บทความเรื่องนี้ เป็นการทบทวนการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อป (Popular Culture) ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “วัฒนธรรมกระแสนิยม” อย่างไรก็ตาม ความหมายของวัฒนธรรมกระแสนิยมยังมีความคลุมเคลือ นักวิชาการไทยบางคนเรียกวัฒนธรรมประเภทนี้ว่า “วัฒนธรรมสมัยนิยม” โดยนัยแล้ว อาจหมายถึงวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากประชาชน หรือพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน อีกทางหนึ่ง อาจหมายถึงวัฒนธรรมที่แพร่หลายและเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่โดยมีสื่อเป็นตัวกลาง เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต ฯลฯ
บทความนี้จะพยายามชี้ให้เห็นว่าการนิยามความหมายของ “วัฒนธรรมกระแสนิยม” จากมุมมองต่างๆ ทั้งที่เป็นทฤษฎีตะวันตก และกรณีศึกษาในวัฒนธรรมต่างๆ มีความไม่ลงรอยอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปจนถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับประวัติและจุดกำเนิดของวัฒนธรรมกระแสนิยม พัฒนาการของการศึกษา และสกุลทางความคิด ชี้ให้เห็นความแตกต่างทางการศึกษาระหว่างนักสังคมวิทยา นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักวัฒนธรรมศึกษา และนักมานุษยวิทยา ความแตกต่างของความสนใจของนักวิชาการตะวันตกกับนักวิชาการไทย รวมทั้งข้อจำกัดของแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษา
คำสำคัญ: วัฒนธรรมกระแสนิยม, มานุษยวิทยา, สื่อ, วัฒนธรรมมวลชน, วัฒนธรรมบริโภค