่าผู้หญิง (Barbara L. Voss: 2005, 49) ประเด็นต่อมาที่มีการพูดถึงคือเรื่อง ฐานคติเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี ซึ่งถูกครอบงำด้วยกระบวนทัศน์แบบสารัตถะนิยม (Essentialism) ผู้ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาคือ เกล์ รูบิ้น ซึ่งอธิบายไว้ในบทความเรื่อง The Traffic in Woman ปี 1975 รูบิ้นอธิบายว่าความจริงเกี่ยวกับเพศวิถีที่มาจากความคิดเรื่องความจริงแท้ หรือเป็นความจริงตามธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายถูกแบ่งแยกออกจากกัน ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องเพศในสังคมจึงต้องมองความสัมพันธ์ระหว่าง “เพศสรีระ” กับ “เพศสภาพ” (Gender) รูบิ้นเสนอระบบ sex/gender system ในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะบ่งบอกว่าสังคมมีวิธีการนิยามความหมายของรสนิยมทางเพศหรือเพศวิถีของมนุษย์อย่างไร นอกจากนั้นรูบิ้นยังชี้ว่าการทำความเข้าใจเรื่อง “เพศสภาพ” ต้องแยกออกจากเรื่อง “เพศวิถี” เพราะพรมแดนทั้งสองนี้มีความต่างกัน กล่าวคือ เพศสภาพเป็นเรื่องของการแสดงบทบาททางสังคม ส่วนเพศวิถีเป็นเรื่องของพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึก ทั้งสองส่วนนี้อธิบายการแสดงออกทางเพศของมนุษย์ที่ต่างกัน (Carole S. Vance: 2005,17)
ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 หรือคลื่นลูกที่สามของสตรีนยิม ความสนใจในการศึกษามุ่งไปที่เรื่องความแตกต่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิงเอง เช่น เรื่องเชื้อชาติและชนชั้น รวมถึงปัญหาการนิยามความหมายคำว่า “ความเป็นหญิง” ที่นักสตรีนิยมในคลื่นลูกที่สองสถาปนาขึ้นเพื่อใช้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ งานศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาของเชอร์รี โอ้ตเนอร์และ แฮร์เรียต ไวท์เฮด เรื่อง Sexual Meanings (1981) เป็นการศึกษาที่ท้าทายความคิดสตรีนิยมในอดีตที่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าอะไรคือเพศสภาพ และใช้เพศสภาพเป็นศูนย์กลางในการวิเคราะห์ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าความคิดเรื่อง Gender และ Sexuality เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาภายหลัง ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นการทบทวนว่าทฤษฎีเพศที่ใช้ในกลุ่มสตรีนิยมนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการนำเรื่อง “เพศสภาพ” ไปอธิบายการกดขี่ข่มเหงผู้หญิง หรือทำความเข้าใจเพศวิถีที่หลากหลาย (Voss: 2005,51) สตรีนิยมในคลื่นลูกที่สามยังชี้ให้เห็นว่าความคิดแบบ “สารัตถะนิยม” ทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีตกอยู่ใต้ความเชื่อเรื่องความเป็นสากลของ “ความเป็นหญิง” ซึ่งสิ่งนี้ถูกสร้างขึ้นจากโลกทัศน์ของผู้หญิงชนชั้นกลางผิวขาว (Garton: 2004,156) คำอธิบายของสตรีนิยมรุ่นที่สามจึงหันเหแนวทางไปจากเดิมและอาศัยการมองแบบ “หลังโครงสร้างนิยม” (Post-Structuralism) การทบทวนเหล่านี้ได้นำไปสู่การอธิบายใหม่ๆในการเขียนของเซดจ์วิค เรื่อง Epistemology of the Closet(1990) บัตเลอร์ เรื่อง Gender Trouble (1990) วอร์เนอร์ เรื่อง Fear of the Queer Planet (1993) การศึกษาเหล่านี้ล้วนตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศวิถีและชี้ให้เห็นความซับซ้อนในการอธิบาย “เพศสภาพ” ที่เกี่ยวข้องกับ เรื่อง “เพศธรรมชาติ” ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ความรักต่างเพศ และความรักเพศเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า วิธีคิดของสตรีนิยมมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สตรีนิยมในยุคหลังๆมองเรื่องเพศแตกต่างไปจากเดิมสตรีนิยมยุคแรกๆ โดยเฉพาะแยกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ออกจากวิธีคิดเรื่องเพศในทางวัฒนธรรม เพื่อจะทำให้เห็นว่าการแสดงพฤติกรรมทางเพศหรือรสนิยมทางเพศเป็นสิ่งที่ต่างไปจากการแสดงบทบาทผู้ชายและผู้หญิง และแตกต่างไปตามชนชั้น วัย ฐานะ และชาติพันธุ์ รวมทั้ง วิทยาศาสตร์ไม่สามารถกำหนดได้ว่าผู้ชายและผู้หญิงจะต้องมีรสนิยมทางเพศคงที่ตายตัวตามที่ธรรมชาติกำหนด นอกจากนั้น สตรีนิยมยังชี้ให้เห็นว่าการให้คุณค่าต่อ “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” เกี่ยวข้องกับอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และ “เพศวิถี” ก็มิได้บ่งบอกถึงความเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เพราะเเป็นเรื่องของอารมณ์ทางเพศที่เปลี่ยนแปลงได้
2 การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์
การศึกษาเพศในมิติประวัติศาสตร์ ได้สร้างคุณูปการที่สำคัญคือ ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเพศเป็นผลผลิตทางสังคม มิได้เป็นสิ่งที่คงที่ตายตัว และมิใช่ผลจากการกระทำของธรรมชาติ (weeks: 1981,3) การศึกษาของแมรี แม็คอินทอช (1968) แอน โอ๊คลีย์ (1972) และมิเชล ฟูโก้ จากเรื่อง The Will to Knowledge (1978) เป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนประวัติศาสตร์เรื่องเพศของมนุษย์ที่สำคัญ เพราะได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้และทฤษฎีตะวันตกว่าทำให้เราเข้าใจเรื่องเพศได้จริงหรือไม่ โดยฟูโก้ได้ชี้ให้เห็นบริบททางสังคมของตะวันตกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคความทันสมัย (Modernity) ที่เชื่อในระบบเหตุผล ความรู้วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจแบบทุนนิยม และลัทธิปัจเจกชนนิยม สิ่งเหล่านี้หล่อหลอม จัดระเบียบ และควบคุมเรื่องเพศในระดับต่างๆ จนทำให้เรื่อง “เพศวิถี” กลายเป็นสาระสำคัญในการบ่งชี้ตัวตน (Sense of Self) (Weeks, Holland and Waites: 2003,7) ดังนั้น สิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับเพศจึงเป็นผลพวงของยุคความทันสมัย (Felski: 1994,1-2) คำอธิบายเกี่ยวกับเพศ เช่น รักต่างเพศ รักเพศเดียวกัน จึงเป็นวาทกรรมของสังคมที่ถูกสร้างขึ้นโดยสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์ กฎหมาย จิตวิทยา หรือศาสนา
การศึกษาในมิติประวัติศาสตร์ยังทำให้เกิดการตีความใหม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยการชี้ให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อการสร้างความรู้เกี่ยวกับเพศ การตีความใหม่นี้ทำให้พรมแดนความรู้เรื่องเพศย้ายจากวิทยาศาสตร์ไปสู่สังคมศาสตร์ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา เพราะในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมจากกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นักประวัติศาสตร์เกย์และเลสเบี้ยนออกมาค้นหาหลักฐานของการมีอยู่และความเป็นมาเกี่ยวกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ เพราะหลักฐานเหล่านั้นถูกละเลยและไม่ได้รับความสนใจจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก (Vance: 2005,18) ตัวอย่างการศึกษาของเจฟฟรีย์ วีคส์ เรื่อง Coming Out: Homosexual Politics in Britain from the 19th Century to the Present (1977) ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “พฤติกรรม” รักเพศเดียวกัน (Homosexual Behavior) ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางเพศที่พบได้ในหลายวัฒนธรรม กับ “อัตลักษณ์” ของคนรักเพศเดียวกัน (Homosexual Identity) ซึ่งในแต่ละสังคมจะมีการให้ความหมายที่ต่างกัน เช่น มีคำเรียกที่ต่างกัน มีคุณค่าที่ต่างกัน
