คำว่า “เกย์” เป็นคำที่มีนัยยะเชิงการเมืองและมีมิติทางประวัติศาสตร์ คำนี้เพิ่งปรากฎในสังคมตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 และถูกใช้เป็นคำเรียกเพื่อบ่งบอกว่าคนรักชอบเพศเดียวกันมีอัตลักษณ์เป็นอย่างไร และแตกต่างจากหญิงและชาย อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาทางวัฒนธรรม คำว่า “เกย์” อาจใช้ได้เฉพาะสังคมที่มีการนิยามและจัดระเบียบอารมณ์ความปรารถนาทางเพศ เช่นในสังคมยุโรปและอเมริกา ซึ่งเชื่อว่าความรู้สึกรักเพศเดียวกันมีแก่นแท้ในตัวเองและบุคคลสามารถหยั่งรู้ได้จากจิตสำนึก ความรู้สึกนี้ถูกนิยามด้วยคำว่า “โฮโมเซ็กช่วล” แต่อีกหลายสังคม ไม่มีวิธีคิดเกี่ยวกับการนิยามอารมณ์ทางเพศ ทำให้การแสดงพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นเพียงการแสดงบทบาทหน้าที่ทางสังคม และไม่ถูกยกให้เป็นอัตลักษณ์ของบุคคล ดังนั้นการศึกษา “เกย์” ในทางวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจอิทธิพลความคิดของตะวันตกกับวิธีคิดเรื่องเพศในท้องถิ่น ซึ่งมีความซับซ้อนต่อการสร้างนิยามความหมายของอัตลักษณ์และพฤติกรรมทางเพศของบุคคล
คำสำคัญ: เกย์, สังคมไทย, ประวัติศาสตร์, อัตลักษณ์, การศึกษา, วัฒนธรรม