15 มิ.ย. 2015
โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ในบทความนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่ากรอบความคิดแบบเควียร์ ไม่ใช่เป็นตัวทฤษฎีที่มีไว้อธิบายว่าอะไรคือเพศภาวะและเพศวิถี หากแต่เป็นชุดความคิดหรือกระบวนทัศน์ของการตั้งคำถามเชิงญาณวิทยา (Epistemology)ว่ากระบวนการแสวงหาความรู้คืออะไร (David E. Hall, 2003, p.6.) ซึ่งจะเข้าไปตรวจสอบและวิพากษ์กระบวนทัศน์ทางสังคมต่างๆที่แฝงอคติทางเพศหรือเป็นผลผลิตของบรรทัดฐานทางเพศแบบตะวันตก ในที่นี้ผู้เขียนแปลคำว่า queer เป็นภาษาไทยว่า “เพศวิภาษ” หมายถึง เพศที่ไม่ได้อยู่ในบรรทัดฐานใดๆ แต่เป็นเพศเพื่อการโต้แย้ง กระบวนทัศน์ดังกล่าวนี้พยายามตั้งคำถามว่าบรรทัดฐานอะไรที่กำหนดสิ่งที่เรียกว่า “เพศปกติ” และ “เพศผิดปกติ” ความเป็นปกติเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้นิยามและทำไมต้องแบ่งประเภทหรือจัดหมวดหมู่ “เพศ” ออกเป็นคู่ตรงข้าม การแบ่งชนิดเพศของมนุษย์เป็นชายและหญิงโดยอาศัยความรู้ชีววิทยานั้นเป็นการแบ่งที่เป็นสากลหรือไม่ ความเป็นหญิงชายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ใช่หรือไม่ ในแต่ละสังคมจำเป็นต้องมีวิธีการจัดหมวดหมู่เพศเหมือนกันหรือไม่ ความรู้เรื่องเพศเป็นความรู้ที่ปราศจากมายาคติ อคติ และความลำเอียงใช่หรือไม่
คำสำคัญ:
ทฤษฎีเควียร์,
มานุษยวิทยา,
บรรทัดฐานรักต่างเพศ,
เพศวิถี,
ญาณวิทยา
15 มิ.ย. 2015
โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
บทความนี้ต้องการสำรวจแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยการย้อนมองไปในแวดวงวิชาการตะวันตกที่เริ่มสนใจประเด็นเรื่องเพศมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิทยาศาสตร์กำลังมีอำนาจทางสังคม การสำรวจในที่นี้จะย้อนกลับไปมองช่วงเวลานั้นโดยอาศัยมุมมองทางมานุษยวิทยาเพื่อทำความเข้าใจ “ชีวิตทางเพศ” ของมนุษย์ หรือมองเรื่องเพศในมิติทางวัฒนธรรม ผู้อ่านจะเข้าใจว่ามิติทางวัฒนธรรมของเรื่องเพศนั้นคืออะไร และเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างไร คำถามที่ผู้คนมักจะถามกันบ่อยๆ ก็คือเรื่องเพศเป็นเรื่องของธรรมชาติ หรือเป็นเรื่องทางสังคมวัฒนธรรม และคำตอบที่ได้รับก็มักจะเป็นการแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มซึ่งถกเถียงกันด้วยแนวคิดทฤษฎีที่ต่างกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อเรื่องธรรมชาติ ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นพวกเชื่อความจริงแท้ (Essentialist) กับนักสังคมศาสตร์ที่เชื่อเรื่องสังคมวัฒนธรรม ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นพวกเชื่อการผลิตสร้างทางสังคม (Social Constructionist) สำหรับในบทนี้ ต้องการจะทำความเข้าใจว่ากรอบแนวคิดทฤษฎีที่ต่างกันนั้นส่งผลต่อการอธิบายเรื่องเพศต่างกันอย่างไรบ้าง และเราจะใช้แนวคิดทฤษฎีเหล่านั้นมาอธิบายปรากฎการณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศของมนุษย์ในมิติใด
คำสำคัญ:
เพศภาวะ,
เพศวิถี,
ทฤษฎีเควียร์,
สตรีนิยม,
มานุษยวิทยา,
ความหลากหลายทางเพศ,
เพศศึกษา,
จิตเวชศาสตร์