การศึกษาของโจนาธาน แคตซ์ เรื่อง Gay American History (1976) ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมชายรักชายในประวัติศาสตร์อเมริกาแตกต่างไปจากพฤติกรรมเกย์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะในอดีตพฤติกรรมชายรักชายไม่ถูกมองว่าเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ แต่เป็นความต้องการทางเพศที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว อารมณ์และความเสน่หาคนเพศเดียวกันจึงมีนิยามที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัยขึ้นอยู่กับค่านิยม ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณี การศึกษาของแรนดอล์ฟ ทรัมแบ็ค เรื่อง Sex and Gender Revolution Volume 1 (1998) ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง “รักต่างเพศ” เมื่อเกิดวัฒนธรรมชายรักชายหรือโซโดไมต์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพราะชายรักชายปรากฎตัวในพื้นที่สาธารณะเป็นการท้าทาย “ความเป็นชาย” และเพศสภาพของผู้ชาย กล่าวคือผู้ชายในสังคมต้องหันกลับมาเน้นความเป็นรักต่างเพศของตัวเองเพื่อที่จะม่ให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นโซโดไมต์ที่มีพฤติกรรมการแสดงออกแบบหญิง การศึกษาของทรัมแบ็คทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าอัตลักษณ์ทางเพศในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีเอกภาพจริงหรือไม่ เพราะวัฒนธรรมโซโดไมต์ชี้ให้เห็นความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศที่มิได้มีเพียงแต่ชายหญิงเท่านั้น เช่นเดียวกับการศึกษาของเดวิด เฮลเพอริน เรื่อง How To Do the History of Homosexuality (2002) ก็ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมโซโดไมต์เป็นวัฒนธรรมที่ท้าทายระบบ “เพศสภาพ” ตามบรรทัดฐาน การมีอยู่ของโซไมต์มิใช่การตอกย้ำต้นกำเนิดหรือรากเหง้าของโฮโมเซ็กช่วล หากแต่เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเอกภาพของชายและหญิงไม่มีอยู่จริง (Garton: 2004,100) ทั้งทรัมแบ็คและเฮลเพอรินทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องเพศในสังคมตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเปลี่ยนความเชื่อที่มองเพศแบ่งเป็นสองขั้นระหว่างฝ่ายกระทำและถูกกระทำ ไปสู่การมองเพศที่เน้นความแตกต่างระหว่างความเป็นชายและหญิง กับความเป็นรักต่างเพศและรักเพศเดียวกัน
ข้อสังเกตดังกล่าวนี้สร้างคุณูปการให้การศึกษาเรื่องเพศเป็นอย่างมากและเป็นบ่อเกิดของกระบวนทัศน์แบบ Social Construction เพราะทำให้เห็นว่าพฤติกรรมทางเพศในวัฒนธรรมอื่นๆนอกสังคมตะวันตกย่อมถูกสร้างความหมายที่ต่างไป และไม่จำเป็นต้องมีคำเรียกเหมือนกับคำของตะวันตก เช่น เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล ฯลฯ นอกจากนั้น การแบ่งแยก “รักต่างเพศ” ออกจาก “รักเพศเดียวกัน” ที่เกิดขึ้นในตะวันตกก็อาจเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในสังคมอื่นๆ จะเห็นได้ว่าคำถามจากการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ช่วยให้เข้าใจว่าการจัดประเภทและการสร้างนิยาม “เพศ” ของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งสากลเหมือนคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ (Vance: 2005,20)
3 มุมมองแบบ Queer Theories
การเกิดขึ้นของแนวคิดทฤษฎีเควียร์ มาจากช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งนักวิชาการสายสตรีนนิยมในคลื่นลูกที่สามพยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ที่เกิดจากทฤษฎี Gender และ Sexuality รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในฐานะเป็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์ (Jackson: 2003,69) และผลพวงของการแพร่ระบาดโรคเอดส์ในทศวรรษ 1980 (Suzanna Danuta Walters: 2005, 7) แต่ความหมายและนิยามของแนวคิดทฤษฎีเควียร์มีความแตกต่างกันไปตามนักคิดแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น จูดิธ บัตเลอร์ (1990) เทเลซ่า เดอ ลอเรติส (1991) หรือ อีฟ เซดจ์วิค (1991) และนักคิดส่วนใหญ่ก็ไม่นิยามว่าตนเองเป็นผู้สร้างทฤษฎีเควียร์แต่อย่างใด คำว่า “เควียร์” จึงมีความหมายกว้างและอยู่ภายใต้กระแสความคิดแบบโพสต์มอเดิร์นนิสต์ แนวคิดหลังโครงสร้างนิยม และการรื้อสร้าง (Deconstructionism) หรืออาจอธิบายได้ว่าแนวคิดเควียร์สนใจที่จะท้าทายทฤษฎีกระแสหลักที่อธิบายเรื่องเพศแบบเหตุผลและวิทยาศาสตร์ (Steven Seidman: 1997,93) รวมทั้งการตั้งคำถามต่อวิธีคิดในการจัดประเภท Gender และ Sexuality ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความรู้ทางการแพทย์และเพศศึกษาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งทำให้เรื่องเพศถูกจัดระเบียบกฎเกณฑ์ราวกับเป็นวัตถุสิ่งของ การตั้งคำถามเหล่านี้อาศัยความคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralist) มาใช้เพื่อชี้ให้เห็นว่าการสร้างความจริงต่อเรื่องเพศที่ผ่านมาพยายามแบ่งแยก กีดกันจนทำให้เกิดคู่ตรงข้ามระหว่าง “เพศปกติ” (Normative) และ “เพศผิดปกติ” (Deviance) (Voss: 2005, 52)
ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์และเลสเบี้ยน ถูกวิจารณ์ว่าอาศัยมุมมองโลกทัศน์แบบชนชั้นกลางผิวขาว ซึ่งทำให้มองไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายในกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนซึ่งอาจประกอบด้วยคนผิวดำ ผิวสี และชนชั้นล่าง (Nikki Sullivan: 2003,38) ดังนั้น ประเด็นความแตกต่างทางชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว ฐานะ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการทำความเข้าใจความหลากหลายในเพศวิถีซึ่งไม่ได้มีความเป็นเอกภาพเดียวกัน อีฟ เซดจ์วิค (1990) กล่าวว่าอัตลักษณ์ทางเพศที่วางอยู่บนความคิดเรื่อง “เพศสภาพ” คือตัวอย่างของการเมืองเรื่องการสร้างความแตกต่างและในเวลาเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำวิธีคิดแบบรักต่างเพศที่พยายามแยกชายและหญิงออกจากกัน เห็นได้จากการเมืองของชาวเกย์และเลสเบี้ยนที่นำเรื่องบทบาทชายหญิงมาอธิบายอัตลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้นเพศวิถีที่อาศัย “เพศสภาพ” เป็นตัวบ่งชี้อัตลักษณ์จึงเป็นการยืนยันคู่ตรงข้ามของระบบสองเพศ (เพศชายและเพศหญิง) ท่าทีของการวิพากษ์ฐานคิดในทำนองนี้จึงเป็นท่าทีแบบทฤษฎีเควียร์ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆการเปลี่ยนผ่านในโลกวิชาการที่เคลื่อนไปสู่ความคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralism) (Sullivan: 2003, 39)
