คำศัพท์

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z All
แสดง 1 ถึง 16 จาก 16 รายการ

Magic

เวทมนต์ เป็นศิลปะที่อาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติเข้าไปควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดผลบางอย่าง โดยผู้มีเวทมนต์ต้องมีวิชาความรู้และสามารถติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติได้ การกระทำดังกล่าวนี้อาจดูเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเชื่อถือไม่ได้ในความคิดของชาวตะวันตก ทำให้การศึกษาเรื่องเวทมนต์ถูกตีความและอธิบายด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการทางศาสนา

เวทมนต์

Mana

มานา หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือการกระทำของวิญญาณที่มีผลต่อการกระทำของมนุษย์ เป็นความเชื่อในวัฒนธรรมโพลินีเซียนและเมลานีเซียน คำว่า “มานา” ปรากฎครั้งแรกในพจนานุกรมศัพท์ฮาวายของลอร์ริน แอนดรูว์ โดยแปลว่า อำนาจ อำนาจเหนือธรรมชาติ หรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

อำนาจเหนือธรรมชาติ

Market

คำว่า Market อาจหมายถึงสถานที่ที่มีการจับจ่าย หมายถึงแนวคิดทางการตลาด หรือการซื้อขายสินค้าทั่วไป ในทางมานุษยวิทยาจึงเกิดปัญหาในการนิยามว่าอะไรคือ “ตลาด” นอกจากนั้นยังความหมายของตลาดในฐานะที่เป็นสถานที่ซื้อขายจะเป็นตัวแทนของระบบการซื้อขายได้หรือไม่ เมื่อเอ่ยถึง “ตลาด” สิ่งที่คิดถึงอันดับแรกก็คือการซื้อและการขายวัตถุสิ่งของระหว่างมนุษย์ ส่วนการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัตถุโดยไม่ใช้ตัวกลางที่มีมูลค่า หรือเงินตรา การแลกเปลี่ยนนี้อาจใช้วัตถุที่มีค่าอื่น ๆ แทนเงิน 

ตลาด

Marriage

การแต่งงานในความคิดของมานุษยวิทยามีความแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้ศึกษา และผู้ถูกศึกษา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กฎทางสังคม พฤติกรรม สิทธิ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสังคม จอร์จ ปีเตอร์ เมอร์ด็อกค์(1949) นิยามความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการแต่งงานโดยอาศัยการยอมรับทางสังคมที่มีต่อชายและหญิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจและเพศสัมพันธ์ 

การแต่งงาน

Martial Arts

ศิลปะการต่อสู้และการสู้รบ หมายถึงเทคนิควิธีการต่อสู้ที่ใช้อาวุธและไม่ใช้อาวุธ หรือเป็นยุทธวิธีเพื่อให้ได้ชัยชนะในสงคราม ศิลปะการต่อสู้ต้องอาศัยการฝึกฝนและการฝึกร่างกาย เพื่อให้มีทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกาย มีทักษะในการใช้อาวุธและอุปกรณ์ต่าง ๆ มนุษย์ทุกกลุ่มล้วนมีวิธีการต่อสู้ของตัวเอง บันทึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะการต่อสู้จะกล่าวถึงระบบการป้องกันตัวเองและการพัฒนาฝึกฝนกำลัง

ศิลปะการต่อสู้

Mass Media

Mass Media ในทางมานุษยวิทยา หมายถึงเทคโนโลยีทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเพื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ และคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นนักมานุษยวิทยายังสนใจรูปแบบและวิธีการสื่อสารเพื่อใช้โฆษณาชวนเชื่อซึ่งผลิตโดยนักการเมืองและนักโฆษณา การใช้โลโก้สัญลักษณ์และโปสเตอร์ และการใช้สื่อของสถาบันต่าง ๆ 

สื่อสาธารณะ

Materialism

แนวคิดเรื่องวัตถุนิยม หรือ Materialism คือปรัชญาที่เชื่อเรื่องเอกนิยมหรือความมีมาตรฐานเดียวของสรรพสิ่ง กล่าวคือ เชื่อว่าวัตถุต่าง ๆ ในธรรมชาติล้วนถูกสร้างขึ้นจากองค์ประกอบทางวัตถุที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต แนวคิดวัตถุนิยมจะมองสรรพสิ่งในเชิงกายภาพ วัตถุต้องดำรงอยู่ได้ด้วยกายภาพ ซึ่งฐานคิดนี้คือตรรกะสำคัญของความรู้วิทยาศาสตร์

วัตถุนิยม

Migration

การอพยพของมนุษย์ หมายถึง การย้ายที่อยู่จากที่เดิมไปที่ใหม่ โดยอาจเป็นการย้ายชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ และเหตุผลของการย้ายก็มีหลายประการ เช่น ย้ายเพื่อการทำมาหากิน ย้ายเพราะสภาพแวดล้อม ย้ายเพราะสงคราม ฯลฯ นับตั้งแต่ยุคไพลสโตซีนตอนกลางที่โฮโม อิเรคตัส เคลื่อนย้ายเข้าไปยังดินแดนยูเรเซีย จนถึงยุคไพลสโตซีนตอนปลาย

