แสดง 141 ถึง 160 จาก 232 รายการ
Superorganic
แนวคิด superorganic หมายถึง แบบแผนโครงสร้างสังคมที่ยึดโยงให้องค์ประกอบหรือหน่วยย่อยๆทางสังคมดำรงอยู่ได้ คำว่า superorganic เป็นคำที่เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์บัญญัติขึ้นมา เพื่อที่จะอธิบายวิวัฒนาการของสังคม โดยแยกประเภทสังคมเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่หนึ่งเรียกว่า inorganic ระดับที่สองเรียกว่า organic และระดับที่สามคือ superorganic สังคมระดับที่สามคือสังคมที่สมบูรณ์แบบเต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งจะมีทั้งการกระทำของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
Sustainable Agriculture
เกษตรกรรมแบบเลี้ยงตัวเอง หมายถึง การเพาะปลูกที่ลงทุนต่ำ และเป็นการผลิตเพื่อเลี้ยงคนในครัวเรือน หรือชุมชน การเลี้ยงตัวเองคือการให้ความสนใจต่อสังคม ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ
Swidden Agriculture
Swidden Agriculture หมายถึง เกษตรกรรมแบบถางโค่นและเผาป่า หรือบางครั้งเรียกว่า Slash-and-burn เกษตรกรรมแบบนี้ใช้เครื่องมือง่ายๆในการโค่นและเผาป่า เช่น ขวาน และจอบ เกษตรกรรมแบบโค่นป่าจำเป็นต้องใช้ไฟในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก
Symbolic Anthropology
แนวคิดเกี่ยวกับระบบสัญลักษณ์ เป็นประเด็นที่สำคัญในทางมานุษยวิทยา เนื่องจากมีส่วนในการอธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรม สัญลักษณ์เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในการที่จะสร้างระบบความหมายต่าง ๆ ให้กับโลกและธรรมชาติ
Taboo
คำว่า taboo เป็นคำพื้นเมืองของชาวเกาะโพลินีเซีย ซึ่งนักเดินทางในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 นำมาใช้ ความหมายของคำว่า taboo จึงเป็นคำที่ใช้ในภาษาของชาวบ้านและเป็นคำอธิบายในเชิงมานุษยวิทยา เรื่องเล่าเกี่ยวกับการเดินทางของกัปตันคุ้กซึ่งพูดถึงการเดินทางไปยังเกาะโพลินีเซียนทำให้ชาวยุโรปสนใจดินแดนแถบนี้ ในเรื่องเล่าได้อธิบายเกี่ยวกับดินแดนที่เต็มไปด้วยทุ่งมันฝรั่ง และหมอผีคอยขับไล่ชนพื้นเมืองที่ย่างกรายเข้ามา
Territoriality
Territoriality หมายถึงอาณาเขตพื้นที่ ในแต่ละวัฒนธรรม มนุษย์จะให้ความหมายต่อพื้นที่อาศัยของตัวเองต่างกันไป ชาวบุชแมน คุง ที่อาศัยในทะเลทรายคาราฮารี ในตอนใต้ของแอฟริกา อธิบายอาณาเขตที่อยู่อาศัยของตัวเองว่า “เนอ ออรี”
Totemism
Totemism หมายถึง สัญลักษณ์เกี่ยวกับบรรพบุรุษ คือระบบที่แยกแยะสมาชิกในครัวเรือนกับวัตถุในธรรมชาติที่เป็นพืชและสัตว์ ลักษณะของพืชและสัตว์จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มไหน
Tradition
จารีตประเพณี หรือ tradition หมายถึงการสืบทอด หรือส่งต่อความคิด กฎระเบียบ และธรรมเนียมการปฏิบัติ จารีตประเพณี อาจหมายถึงการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ จารีตประเพณียังอาจเป็นความหมายกว้าง ๆ ที่ใช้อธิบายการกระทำบางอย่างที่มีความต่อเนื่องมา ทั้งที่เป็นรูปแบบ พฤติกรรม หรือความเข้าใจ
Trance
Trance มาจากภาษาลาตินว่า Transire หมายถึงผ่านไป หรือข้ามไป การผ่านข้ามไปยังหมายถึงสภาพของจิตใจซึ่งบุคคลเปลี่ยนแปลงจากสภาพปกติไปสู่สภาพที่ควบคุมไม่ได้ หรืออยู่ในภวังค์ ภวังค์จึงเป็นสภาพที่ไร้การควบคุมของมนุษย์ หรือเป็นสภาพที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมตัวเองได้
Transculturation
คำว่า Transculturation เป็นคำที่คิดขึ้นโดยนักมานุษยวิทยาชาวคิวบา ชื่อเฟอร์นันโด โอติส ซึ่งคิดในปี 1947 เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดจากการผนวกรวมวัฒนธรรมที่ต่างกันและนำไปสู่แบบแผนทางวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมเดิมสูญหายไป หรือเลือกรับเฉพาะวัฒนธรรมใหม่อย่างเดียว
Tribes
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เจ้าหน้าที่อาณานิคมใช้คำว่า “เผ่า” เพราะเชื่อว่ามีกลุ่มคนที่เรียกว่าเผ่า อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนและมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง ถึงแม้ว่าในความจริงจะไม่มีชนกลุ่มใดอยู่เป็นเอกเทศในพื้นที่ที่โดดเดี่ยว เมื่อเกิดแนวคิดเรื่องเผ่าพันธุ์ (races) ทำให้ความหมายของคำว่า “เผ่า” ต้องสั่นคลอนไป แต่นักมานุษยวิทยาก็ยังคงใช้คำนี้เพื่อศึกษาทางชาติพันธุ์