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเควียร์ แตกต่างจากการเมืองแบบเควียร์ (Queer Politics) กล่าวคือ แนวคิดเควียร์สนใจที่จะรื้อทำลายความหมายของอัตลักษณ์ทางเพศ ส่วนการเมืองเควียร์ต้องการเน้นย้ำเรื่องอัตลักษณ์ แนวคิดทฤษฎีเควียร์ ทำให้เกิดการทบทวนและการท้าทายวิธีคิดที่แบ่งแยกขั้ว เช่น การแบ่งแยกระหว่างรักต่างเพศ กับรักเพศเดียวกัน การแบ่งผู้ชายกับผู้หญิง หรือผู้ชายกับเกย์ เควียร์พยายามเสนอว่าการคิดแบบแบ่งแยกนี้ทำให้เกิดการยึดมั่นความจริงแบบตายตัว หรือทำให้คิดว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่คงที่และมีเอกภาพ เช่น เมื่อเราคิดว่าเกย์ถูกกีดกันจากสังคม หรืออยู่ด้านตรงข้ามกับรักต่างเพศ เราก็จะยิ่งตอกย้ำอัตลักษณ์และเพศวิถีที่ผิดปกติของเกย์ แนวคิดเควียร์ต้องการให้เกิดการอธิบายใหม่เกี่ยวกับเพศโดยผูกโยงเข้ากับเรื่องความหลากหลาย (Diversity) และชี้ให้เห็นว่าการอธิบายตัวตนทางเพศ อัตลักษณ์ พฤติกรรม และการปฏิบัติทางเพศไม่สามารถใช้ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งได้ เพราะเรื่องเพศเป็นพรมแดนที่มีการต่อรองของอำนาจต่างๆ ดังนั้น การอธิบายเรื่องเพศแบบเควียร์จึงเป็นการอธิบายบริบทของการต่อสู้ ต่อรอง ท้าทายและการไกล่เกลี่ยความหมายของคนกลุ่มต่างๆ (Jackson: 2003,72)
ประเด็นต่อมาคือ แนวคิดเควียร์ทำให้พรมแดนเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีเข้ามาบรรจบกัน เช่นการศึกษาของไดอาน่า ฟัสส์ (1991) และ สเตวี แจ็คสัน(2003) อธิบายว่าทั้งรักต่างเพศและรักเพศเดียวกันล้วนอธิบายตัวตนทางเพศด้วย “เพศสภาพ” (Gender) หรือให้ความหมายกับความเป็นชายและความเป็นหญิงเพื่อที่จะสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ ข้อสังเกตดังกล่าวทำให้ความหมายของเพศสภาพและเพศวิถีขยายขอบเขตออกไปจากเดิม โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการแยกขั้ว นอกจากจะชี้ให้เห็นปัญหาของการแยกขั้วแล้ว แนวคิดเควียร์ยังชี้ว่าระบบรักต่างเพศ หรือบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (Heteronormativity) ทำให้เกิดการกีดกันและการแบ่งแยกเพศ ส่งผลให้กลุ่มคนที่เป็นเพศอื่น เช่น เกย์ กะเทย เลสเบี้ยน กลายเป็นคนชายขอบ และยังชี้ให้เห็นว่าระบบรักต่างเพศได้สร้างให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าเพศอื่นๆ ระบบรักต่างเพศจึงเป็นระบบที่กดขี่ข่มเหงโดยมีเพศชายมีอำนาจชี้นำ (Jackson: 2003,72) อีฟ เซดจ์วิค (1990) ก็ได้ตั้งข้อสังเกตในทำนองเดียวกันว่าอัตลักษณ์ทางเพศที่เกิดจากขบวนการเรียกร้องของเกย์และเลสเบี้ยนอาศัยความคิดเรื่อง “เพศสภาพ” เป็นฐานในการต่อสู้ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Nikki Sullivan: 2003,38) การเมืองของอัตลักษณ์เกย์และเลสเบี้ยนจึงเป็นปัญหาของการอธิบายความจริงเกี่ยวกับตัวตนทางเพศ
ข้อสังเกตเหล่านี้มีรากฐานมาจากกระแสความคิดหลังโครงสร้างนิยมที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการสร้างความจริงในโลก สำหรับการสร้างความจริงในเรื่องเพศนั้นก็เป็นผลพวงของระบบเหตุผลวิทยาศาสตร์ที่เชื่อความจริงแท้ แนวคิดเควียร์จึงเป็นเหมือนการตอบโต้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เควียร์ต้องการวิพากษ์วิธีอธิบาย “ตัวตน” ของสรรพสิ่งต่างๆว่ามีความเป็นสากล เควียร์ไม่เชื่อเรื่องความเป็นสากลตามที่วิทยาศาสตร์อ้าง ดังนั้นอะไรก็ตามที่พยายามความเป็นสากลในเรื่องเพศ นักคิดในแนวเควียร์จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ขณะเดียวกันก็พยายามชูเรื่อง “ลักษณะเฉพาะ” “ความเป็นท้องถิ่น” “พื้นบ้าน” เพื่อทำให้เห็นความซับซ้อนที่ปรากฎอยู่ในเรื่องเพศ นักวิชาการบางคนกล่าวว่าเควียร์สนใจ “ความแตกต่าง” ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคน หรือใน “ตัวตนของคน” เช่น ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง บุคคลข้ามเพศ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีเอกภาพเดียวกัน แต่มีความซับซ้อนในการแสดงตัวตนที่ต่างกัน
เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศที่ปรากฎอยู่ในตัวคนเป็นสิ่งที่ไม่มีเอกภาพ ดังนั้น อัตลักษณ์ชาย หญิง เกย์ เลสเบี้ยน กะเทย คนข้ามเพศ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอัตลักษณ์ที่ไม่มีแก่นแท้แน่นอน หากแต่มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างตัวคนกับสังคม ข้อวิจารณ์ของเควียร์จึงเปิดพรมแดนให้เกิดข้อถกเถียงว่าอะไรคือ “ตัวตน” หรือ “อัตลักษณ์” ที่แท้จริงของมนุษย์ เควียร์จะไม่เชื่อเรื่องความจริงแท้ของเพศสภาพ และเพศวิถี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่เกิดจากการสร้าง “ความรู้” และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม (Sullivan: 2003, 41) เพราะขบวนการสร้างความรู้แยกไม่ออกจากการใช้อำนาจของกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือคนรักต่างเพศก็ล้วนแล้วแต่อ้างความรู้เพื่อการต่อสู้ขัดขืนบางอย่าง เพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อปลดปล่อย หรือเพื่อต่อต้านอัตลักษณ์ของคนบางกลุ่มเพื่อกดทับและควบคุม การช่วงชิงความหมายดังกล่าวนี้ทำให้ขบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเรื่องที่ “ถูกสร้าง” และเปลี่ยนแปลงได้
4. “เพศ” ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา
การศึกษาเรื่องเพศในทางมานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมเป็นอันดับแรก (Vance: 2005,21) ความคิดพื้นฐานก็คือ วัฒนธรรมเป็นเบ้าหลวม หรือเป็นตัวกำหนดทัศนคติ ความเชื่อ การแสดงออกและพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ นักมานุษยวิทยาปฏิเสธความเป็นสากลในเรื่องเพศ เพราะวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมจะทำให้ความคิดเรื่องเพศแตกต่างกัน ความหลากหลายในความคิดเรื่องเพศจึงเป็นหัวใจสำคัญในการศึกษาทางมานุษยวิทยา ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆ เช่น เอ็ดเวิร์ด เวสเตอร์มาร์ค (Weeks, Holland and Waites: 2003,3) ศึกษารูปแบบของการแสดงออกทางเพศกับแบบแผนของการแต่งงานในวัฒนธรรมต่างๆ พบว่าแต่ละวัฒนธรรมมีการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมือนกัน นักมานุษยวิทยาเช่น เฟอร์ดินันด์ คาร์ช-แฮ็ค(1919) และเอ็ดเวิร์ด คาร์เพนเตอร์ (1914) ซึ่งอ่านบันทึกของนักเดินทางและมิชชันารีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งอธิบายถึงพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ทั้งแฮ็ค และคาร์เพนเตอร์ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายที่รักเพศเดียวกันสามารถพบเห็นได้ในวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นคนเพศที่สาม (Third Gender) หรือเพศที่อยู่ตรงกลางระหว่างชายหญิง ตามความคิดของนักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆ สาเหตุของการเป็นโฮโมเซ็กช่วลมาจากความเบี่ยงเบนตามธรรมชาติ เช่น คาร์เพนเตอร์กล่าวว่าเพศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชายหญิง จะมีพื้นที่ทางสังคมและการทำงานของตัวเอง ( Gert Hekma: 2000)