การอพยพ

Monarchy

การปกครองโดยพระมหากษัตริย์หรือราชาธิปไตย (Monarchy) หมายถึง รูปแบบการเมืองที่ให้อำนาจแก่คนๆเดียว ซึ่งทำหน้าที่เป็นประมุขและออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมสังคม ผู้มีอำนาจดังกล่าวนี้จะสืบทอดอำนาจของตนโดยทางสายเลือด เช่น มอบอำนาจให้บุตรชายหรือบุตรสาว เมื่อกษัตริย์หรือพระราชาสละราชสมบัติหรือสิ้นพระชนม์ พระโอรสหรือพระธิดาก็จะสืบทอดอำนาจต่อไป การปกครองโดยกษัตริย์จะมีรูปแบบและรายละเอียดต่างกันในแต่ละสังคม

ราชาธิปไตย

Multiculturalism

Multiculturalism หมายถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพรมแดนประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งความหลากหลายที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่รับรู้กันทั่วไปและเป็นเรื่องปกติ สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะแตกต่างจากสังคมที่มีการหลอมรวมทางวัฒนธรรม กล่าวคือ สังคมที่มีการหลอมรวมวัฒนธรรมจะมีวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่ถูกครอบงำหรือถูกบดบังจากวัฒนธรรมที่มีอำนาจเหนือกว่า และส่งผลทำให้วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเลือนหายไป หรือสูญเสียความเป็นตัวเอง  

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

Museum Anthropology

มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์ หมายถึง การทำงานทางมานุษยวิทยาที่เกิดขึ้นภายในพิพิธภัณฑ์ หรือหมายถึงการศึกษาพิพิธภัณฑ์ในมิติมานุษยวิทยาก็ได้ ความหมายแต่ละด้านอาจไม่เหมือนกัน เพราะมีประวัติความเป็นมาที่ต่างกัน การศึกษามานุษยวิทยาสายวัฒนธรรม ได้รวมเอาการศึกษาพิพิธภัณฑ์เข้าไว้ด้วยซึ่งในเวลาต่อมาการศึกษาพิพิธภัณฑ์ในมิติมานุษยวิทยากลายเป็นสาขาหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ศึกษา หรือพิพิธภัณฑ์วิทยา

มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์

Myth

ตำนาน หรือ Myth เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า mythos หมายถึง เรื่องเล่า เรื่องแต่ง คำบอกเล่า จากยุคโบราณ ตำนานถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องเล่าที่มีมานมนานก่อนที่จะเกิดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เป็นเรื่องการกระทำต่างๆของเทพเจ้า นอกจากนั้น ตำนานยังหมายถึงความรู้เฉพาะ ผู้ที่ได้รับฟังตำนานอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องโกหก เรื่องแต่ง หรือเป็นความจริงก็ได้ การศึกษาตำนานอย่างเป็นระบบเริ่มมาตั้งแต่สมัยเรเนอซอง ซึ่งอาศัยศาสตร์หลายสาขามาอธิบาย

ตำนาน

Maritime Anthropology

มานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องราวทางทะเล (maritime anthropology) หมายถึงการศึกษาวิถีชีวิตและชุมชนชายฝั่งทะเล อธิบายระบบการจับปลา การทำประมงขนาดเล็ก บทบาทของมนุษย์ที่กระทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบริเวณท้องทะเล รวมถึงระบบนิเวศน์ทางทะเลที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรือนำทฤษฎีทางมานุษยวิทยาไปอธิบายสังคมมนุษย์ที่อยู่ในเขตทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น 

มานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องราวทางทะเล

Multispecies Ethnography

หลากสายพันธุ์นิพนธ์คือความพยายามที่จะนำสิ่งมีชีวิตอื่นมาอยู่หน้าฉาก และทำให้ชีวิตของพวกมันปรากฏเคียงข้างมนุษย์ เพราะการมีชีวิตหรือการสิ้นชีวิตของพวกมันก็มีความสำคัญและเกี่ยวพันกับการดำรงอยู่ของมนุษย์และสังคม

มานุษยวิทยา, ชาติพันธุ์นิพนธ์, หลากสายพันธุ์

Materiality

วัตถุภาวะ คือ แนวคิดที่พยายามทำความเข้าใจมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่พัวพันอยู่กับสรรพสิ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรากฏเป็นรูปเป็นร่างที่จับต้องได้เสมอไป การทำความเข้าใจวัตถุภาวะยังมาพร้อมกับคำถามต่อสิ่งที่เป็น “วัตถุ” เช่น มนุษย์รับรู้ความเป็นวัตถุได้อย่างไร การดำรงอยู่ของวัตถุเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความรู้และอำนาจอย่างไร วัตถุเป็นสื่อของความหมายต่างๆได้อย่างไร เป็นต้น

มานุษยวิทยา, วัตถุ, วัตถุภาวะ, วัฒนธรรมทางวัตถุ

Multispecies Care

การพัวพันและความสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แสดงให้ว่าความเป็นมนุษย์ ทั้งตัวตน และร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการยึดโยงกับสิ่งมีชีวิตอื่น การเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับชีวิตอื่น (mutual dependence) ด้วยเหตุนี้ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชนหลากสายพันธุ์ในประเด็นที่ว่าด้วยการใส่ใจดูแล คำถามที่ว่า เหตุใด? เราถึงต้องใส่ใจดูแล และเราจะดูแลกันและกันอย่างไร? จึงกลายเป็นคำถามพื้นฐานที่เรียกร้องให้มนุษย์หันมาสนใจภาคปฏิบัติการ

หลากสายพันธุ์, การดูแล, สิ่งมีชีวิต, มนุษย์