ในบทความนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่ากรอบความคิดแบบเควียร์ ไม่ใช่เป็นตัวทฤษฎีที่มีไว้อธิบายว่าอะไรคือเพศภาวะและเพศวิถี หากแต่เป็นชุดความคิดหรือกระบวนทัศน์ของการตั้งคำถามเชิงญาณวิทยา (Epistemology)ว่ากระบวนการแสวงหาความรู้คืออะไร (David E. Hall, 2003, p.6.) ซึ่งจะเข้าไปตรวจสอบและวิพากษ์กระบวนทัศน์ทางสังคมต่างๆที่แฝงอคติทางเพศหรือเป็นผลผลิตของบรรทัดฐานทางเพศแบบตะวันตก ในที่นี้ผู้เขียนแปลคำว่า queer เป็นภาษาไทยว่า “เพศวิภาษ” หมายถึง เพศที่ไม่ได้อยู่ในบรรทัดฐานใดๆ แต่เป็นเพศเพื่อการโต้แย้ง กระบวนทัศน์ดังกล่าวนี้พยายามตั้งคำถามว่าบรรทัดฐานอะไรที่กำหนดสิ่งที่เรียกว่า “เพศปกติ” และ “เพศผิดปกติ” ความเป็นปกติเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้นิยามและทำไมต้องแบ่งประเภทหรือจัดหมวดหมู่ “เพศ” ออกเป็นคู่ตรงข้าม การแบ่งชนิดเพศของมนุษย์เป็นชายและหญิงโดยอาศัยความรู้ชีววิทยานั้นเป็นการแบ่งที่เป็นสากลหรือไม่ ความเป็นหญิงชายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ใช่หรือไม่ ในแต่ละสังคมจำเป็นต้องมีวิธีการจัดหมวดหมู่เพศเหมือนกันหรือไม่ ความรู้เรื่องเพศเป็นความรู้ที่ปราศจากมายาคติ อคติ และความลำเอียงใช่หรือไม่
คำสำคัญ: ทฤษฎีเควียร์, มานุษยวิทยา, บรรทัดฐานรักต่างเพศ, เพศวิถี, ญาณวิทยา