ในระยะแรกๆของการศึกษาเรื่องเพศทางมานุษยวิทยา มีน้ำเสียงของการเห็นอกเห็นใจกลุ่มคนรักเพศ รักเพศเดียวกันหรือคนแต่งตัวข้ามเพศในสังคมต่างๆ แต่นักมานุษยวิทยายังไม่มีข้อมูลมากนักในการทำความเข้าใจพฤติกรรมทางเพศเหล่านี้ ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1920 นักมานุษยวิทยาเช่น โบรนิสโลว์ มาลีนอฟสกี้ และมาร์กาเร็ต มี้ด ออกไปทำงานภาคสนาม และใช้เวลาศึกษาวัฒนธรรมเป็นเวลานาน นักมานุษยวิทยาเหล่านี้ค้นพบรูปแบบพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกันหลายแบบ ซึ่งแปลกไปจากการรับรู้ของชาวตะวันตก เช่นพฤติกรรมของคนแต่งตัวผิดเพศในชนเผ่าอเมริกาเหนือ ซึ่งได้รับฉายาว่า เบอร์ดาเช่ (Berdache) หรือคนที่มีความเป็นชายและความเป็นหญิงในตัวเอง (Two-Spirit People) นักมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่า “เบอร์ดาเช่” คือการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งตอบสนองต่ออารมณ์แบบโฮโมเซ็กช่วล และในวัฒนธรรมอื่นๆก็มีการแสดงออกในลักษณะเดียวกันนี้หรือมีการยอมรับพฤติกรรมแบบโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโฮโมเซ็กช่วลพบได้ทุกหนทุกแห่ง ในช่วงทศวรรษ 1930-1940 การศึกษาของมาร์การเร็ต มี้ด อธิบายให้เห็นว่าวิธีคิดเรื่องเพศในสังคมตะวันตกไม่สามารถนำไปใช้กับสังคมอื่นๆได้ ข้อสังเกตนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่วิจารณ์ว่าความคิดเรื่องเพศในสังคมตะวันตกเป็นเพียงความคิดชุดหนึ่งในบรรดาความคิดอีกหลายแบบที่ปรากฎอยู่ในสังคมมนุษย์ การศึกษาของนักมานุษยวิทยาช่วยทำให้เราเห็นความ “หลากหลาย” ในการแสดงพฤติกรรมทางเพศของคนในแต่ละวัฒนธรรมซึ่งจะสร้างนิยามและให้คุณค่าแตกต่างกัน
อิทธิพลความคิดทางมานุษยวิทยา ปรากฎอยู่ในการศึกษาของจอห์น แก็กนอน และวิลเลียม ไซม่อน ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง Sexual Conduct (1973) การศึกษานี้ย้ำว่าการแสดงออกทางเพศถูกกำหนดขึ้นโดยวัฒนธรรม และสังคมจะมีการสร้างนิยามและให้คุณค่าต่อพฤติกรรมทางเพศ นิยามและคุณค่าเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในช่วงทศวรรษ 1970 การศึกษาวัฒนธรรมเกย์ในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในหลายสาขาวิชา สำหรับนักมานุษยวิทยาที่หันมาศึกษาวัฒนธรรมเกย์ เช่น เกล รูบิ้น(1982) สนใจเรื่องเพศในมิติทางการเมืองและวัฒนธรรมโดยทำการศึกษาวัฒนธรรมเกย์ชุดหนัง (Gay Male Leather Culture) ในซานฟรานซิสโก ส่วนการศึกษาวัฒนธรรมชายรักชายในวัฒนธรรมอื่น ได้แก่ การศึกษาของกิลเบิร์ต เฮิร์ด เกี่ยวกับพิธีกรรมย่างเข้าวัยหนุ่มและพิธีรับน้ำอสุจิของเด็กชายในนิวกินี เฮิร์ดวิเคราะห์ว่าพิธีกรรมย่างเข้าสู่วัยหนุ่มเป็นพิธีกรรมของโฮโมเซ็กช่วลซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องคนรักเพศเดียวกันในตะวันตก การศึกษานี้ทำให้เห็นว่าพฤติกรรมชายรักชายสัมพันธ์กับวัฒนธรรม สิ่งสำคัญจากการศึกษาทางมานุษยวิทยา คือการยืนยันว่าอารมณ์ พฤติกรรมและการเกี้ยวพาราสีแบบคนรักเพศเดียวกันมีความหลากหลาย ซึ่งนักมานุษยวิทยาได้แยกรูปแบบพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) ความรักเพศเดียวกันที่มาจากโครงสร้างอายุ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีอายุต่างกัน 2) มาจากโครงสร้างเพศสภาพ ซึ่งฝ่ายหนึ่งจะแสดงบทบาทเป็นหญิง อีกฝ่ายหนึ่งแสดงบทบาทเป็นชาย และ 3) รูปแบบที่มีความเท่าเทียมกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีเพศสภาพเหมือนกันและอายุเท่ากัน ( Gert Hekma: 2000)
สิ่งสำคัญที่นักมานุษยวิทยาได้มอบให้ต่อการศึกษาประเด็นโฮโมเซ็กช่วลในปัจจุบัน คือการชี้ให้เห็นว่า นิยามเกี่ยวกับความรักของคนเพศเดียวมาจากความรู้ท้องถิ่น กล่าวคือพฤติกรรมทางเพศที่คล้ายๆกันอาจมีความหมายต่างกันในบริบทที่ต่างกัน หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาคือการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาถึงความหมายและบริบทของสิ่งนั้น ปัจจุบัน สิ่งที่ยังขาดหายไปในการศึกษาเรื่องเพศวิถี คือการศึกษาวิธีปฏิบัติทางเพศ บทบาทในการแสดงอารมณ์ทางเพศ ความสัมพันธ์และความแปลกแยกระหว่างความรักและความใคร่ ความไม่เท่าเทียมกัน ความรุนแรงและแรงบีบคั้นในเรื่องเพศ การเกิดขึ้นของชุมชนรักเพศเดียวกัน การเปลี่ยนวิธีคิดต่อเรื่องวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ใช้อธิบายอารมณ์ทางเพศ
เรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นที่นักมานุษยวิทยาต้องทำความเข้าใจคือ ความเกี่ยวโยงกันของวัฒนธรรมเกย์โลกและท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าความเป็นสากลของวัฒนธรรมเกย์ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ และยังมีกลุ่มคนส่วนน้อยในท้องถิ่นที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันที่ไม่เข้าใจความหมายของโฮโมเซ็กช่วลที่เกิดจากสังคมตะวันตก ปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมเกย์สากลและพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในความหมายของท้องถิ่นดำรงอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน หรือแทนที่ความหมายของพฤติกรรมทางเพศที่ซับซ้อน จนยากที่จะแยกว่าอะไรคือความเป็นท้องถิ่นแท้หรือไม่แท้ สิ่งเหล่านี้คือโจทย์สำคัญในการศึกษาของนักมานุษยวิทยาในช่วงปัจจุบัน
ญาณวิทยาของการสร้างความรู้ / ความจริงเรื่องเพศ
การแสวงหาความจริงจากการสร้าง “ความแตกต่าง” ทางเพศ
การอธิบายถึงความแตกต่างทางเพศ (Sexual Different) เป็นความพยายามที่จะแสวงหาความจริงที่ก่อให้เกิดคำถามว่า “ความแตกต่าง” นั้นเกิดจากอะไร หรือ อะไรที่สร้างความแตกต่าง คำถามนี้นำไปสู่ข้อถกเถียงและการแยกพรมแดนระหว่าง “ธรรมชาติ” และ “วัฒนธรรม” ออกจากกัน ซึ่งแต่ละพรมแดนต่างมีทฤษฎีที่ใช้อธิบายความแตกต่างทางเพศ ในพรมแดนธรรมชาติ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายความแตกต่างนี้ด้วยเรื่องราวทางวัตถุผ่านวิชาชีววิทยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ยีนส์ ฮอร์โมน อวัยวะเพศ สรีระ และระบบประสาท ในขณะที่พรมแดนทางวัฒนธรรมมองไปที่ค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ และโลกทัศน์ทางสังคมที่ส่งผลให้มนุษย์จัดระเบียบเพศตามอุดมการณ์ ข้อถกเถียงจากสองพรมแดนนี้มาจากฐานคิดที่ต่างกันระหว่างกระบวนทัศน์ที่แสวงหาความจริงแท้ หรือความจริงเชิงประจักษ์ เป็นความจริงที่มองเห็นและจับต้องได้ ซึ่งวิทยาศาสตร์มีอำนาจในพรมแดนนี้ ส่วนกระบวนทัศน์ทางวัฒนธรรมเป็นการทำความเข้าใจ “ระบบคุณค่า” (Value) ที่มนุษย์มีให้กับเรื่องราวทางเพศ (Harrison and Hood-Williams: 2002,16) จะเห็นได้ว่าการแสวงหาความจริงเรื่องความแตกต่างทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ และข้อถกเถียงเหล่านี้ก็มาจากโลกของคนผิวขาวในสังคมตะวันตก (Anglo-Saxon World) ในยุคที่วิทยาศาสตร์กลายเป็นพระเจ้า ยุคดังกล่าวนี้เชื่อว่าการตรวจวัดเชิงปริมาณและสถิติคือความรู้ที่เชื่อถือได้และเป็นสากล (Carolyn Burdett: 1998, 45) ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นวิชาที่สร้างชาติและความเจริญให้กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสำมะโนประชากร การเก็บภาษี และการคำนวณการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายเรื่องเพศ “เพศ” จึงกลายเป็นผลผลิตทางธรรมชาติที่จะต้องถูกจัดการ ถูกวางโครงสร้าง และถูกจัดประเภท (William Simon: 2003, 22) การปฏิบัติทางเพศจะถูกมองเป็นเรื่องของ “พฤติกรรม” ซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพทางเพศ เพศสรีระจึงเป็นพื้นที่สำหรับการแสวงหาความจริง หรือเป็นความจริงที่ไม่ต้องการข้อพิสูจน์ เพศสรีระจะเป็นความจริงในตัวเองที่ตัดขาดจากบริบทที่แวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม
นักวิชาการสาย Empiricist และ Humanist เช่น อัลเฟร็ด คินซีย์ (Simon: 2003, 25) มักจะมีสมมติฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ความแตกต่างมาจากวิธีคิดเรื่องการจัดประเภทสิ่งต่างๆในโลกทางวัตถุ เป็นการจัดระเบียบและสร้างกฎเกณฑ์ให้กับสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ในกรณีของมนุษย์ การจัดประเภททำให้เกิดมนุษย์เพศชายกับมนุษย์เพศหญิง ตามมาด้วย “ความเป็นชาย” กับ “ความเป็นหญิง” ซึ่งเป็นความคิดที่นักเพศศึกษาทั้งหลายยึดถือว่าเป็นจริงตามธรรมชาติ (Storr: 1998,21) การแยกความแตกต่างนี้เป็นการแบ่งแยกทางสังคมในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการอธิบายโลกด้วยวิธีคิดแบบ “โครงสร้างนิยม” โดยมองว่าสังคมมนุษย์มีระเบียบแบบแผน (Social Order) มีการจัดกลุ่มและแบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น และสถานะทางสังคม (Harrison and Hood-Williams: 2002,2) จากความคิดเรื่องโครงสร้างและการจัดประเภทนำไปสู่สมมติฐานเกี่ยวกับ “คุณสมับติ” ของความต่างและความเหมือน ซึ่งใช้อธิบายว่าเพศหญิงเหมือนและต่างจากเพศชายอย่างไร
นอกจากนั้น ความคิดเรื่องความแตกต่างยังเกิดจากการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับ “ร่างกาย” (Body) กล่าวคือ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของสังคมตะวันตก นักกายวิภาค แพทย์ และนักชีววิทยาทั้งหลายมองดู “ร่างกาย” ของมนุษย์ด้วยทัศนคติของ “ความจริงแท้” โดยเชื่อว่า “ความแตกต่าง” ในร่างกายเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงซึ่งนำไปสู่การเติบโตของวิชากายวิภาคศาสตร์และสรีรศาสตร์ในวงการแพทย์ (Garton: 2004,96) ความรู้จากวิชาเหล่านี้เป็นรากฐานของความคิดเรื่อง “เพศสภาพ” ซึ่งอยู่คู่กับเพศสรีระ นักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อว่าทั้งสองสิ่งนี้มีอยู่ “จริง” ในธรรมชาติ และทำให้ผู้ชายและผู้หญิงมีคุณลักษณะทางร่างกายและจิตใจที่แตกต่างกัน
การพูดถึง “เพศสภาพ” (Gender) ในแวดวงวิชาการล้วนมาจากฐานคิดเรื่องการแบ่งแยกความแตกต่าง และการจัดประเภทซึ่งเกิดมาจากกระบวนทัศน์เชิงโครงสร้าง กล่าวคือ การอธิบายเพศสภาพของชายและหญิง คือการสร้างระเบียบ เป็นการจัดมนุษย์เข้า “กล่อง” ทางสังคม (Social Category) ดังนั้น ในการอธิบายเรื่องเพศที่โยงใยถึงเพศสภาพ ก็เท่ากับเป็นการเชื่อในความแตกต่างที่ดำรงอยู่ ซึ่งมีรากเหง้าอยู่บนฐานคิดธรรมชาติที่อธิบายเรื่องเพศชายและเพศหญิงที่มีชีววิทยาที่ต่างกัน (Biological Distinction) การอธิบายบนฐานคิดเรื่องความแตกต่างยังเป็นการทำให้ความจริงเชิงวัตถุเข้าไปกำหนดความแตกต่างทางเพศ หรือทำให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องทาง “วัตถุ” ขณะเดียวกันก็ทำให้ความแตกต่างทางเพศกลายเป็นเรื่องทาง “สังคม” ที่บ่งบอกว่าผู้ชายและผู้หญิงมีตัวตนทางเพศที่สังคมรับรองหรือถูกจัดระเบียบไว้แล้ว เช่น กรอบความคิดแบบ Liberal Feminist ซึ่งต้องการทำให้ผู้หญิงทำสิ่งต่างๆได้เหมือนผู้ชาย กรอบความคิดแบบสตรีนิยมแนว Separatist ซึ่งต้องการสร้างความแตกต่างระหว่างหญิงกับชายเพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงมีคุณค่าแตกต่างไปจากผู้ชาย กรอบความคิดทั้งสองนี้ล้วนทำให้การแยกความแตกต่างระหว่างชายหญิงดำเนินต่อไป (Gillian A. Dune: 2003,65) เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เรื่องกายภาพทางเพศและสำนึกการมีตัวตนทางเพศดำรงอยู่ได้ในเวลาเดียวกัน หรือความเป็น Object และ Subject ดำรงอยู่ได้ในโครงสร้างความคิดเดียวกัน ซึ่งแต่ละด้านจะมีพรมแดนของตัวเอง ตัวอย่างการอธิบายในกรอบความคิดนี้ เช่น อธิบายว่าเพศสภาพคือการแสดงออกพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์จะต้อง “แสดง” ความเป็นชาย หรือความเป็นหญิงเพื่อที่จะดำรงอยู่ในสังคม เพศสภาพเป็นเครื่องมือในการแสดงบทบาททางสังคมและเป็นบ่อเกิดของการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น
การแสวงหาความจริงเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 สะท้อนวิธีคิดทางสังคมและการเมืองในช่วงเวลานั้น กล่าวคือ ประเด็นเรื่องเพศสภาพในผู้ชายและผู้หญิงถูกนำมาเป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคมในยุคที่อุดมการแบบประชาธิปไตย ความคิดเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียมทางสังคมกำลังได้รับความสนใจ เช่น กลุ่มผู้หญิงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม หรือกลุ่มโซโดไมต์ (ชายรักชาย) ที่รวมตัวกันในบาร์และผับลับๆ (Molly House) เพื่อสังสรรค์ หาคู่นอน และแต่งตัวเป็นหญิง (Randolph Trumbach:1998,3-22) ล้วนทำให้เกิดการท้าทายบทบาทของผู้ชายในช่วงเวลานั้น ความแตกต่างทางเพศจึงเป็นประเด็นทางการเมืองและวัฒนธรรมเช่นเดียวกับเพศศึกษา (Sexology) และเป็นกระบวนทัศน์ที่ครอบงำสังคมตะวันตก ซึ่งมีการช่วงชิงพื้นที่ระหว่างชายและหญิง ระหว่างชายรักต่างเพศกับโฮโมเซ็กช่วล ในการพูดถึงสิทธิเสรีภาพที่มาจากความแตกต่างทางเพศสรีระและเพศสภาพของบุคคล (Garton: 2004,97)
ฐานความคิดเรื่อง “ความหลากหลาย” ทางเพศ