Transnationalism
การข้ามพรมแดนรัฐชาติ หรือ Transnationalism หมายถึง ปรากฎการณ์ทางสังคมที่คนกลุ่มต่างติดต่อเชื่อมโยงผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งมิได้จำกัดอยู่ภายในดินแดนของรัฐชาติใด แต่ติดต่อเชื่อมโยงข้ามอาณาเขตของรัฐชาติสมัยใหม่ อาศัยเทคโนโลยีสื่อสารเข้ามาช่วยในการติดต่อสัมพันธ์ ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
Urban Anthropology
มานุษยวิทยาเมือง หมายถึง การศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่สนใจชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ชีวิตของคนเมืองจะสัมพันธ์กับการทำมาหากิน การประกอบอาชีพ ซึ่งมีการแข่งขันต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด มีการแตกต่างทางชนชั้นและฐานะ นักมานุษยวิทยาสนใจชีวิตในเมืองอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา
Visual Anthropology
มานุษยวิทยาทัศนา หรือ Visual Anthropology เกิดขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรมถูกแสดงออกผ่านสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ มีอยู่ในกิริยาท่าทาง การเฉลิมฉลอง พิธีกรรม และวัตถุที่ถูกสร้างในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การรับรู้วัฒนธรรมเกิดขึ้นโดยการเขียนบอกเล่าเป็นเรื่องราวที่มีตัวละคร ซึ่งมีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ และการจัดฉาก วัฒนธรรมจึงเสมือนภาพที่มองเห็นซึ่งบุคคลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
Writing Culture
วัฒนธรรมการเขียน หมายถึง การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิธีการเขียนงานทางชาติพันธุ์ของนักมานุษยวิทยาในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเป็นวิธีการเขียนที่ลักษณะเฉพาะและใช้ระบบอ้างอิงทางวิชาการ การวิจารณ์เกิดขึ้นโดยนักมานุษยวิทยา นักวิชาการสายวรรณกรรม และนักประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับรูปแบบการเขียนที่หลากหลายเพื่ออธิบายวัฒนธรรมนอกตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงการล่าอาณานิคม
Reflexive Anthropology
กระบวนการสะท้อนตัวตนในทางมานุษยวิทยา หมายถึง การทบทวนตรวจสอบและตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานและการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ของนักมานุษยวิทยา การตรวจสอบนี้นำไปสู่การเกิดขึ้นของวิชามานุษยวิทยาในตะวันตกซึ่งปรากฎขึ้นในยุคที่ความรู้วิทยาศาสตร์กำลังมีอำนาจทางสังคม
Ranked Societies
สังคมที่มีช่วงชั้น หมายถึง สังคมที่มีการจัดระเบียบสถานะของบุคคลให้มีลำดับชั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน ซึ่งเงื่อนไขในการจัดระดับฐานะของแต่ละสังคมก็อาจมีแตกต่างกัน เมื่อบุคคลถูกจัดให้อยู่ในลำดับชั้นใดแล้ว บุคคลนั้นก็จะมีบทบาทหน้าที่และสิทธิบางอย่าง คนที่อยู่ต่างลำดับชั้นกันจะมีสิทธิที่ไม่เท่ากัน
Folk Culture
วัฒนธรรมพื้นบ้าน (Folk Culture) หมายถึง การแสดงออกของวิถีชีวิตชาวบ้านและคนท้องถิ่นซึ่งยึดถือในพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีและอยู่ห่างไกลจากสังคมเมือง เช่น ชุมชนชาวนาที่ยั่งชีพแบบเรียบง่าย แต่เดิม แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้านใช้อธิบายลักษณะ คุณค่า และโครงสร้างสังคมที่มีอยู่ในชุมชนชนบท
Life History
ประวัติศาสตร์ชีวิตเป็นการศึกษาปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม โดยการสืบประวัติและประสบการณ์ของบุคคลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นักมานุษยวิทยาจะสนใจประวัติศาสตร์ชีวิตของกลุ่มคนในท้องถิ่น ชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจ
Maritime Anthropology
มานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องราวทางทะเล (maritime anthropology) หมายถึงการศึกษาวิถีชีวิตและชุมชนชายฝั่งทะเล อธิบายระบบการจับปลา การทำประมงขนาดเล็ก บทบาทของมนุษย์ที่กระทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบริเวณท้องทะเล รวมถึงระบบนิเวศน์ทางทะเลที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรือนำทฤษฎีทางมานุษยวิทยาไปอธิบายสังคมมนุษย์ที่อยู่ในเขตทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น