15 มิ.ย. 2015
โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ในบทความนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่ากรอบความคิดแบบเควียร์ ไม่ใช่เป็นตัวทฤษฎีที่มีไว้อธิบายว่าอะไรคือเพศภาวะและเพศวิถี หากแต่เป็นชุดความคิดหรือกระบวนทัศน์ของการตั้งคำถามเชิงญาณวิทยา (Epistemology)ว่ากระบวนการแสวงหาความรู้คืออะไร (David E. Hall, 2003, p.6.) ซึ่งจะเข้าไปตรวจสอบและวิพากษ์กระบวนทัศน์ทางสังคมต่างๆที่แฝงอคติทางเพศหรือเป็นผลผลิตของบรรทัดฐานทางเพศแบบตะวันตก ในที่นี้ผู้เขียนแปลคำว่า queer เป็นภาษาไทยว่า “เพศวิภาษ” หมายถึง เพศที่ไม่ได้อยู่ในบรรทัดฐานใดๆ แต่เป็นเพศเพื่อการโต้แย้ง กระบวนทัศน์ดังกล่าวนี้พยายามตั้งคำถามว่าบรรทัดฐานอะไรที่กำหนดสิ่งที่เรียกว่า “เพศปกติ” และ “เพศผิดปกติ” ความเป็นปกติเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้นิยามและทำไมต้องแบ่งประเภทหรือจัดหมวดหมู่ “เพศ” ออกเป็นคู่ตรงข้าม การแบ่งชนิดเพศของมนุษย์เป็นชายและหญิงโดยอาศัยความรู้ชีววิทยานั้นเป็นการแบ่งที่เป็นสากลหรือไม่ ความเป็นหญิงชายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ใช่หรือไม่ ในแต่ละสังคมจำเป็นต้องมีวิธีการจัดหมวดหมู่เพศเหมือนกันหรือไม่ ความรู้เรื่องเพศเป็นความรู้ที่ปราศจากมายาคติ อคติ และความลำเอียงใช่หรือไม่
คำสำคัญ:
ทฤษฎีเควียร์,
มานุษยวิทยา,
บรรทัดฐานรักต่างเพศ,
เพศวิถี,
ญาณวิทยา
15 มิ.ย. 2015
โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
บทความนี้ต้องการสำรวจแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยการย้อนมองไปในแวดวงวิชาการตะวันตกที่เริ่มสนใจประเด็นเรื่องเพศมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิทยาศาสตร์กำลังมีอำนาจทางสังคม การสำรวจในที่นี้จะย้อนกลับไปมองช่วงเวลานั้นโดยอาศัยมุมมองทางมานุษยวิทยาเพื่อทำความเข้าใจ “ชีวิตทางเพศ” ของมนุษย์ หรือมองเรื่องเพศในมิติทางวัฒนธรรม ผู้อ่านจะเข้าใจว่ามิติทางวัฒนธรรมของเรื่องเพศนั้นคืออะไร และเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างไร คำถามที่ผู้คนมักจะถามกันบ่อยๆ ก็คือเรื่องเพศเป็นเรื่องของธรรมชาติ หรือเป็นเรื่องทางสังคมวัฒนธรรม และคำตอบที่ได้รับก็มักจะเป็นการแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มซึ่งถกเถียงกันด้วยแนวคิดทฤษฎีที่ต่างกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อเรื่องธรรมชาติ ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นพวกเชื่อความจริงแท้ (Essentialist) กับนักสังคมศาสตร์ที่เชื่อเรื่องสังคมวัฒนธรรม ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นพวกเชื่อการผลิตสร้างทางสังคม (Social Constructionist) สำหรับในบทนี้ ต้องการจะทำความเข้าใจว่ากรอบแนวคิดทฤษฎีที่ต่างกันนั้นส่งผลต่อการอธิบายเรื่องเพศต่างกันอย่างไรบ้าง และเราจะใช้แนวคิดทฤษฎีเหล่านั้นมาอธิบายปรากฎการณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศของมนุษย์ในมิติใด
คำสำคัญ:
เพศภาวะ,
เพศวิถี,
ทฤษฎีเควียร์,
สตรีนิยม,
มานุษยวิทยา,
ความหลากหลายทางเพศ,
เพศศึกษา,
จิตเวชศาสตร์
15 มิ.ย. 2015
โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เรื่องเพศ เป็นพรมแดนที่มีเรื่องซ้อนทับกันหลายอย่าง ทั้งสรีระร่างกาย การแสดงพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และการให้คุณค่าและความหมายต่อสรีระและพฤติกรรมทางเพศ หรือกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเพศเป็นทั้งสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แต่การศึกษาเรื่องเพศเป็นเรื่องใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านั้นเรื่องเพศจะไม่ถูกพูดถึงในวงวิชาการเพราะถูกมองว่าเป็นเรื่องของการสืบพันธุ์หรือการสังวาท เป็นเรื่องต้องห้ามและเป็นบาปทางศาสนา(Bland and Doan, 1994, p.2.) นักวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดเรื่องเพศภาวะและเพศวิถี (Gender and Sexuality) เช่นการศึกษาของ คราฟท์-อีบิง(1886) อธิบายให้เห็นภายภาพของเพศ โดยมองว่าเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา เช่น เพศหญิงมีความอ่อนโยน เพศชายมีความเข้มแข็ง เพศภาวะของผู้หญิงและผู้ชายจึงถูกกำหนดจากเพศสรีระที่ต่างกัน และเชื่อว่าเพศวิถีที่เป็นความต้องการทางเพศ เป็นแรงขับตามธรรมชาติที่เพศชายจะมีกับเพศหญิงเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการสืบพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์
คำสำคัญ:
เพศวิถี,
เพศภาวะ,
มานุษยวิทยา,
คนข้ามเพศ,
สังคมไทย
18 มิ.ย. 2015
โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
บทความเรื่องนี้ เป็นการทบทวนการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อป (Popular Culture) ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “วัฒนธรรมกระแสนิยม” อย่างไรก็ตาม ความหมายของวัฒนธรรมกระแสนิยมยังมีความคลุมเคลือ นักวิชาการไทยบางคนเรียกวัฒนธรรมประเภทนี้ว่า “วัฒนธรรมสมัยนิยม” โดยนัยแล้ว อาจหมายถึงวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากประชาชน หรือพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน อีกทางหนึ่ง อาจหมายถึงวัฒนธรรมที่แพร่หลายและเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่โดยมีสื่อเป็นตัวกลาง เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต ฯลฯ
บทความนี้จะพยายามชี้ให้เห็นว่าการนิยามความหมายของ “วัฒนธรรมกระแสนิยม” จากมุมมองต่างๆ ทั้งที่เป็นทฤษฎีตะวันตก และกรณีศึกษาในวัฒนธรรมต่างๆ มีความไม่ลงรอยอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปจนถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับประวัติและจุดกำเนิดของวัฒนธรรมกระแสนิยม พัฒนาการของการศึกษา และสกุลทางความคิด ชี้ให้เห็นความแตกต่างทางการศึกษาระหว่างนักสังคมวิทยา นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักวัฒนธรรมศึกษา และนักมานุษยวิทยา ความแตกต่างของความสนใจของนักวิชาการตะวันตกกับนักวิชาการไทย รวมทั้งข้อจำกัดของแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษา
คำสำคัญ:
วัฒนธรรมกระแสนิยม,
มานุษยวิทยา,
สื่อ,
วัฒนธรรมมวลชน,
วัฒนธรรมบริโภค
18 มิ.ย. 2015
โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
คำว่า Ethnography ในทางมานุษยวิทยา สามารถพิจารณาได้ 2 ลักษณะคือ ethnography ที่เป็นงานเขียน (ethnographic writings) กับที่เป็น วิธีการศึกษา(fieldwork) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กล่าวคือวิธีการเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยการสังเกต สอบถาม และคลุกคลีกับคนกลุ่มต่างๆอย่างใกล้ชิด ได้นำไปสู่การเขียนงานซึ่งต้องอาศัยกรอบความคิดทฤษฎีในการอธิบายและตีความ งานเขียนทางมานุษยวิทยากับวิธีการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ถูกกำกับด้วย Theory อย่างใดอย่างหนึ่ง
คำสำคัญ:
ชาติพันธุ์,
มานุษยวิทยา,
งานเขียนทางชาติพันธุ์,
เผ่าพันธุ์