วิกฤตความรู้ที่เกิดจากทัศนะแบบสมัยใหม่ (Modernist Perspective) ซึ่งอธิบายเพศของมนุษย์ในแนวพัฒนาการหรือกระบวนการที่เป็นระนาบเส้นตรง และเชื่อในความมีอยู่จริงตามธรรมชาติ หรือมี “แก่นแท้” ของความเป็นเพศ วิกฤตดังกล่าวนี้ถูกท้าทายด้วยความคิดแบบพหุลักษณ์ (Pluralism) ซึ่งพยายามอุดช่องว่างที่วิทยาศาสตร์เคยทิ้งไว้ โดยเฉพาะเรื่องความซับซ้อนของประสบการณ์ชีวิตทางเพศของมนุษย์ (Simon: 2003, 28) การท้าทายด้วยความคิดแบบพหุลักษณ์อาศัยวิธีการรื้อถอนสิ่งที่คิดว่าเป็นจริงแบบธรรมชาติ (Denaturalization) เพื่อค้นหาว่า “เพศ” เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นหรือเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม และถูกแสดงออกโดยประสบการณ์ชีวิตของบุคคล เป้าหมายของการรื้อถอนนี้คือการวิพากษ์วิธีการจัดประเภท (Categorization) หรือการจำแนก “เพศ” ของมนุษย์ให้อยู่เป็นพวกๆ หรือเป็นหมู่เป็นเหล่า เพราะการจัดจำแนกทำให้ประสบการณ์ชีวิตทางเพศของมนุษย์กลายเป็นสิ่งเหมารวม เมื่อเรายิ่งเชื่อในการจัดพวกหรือจัดประเภทมากเท่าใดเราก็จะยิ่งคิดว่าเรื่องเพศจะต้องมีหมวดหมู่ที่ชัดเจน แต่หมวดหมู่เหล่านั้นวางอยู่บนฐานคติเรื่อง “เพศสภาพ” ที่แบ่งเป็นสองด้านคือ ผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งฐานคตินี้มาจากกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ที่มองว่า “เพศ” เป็นเรื่องของการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติที่จะมีเพศชายและเพศหญิงเท่านั้นสำหรับการอธิบายความจริงต่างๆ ด้วยเหตุนี้ การรื้อถอนวิธีการจัดจำแนกเพศจึงเป็นการรื้อถอนกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ที่สร้างทฤษฎีเพศด้วยการมองเชิง “หน้าที่นิยม” (Functionalism) ที่ผิวเผินเกินไป (Simon: 2003,30)
แต่เดิม วิทยาศาสตร์อธิบายชีวิตทางเพศของมนุษย์ในฐานะเป็นการแสดงออกทางความต้องการทางเพศเท่านั้น แต่ทัศนะแบบพหุลักษณ์ เช่น แนวคิดแบบเควียร์ มองว่าชีวิตทางเพศ หรืออารมณ์ทางเพศของมนุษย์มิใช่เพียงแรงขับตามธรรมชาติหรือเป็นสัญตญาณตามธรรมชาติ แต่เป็นการแสดงความรู้สึกที่ใช้ “เพศ” เป็นสื่อ (sexualized representation of desire) (Simon: 2003,28) การแสดงความรู้สึกนี้เปิดโอกาสให้บุคคลสร้างและเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ทางเพศของตัวเอง และการแสดงออกดังกล่าวก็มีความซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้เรื่องราวชีวิตทางเพศของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่คงที่ วิลเลียม ไซม่อน(2003) กล่าวว่าถึงแม้ข้อเท็จจริงในชีวิตของมนุษย์จะยังเหมือนเดิมแต่การให้ความหมายต่อข้อเท็จจริงนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะบุคคลสามารถต่อเติมเสริมแต่งจินตนาการทางเพศจากความทรงจำของตัวเอง การแสดงความรู้สึกโดยใช้เพศเป็นสื่อจึงมีความหมายที่เปิดกว้าง
ศักยภาพดังกล่าวนี้ ถูกมองข้ามไปในการศึกษาของวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นสากลในเรื่องเพศมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้าบุคคลสามารถให้ความหมายต่อความทรงจำทางเพศของตัวเองที่มีผลต่อการแสดงความรู้สึกที่มีเพศเป็นสื่อ ฉะนั้น ความจริงเกี่ยวกับเพศก็ย่อมจะถูกสร้างแตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ของแต่ละคน ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ชีวิตทางสังคมที่เกี่ยวกับเรื่องเพศมิได้มีอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองตามที่วิทยาศาสตร์เคยบอก เช่น บอกว่าประสบการณ์ทางเพศในวัยเด็กจะส่งผลต่อพฤติกรรมทางเพศในตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ในทางกลับกัน ชีวิตทางสังคมในเรื่องเพศของมนุษย์กลับเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง มิใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว เพราะประสบการณ์ในวัยเด็กจะถูกให้ความหมายไปตามช่วงเวลาและสถานการณ์ที่ต่างกันซึ่งไม่ได้เป็น “ตัวบ่งการ” ให้เกิดพฤติกรรมทางเพศอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างใด ข้อเถียงดังกล่าวนี้มีฐานคิดที่เชื่อว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคม (Simon: 2003,29)
นอกจากนั้น ความคิดแบบพหุลักษณ์ยังเชื่อว่าระเบียบทางสังคมที่บุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องมีความไม่คงที่ เพราะบุคคลสามารถไกล่เกลี่ยและให้ความหมายกับสิ่งต่างๆรอบตัวได้ “สังคม” ในความคิดแบบพหุลักษณ์จึงเต็มไปด้วยการต่อรองทางประสบการณ์ ซึ่งคนแต่ละคนจะใช้ความรู้เรื่องเพศในแบบของตัวเอง ความคิดพหุลักษณ์ ยังชี้ให้เห็นว่ากรอบความคิดที่ยึดมั่นใน “เพศสภาพ” (Gender) ทำให้เกิดการแยกพรมแดนทางสังคมระหว่างชายและหญิง รวมทั้งทำให้เกิดการสร้างช่วงชั้นสูงต่ำเชิงคุณค่าให้กับความเป็นชายและหญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้สังคมทุนนิยมและสังคมที่ให้อำนาจผู้ชาย (Dunne: 2003,65) ความคิดพหุลักษณ์จึงทำลายความเชื่อมั่นของระบบรักต่างเพศ โดยมีนักวิชาการสายสตรีนิยมรุ่นที่สามและนักวิชาการแนวเควียร์เป็นผู้นำร่องและเปิดฉากการวิพากษ์กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในระบบรักต่างเพศ (Jackson: 2003,69) ความคิดแบบพหุลักษณ์จะไม่อธิบายความเป็น “ระบบ” ของเพศ แต่จะสร้างความหลากหลายให้กับประสบการณ์ อัตลักษณ์ และพฤติกรรมทางเพศซึ่งบุคคลจะใช้ความเป็น “รักต่างเพศ” เป็นพื้นที่สำหรับต่อรองและไกล่เกลี่ย กล่าวคือ ความเป็นรักต่างเพศไม่ได้มีอยู่ในระดับสถาบันสังคมเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีอยู่ในปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน ทุกๆคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับรักต่างเพศในแง่มุมต่างๆ ทั้งที่เป็นการคล้อยตามและการขัดขืน
ข้อถกเถียงในเรื่องดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลความคิดมาจากจูดิธ บัตเลอร์ ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าเพศสภาพเป็นเรื่องของ “การแสดง” (Gender as a Performance) อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ถึงแม้บัตเลอร์จะชี้ให้เห็นว่าการแสดงออกทางเพศมีความหลากหลาย แต่ปัญหาของการอธิบายในแนวนี้ก็คือฐานความคิดที่ต้องการทำให้สังคมดำรงอยู่ร่วมกันได้ หรือทำให้ทุกคนเคารพในความแตกต่างหลากหลาย นักวิชาการบางคนชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ “ความหลากหลาย” จะเป็นเรื่องที่ทำให้กลุ่มคนชายขอบได้รับการปลดปล่อย เช่น กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน หรือกลุ่มคนข้ามเพศ แต่ก็ยังเป็นการต่อยอดกระบวนทัศน์กระแสหลักที่ตกทอดมาจากความคิดวิทยาศาสตร์ที่คอยขับเคลื่อนสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งเชื่อว่าสังคมจะต้องมีการจัดระเบียบแบบแผนและดำรงอยู่ต่อไปได้ (Jackson: 2003, 81)
เราจะเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างไร
เจฟฟรีย์ วีคส์ (2003) ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อการอธิบายความรู้/ความจริงเกี่ยวกับเรื่องเพศคือการเปลี่ยนวาทกรรมเรื่อง “เพศผิดปกติ” (Perversity) ไปสู่ “ความหลากหลายทางเพศ” (Diversity) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้สะท้อนการเปลี่ยนวิธีคิดที่มนุษย์พูดถึงอารมณ์ปรารถนาของตัวเองด้วย (Weeks: 2003, 70) กล่าวคือ แต่เดิมเมื่อมนุษย์พูดถึงเพศที่ “ผิดปกติ” มนุษย์ก็จะนึกถึงสิ่งที่เป็นช่วงชั้นและการจัดประเภท คนที่เป็นเพศที่ “ผิดปกติ” ก็จะถูกจัดให้อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำที่สุด นอกจากนั้นวิธีคิดเรื่องเพศที่ “ผิดปกติ” จะให้น้ำหนักกับเรื่องศีลธรรมค่อนข้างมากเพราะมีความพยายามที่จะ “ตัดสิน” ว่ามีใครถูกและใครผิด ซึ่งความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่วิชาเพศศึกษา (Sexology) กำลังเติบโตและแพร่หลายในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 20 ผลในเชิงลบของการอธิบายในแนวนี้คือ การแยกขั้วมนุษย์ออกเป็นคนที่ปกติและผิดปกติ ส่วนผลในเชิงบวก ก็คือ การตระหนักถึงอัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์ โดยเฉพาะคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศที่มีสังคมและวัฒนธรรมของตัวเอง
แต่เมื่อมีการอธิบายว่าเพศของมนุษย์เป็น “ความหลากหลาย” มนุษย์ก็จะนึกถึงพฤติกรรมทางเพศที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยที่จะไม่มีเพศใดดีกว่าหรืออยู่เหนือกว่าเพศอื่นๆ การเดินทางมาสู่ความคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศนี้มีมูลเหตุสำคัญมาจากความพยายามต่อสู้จากกลุ่มคนที่ถูกมองว่า “ผิดปกติทางเพศ” ไม่ว่าจะเป็นเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล ฯลฯ การต่อสู้ของคนเหล่านี้พยายามจะนำความคิดแบบ “พหุลักษณ์” มาใช้อธิบายสิทธิของตนเองในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคม ซึ่งพวกเขาจะอธิบายว่าตนเองคือ “คนกลุ่มน้อยทางเพศ” (Sexual Minority) ที่ถูกคนกลุ่มใหญ่กดขี่ข่มเหงและเลือกปฏิบัติ วาทกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศจึงเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นักเพศศึกษาหลายคนที่มีจิตใจช่วยเหลือคนเหล่านี้ก็พยายามออกมาสร้างคำอธิบายว่าเพศของมนุษย์เป็นสิ่งที่ “ไม่คงที่” เช่น อัลเฟร็ด คินซีย์ ที่พยายามชี้ให้เห็นความหลากหลาย (Variations) ในการแสดงพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ ความพยายามของคินซีย์คือภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยขยายเรื่องราวทางศีลธรรมในเรื่องเพศให้กว้างขึ้น
กระบวนการที่จะสร้างความแตกต่างหลากหลายทางเพศ นอกจากจะทำให้เห็นความซับซ้อนของพฤติกรรมทางเพศแล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมแบบใหม่ด้วย วีคส์(2003)อธิบายว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้นิยามว่าตนเองเป็น “รักต่างเพศ” จะออกมาต่อสู้โดยใช้อัตลักษณ์ทางเพศเป็นเครื่องมือต่อรองและเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม เช่น ตัวอย่างการต่อสู้ของชาวเกย์และเลสเบี้ยนในโลกตะวันตกทั้งหลาย การเมืองเรื่องอัตลักษณ์จึงเกิดขึ้นท่ามกลางวาทกรรมความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจในเรื่องนี้จะต้องมองบริบทของ “ความสัมพันธ์” กล่าวคือการแสดงออกในเรื่องเพศเป็นการแสดงที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม สัมพันธ์กับอำนาจ โอกาส ทางเลือก ความเป็นส่วนตัว พื้นที่สาธารณะ รสนิยม และอารมณ์ความรู้สึก บริบทของความสัมพันธ์เหล่านี้จะช่วยให้มองเรื่อง “เพศ” ไม่เป็นเพียงแค่การมองที่ “พฤติกรรม” หรือ “การกระทำ” แต่มองไปที่บริบทที่สร้างความหมายให้กับ “เพศ” การทำความเข้าใจบริบทจะช่วยให้ตระหนักว่า “พฤติกรรมทางเพศ” ในตัวของมันเองไม่ใช่สิ่งที่ถูกหรือผิด หากแต่ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายต่อพฤติกรรมนั้นๆในบริบทและเงื่อนไขที่ต่างกัน เช่น การมีเซ็กส์ของคนรักเพศเดียวกันเคยถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดธรรมชาติหรือเป็นความผิดปกติทางจิต เพราะบริบททางศาสนา การแพทย์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาให้ความหมายของพฤติกรรมดังกล่าวนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีการให้ความหมายใหม่ว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติ เป็นพฤติกรรมที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เพราะมีความคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและสิทธิเสรีภาพที่ช่วยสร้างความหมายเหล่านี้
อาจกล่าวได้ว่าการทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ คือการทำความเข้าใจบริบทของความสัมพันธ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การมองเรื่อง “เพศ” จะต้องทำความเข้าใจระบบความหมายที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเพื่อที่จะแยกแยะสิ่งที่เป็น “เงื่อนไข” ออกจากสิ่งที่เป็น “พฤติกรรม” การชี้วัด ตัดสิน จัดประเภท และตีตราให้มนุษย์อยู่ในช่วงชั้นทางเพศที่ต่างกันเป็นเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งช่วงชั้นเหล่านี้ล้วนถูกสร้างมาจาก “ความรู้” ที่สถาปนาตัวเองภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เท่าที่ผ่านมาความรู้วิทยาศาสตร์เคยประสบความสำเร็จในการครองอำนาจแห่งการนิยามเรื่องเพศภายใต้วิชา “เพศศึกษา” แต่ความรู้นี้ก็ค่อยๆถูกรื้อถอนและถูกตั้งคำถามจากนักเคลื่อนไหว นักต่อสู้ และนักวิชาการจากหลายสำนัก สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน เรื่องเพศคลี่คลายตัวเองมาอยู่ในสภาวะที่มีหลายเฉดสี เฉดสีที่สำคัญสองประการคือ ความคิดเรื่อง “ความแตกต่าง” กับความคิดเรื่อง “ความหลากหลาย” ความคิดทั้งสองนี้มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมากในการชี้วัดตัดสินว่าเพศแบบไหนดี หรือไม่ดี แบบไหนเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม
ในสังคมปัจจุบัน ท่ามกลางคำอธิบายเรื่องความหลากหลายทางเพศ มนุษย์ก็ยังคิดถึงการแบ่งแยก ”เพศ” ออกเป็นสองด้านระหว่างขาวกับดำ เพราะ “ความแตกต่าง” ยังมีพลังต่อการให้ความหมายในเชิงศีลธรรม เนื่องจากพฤติกรรมทางเพศบางอย่างยังคงถูกตำหนิ เช่น การใช้กำลัง การข่มขืน การล่อลวง ฯลฯ การชี้ความแตกต่างยังมีพลังต่อการอธิบายความเป็นพวกพ้อง เช่น กลุ่มเกย์มีสังคมที่แตกต่างไปจากกลุ่มชายหญิง ประโยชน์ของความคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศจึงอยู่ที่การเปิดพรมแดนที่จะยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์ที่ไม่เหมือนกันและไม่มีความคงที่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการให้คุณค่าต่อ “พฤติกรรม” “การกระทำ” และ “วิธีปฎิบัติ” วีคส์ (2003) กล่าวว่าการชี้ให้เห็น “ความแตกต่าง” เป็นเรื่องของระบบคุณค่าและเป็นเรื่องทางการเมืองซึ่งสัมพันธ์กับ “บริบท” ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ “เพศวิถี” จึงเป็นพรมแดนของการให้คุณค่าต่อพฤติกรรม และการพูดถึงความหลากหลายทางเพศก็เป็นวิธีการหนึ่งของการให้คุณค่าซึ่งอาจจะช่วยให้เห็นข้อจำกัดของความหมายเก่าๆ ช่วยให้เกิดการตั้งคำถาม การต่อรอง และการไกล่เกลี่ยที่มนุษย์เป็นผู้เลือก
บรรณานุกรม
Bland, Lucy and Doan, Laura (eds.) Sexology in Culture. Chicago, The University of Chicago
Press. 1998.
Burdett, Carolyn. “The Hidden Romance of Sexual Science: Eugenics, the Nationa and the Making of
Modern Feminism” in Lucy Bland and Laura Doan (eds.) Sexology in Culture. Chicago, The
University of Chicago Press. 1998.
Butler, Judith. Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity. New York, Routledge.
1990.
Davidson, Arnold I. “A New Style of Psychiatric Reasoning” in Robert A. Nye (ed.) Sexuality. Oxford,
Oxford University Press. 1999. pp.192-195.
D’Emilio, John and Estelle B. Freedman. Intimate Matters: A History of Sexuality in America.
New York, Harper & Row, 1988.
Dune, Gillian A. “A Passion for Sameness? Sexuality and Gender Accountability.” in Weeks, Jeffrey;
Holland, Janet and Waites, Matthew. (eds.) Sexualities and Society. Cambridge, Polity
Press. 2003. pp.57-68.
Fausto-Stering, Anne. Sexing the Body. New York, Basic Books. 2002.
Fausto-Stering, Anne. “The Five Sexes: Why Male and Female Are Not Enough” in Christine L.
Williams and Arlene Stein (eds.) Sexuality and Gender. Malden, Massachusetts, Blackwell
Publishers. 2002. pp.468-473.
Felski, Rita. “Introduction” in Lucay Bland and Laura Doan (eds.) Sexology in Culture.
Chicago, The University of Chicago Press. 1994.
Foucault, Michel. The Will to Knowledge: The History of Sexuality 1. New York, Penguin Books.
1990.
Fuss, Diana. Inside/ Out: Lesbian Theories, Gay Theories. New York, Routledge. 1991.
Garton, Stephen. Histories of Sexuality. New York, Routledge. 2004.
Greenberg, David F. The Construction of Homosexuality. Chicago, The University of Chicago Press.
1988.
Hall, Lesley L. “Feminist Reconfigurations of Heterosexuality” in Lucay Bland and Laura Doan (eds.)
Sexology in Culture. Chicago, The University of Chicago Press. 1994.
Halperin, David. How to Do the History of Homosexuality. Chicago, University of Chicago Press.
2002.
Harriosn, Wendy Cealey and Hood-Williams, John. Beyond Sex and Gender. London, Sage
Publications. 2002.
Hekma, Gert “Queering Anthropology” in Theo Sandfort and Others (eds.) Lesbian and Gay Studies.
SAGE Publication, London. 2000.pp.81-93.
Jackson, Stevi. :Heterosexuality, Heteronormativity and Gender Hierarchy: Some Reflections on
Recent Debates” in Weeks, Jeffrey; Holland, Janet and Waites, Matthew. (eds.) Sexualities
and Society. Cambridge, Polity Press. 2003.
Jeffreys, Sheila. The Spinster and Her Enemies: Feminism and Sexuality 1880-1930.
London, Pandora Press. 1985.
Katz, Jonathan. Gay American History. New York, Crowell. 1976.
Mondimore, Francis Mark. A Natural History of Homosexuality. Baltimore, The Johns Hopkins
University Press. 1996.
Morland, Iain and Willox, Annabelle (eds.) Queer Theory. New York, Palgrave Macmillan. 2005.
Nye, Robert A. (ed.) Sexuality. Oxford, Oxford University Press. 1999.
Oakley, Ann. Sex, Gender and Society. London. Temple Smith. 1972.
Robertson, Jennifer. “Introduction: Sexualizing Anthropology’s Fields” in Jennifer Robertson (ed.)
Same-Sex Cultures and Sexualities. Malden, MA., Blackwell Publishing. 2005. pp.1-11.
Sedgwick, E. K. The Epistemology of the Closet. Hemel Hempstead, Harvester Wheatsheaf. 1991.
Seidman, Steven. Different Troubles: Queering Social Theory and Sexual Politics. Cambridge,
Cambridge University Press. 1997.
Simon, William. “The Postmodernization of Sex” in Weeks, Jeffrey; Holland, Janet
and Waites, Matthew. (eds.) Sexualities and Society. Cambridge, Polity Press. 2003.
Spanier, Bonnie. “Biological Determinism and Homosexuality” in Jennifer Robertson (ed.)
Same-Sex Cultures and Sexualities. Malden, MA., Blackwell Publishing. 2005. pp.33-47.
Storr, Merl. “Transformations: Subjects, Categories and Cures in Krafft-Ebing’s Sexology” in Lucy
Bland and Laura Doan (eds.) Sexology in Culture. Chicago, The University of Chicago
Press. 1998.
Sullivan, Nikki. A Critical Introduction to Queer Theory. New York, New York University Press. 2003.
Trumbach, Randolph. Sex and the Gender Revolution Volume I. Chicago, Chicago University Press.
1998.
Vance, Carole S. “Anthropology Rediscovers Sexuality: A Theoretical Comment” in Jennifer
Robertson (ed.) Same-Sex Cultures and Sexualities. Malden, MA., Blackwell Publishing.
2005. pp.15-32.
Voss, Barbara L. “Feminisms, Queer Theories, and the Archaeological Study of Past Sexualities” in
Jennifer Robertson (ed.) Same-Sex Cultures and Sexualities. Malden, MA., Blackwell
Publishing. 2005. pp.48-59.
Walters, Suzanna Danuta Walters. “ From Here to Queer: Radical Feminism, Postmodernism, and the
Lesbian Menace” in Iain Morland and Annabelle Willox (eds.) Queer Theory. New York,
Palgrave Macmillan. 2005.
Weeks, Jeffrey. Coming out: Homosexual Politics in Britain From the 19th Century to the Present.
London, Quartet Books. 1977.
Weeks, Jeffrey. Sex, Politics and Society. London, Longman. 1981.
Weeks, Jeffrey. Sexuality. London, Routledge. 2003.
Weeks, Jeffrey; Holland, Janet and Waites, Matthew. “Introduction” in Weeks, Jeffrey; Holland, Janet
and Waites, Matthew. (eds.) Sexualities and Society. Cambridge, Polity Press. 2003.
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
คำสำคัญ: เพศภาวะ, เพศวิถี, ทฤษฎีเควียร์, สตรีนิยม, มานุษยวิทยา, ความหลากหลายทางเพศ, เพศศึกษา, จิตเวชศาสตร์
หัวเรื่องอิสระ: ความหลากหลายทางเพศ